ข่าว/ประกาศสำหรับคนไทย


การคาดการณ์ความเสียหายกรณีแผ่นดินไหวบริเวณทะเลตอนใต้ของญี่ปุ่น (แนวแอ่งนันไก)

07/09/2012

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2555 คณะทำงานด้านการป้องกันภัยพิบัติภายใต้สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลการคาดการณ์ความเสียหายในระดับสูงสุดที่อาจจะเกิดในแนวแอ่งนันไก (Nankai Trough) หรือบริเวณแนวทะเลตอนใต้ หมู่เกาะฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่พร้อมกัน 3 แห่ง (ในภูมิภาคทะเลตะวันออก (โทไก / Tokai) ทะเลตะวันออกเฉียงใต้ (โทนันไก / Tonankai) และทะเลตอนใต้ (นันไก/ Nankai)) จาก จังหวัดชิสึโอกะถึงเกาะชิโกะกุ และคิวชู โดยมีผลสรุปผลการคาดการณ์ของคณะทำงานฯ ดังกล่าว ดังนี้

1. ขนาดของแผ่นดินไหว

คาดว่าแผ่นดินไหวตามแนวแอ่งนันไกคาดว่าจะมีระดับ 9.1 ริคเตอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกินพื้นที่ประมาณ 1,015 ตร. กม. ใน 24 จังหวัด และเกิดสึนามิสูงในระดับสูงสุดถึง 34 เมตร อย่างไรก็ดี ยังไม่เคยมีหลักฐานว่าในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางกินบริเวณกว้างเช่นนี้ในบริเวณดังกล่าวมาก่อน และเมื่อคำนึงว่าแผ่นดินไหวในภูมิภาคโทนันไก (ที่ขนาด 8.1 ริคเตอร์) และแผ่นดินไหวในภูมิภาคนันไก (ที่ขนาด 8.4 ริคเตอร์) ซึ่งมีรอบของการเกิด 100-150 ปีต่อครั้ง จะมีโอกาสเกิดภายใน 30 ปี ร้อยละ 70 และร้อยละ 60 ตามลำดับ จึงคาดว่าโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวตามแนวแอ่งนันไกในระดับความรุนแรงดังกล่าวต่ำมาก

2. ความเสียหาย

2.1    ต่อประชาชน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด (หากเกิดในช่วงกลางคืนของฤดูหนาว) คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 323,000 คนใน 30 จังหวัดในเขตคันโตลงไปถึงคิวชูและโอกินาวา โดยร้อยละ 70 หรือประมาณ 230,000 คนจะเสียชีวิตจากสึนามิ ร้อยละ 30 เสียชีวิตจากอาคารพังทลาย รวมทั้งจากดินถล่มและอัคคีภัย แต่หากกำแพงกั้นน้ำได้รับความเสียหายหรือไม่อาจใช้การได้ ก็อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 23,000 คน และยอดผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด 623,000 คน และคาดว่าจะมีผู้ที่สามารถอพยพออกมาได้ภายใน 10 นาทีหลังเกิดเหตุเพียงร้อยละ 20 แต่หากมีการเตรียมการรับมืออย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตลดลงเหลือประมาณ 61,000 คน ทั้งนี้ การคาดการณ์นี้มีความเสียหายสูงกว่าเดิมในปี 2546 ที่คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 24,700 คน และจะรุนแรงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวที่เขตโทโฮกุเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่มีผู้เสียชีวิต 15,869 คน สูญหาย 2,847 คน
2.2    ต่อเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีอาคารและสิ่งก่อสร้างเสียหายจากการพังทลาย จากอัคคีภัยหรือถูกกวาดโดยคลื่นสึนามิถึง 2.39 ล้านหลังใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ (เดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2546 คือ 942,000 หลัง) โดยคาดว่าพื้นที่อย่างน้อย 602 ตารางกิโลเมตร ที่จะมีน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปจากเหตุสึนามิ ซึ่งสำนักงานคณะรัฐมนตรีจะเปิดเผยผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เช่น การขาดแคลนพลังงาน ระบบน้ำประปา และการคมนาคมในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ และในชั้นนี้ได้คาดการณ์ความเสียหาย ดังนี้

ประเมินความเสียหายหากเกิดแผ่นดินไหวแอ่งนันไก (กรณีเลวร้ายที่สุด)

  การประเมินครั้งนี้ การประเมินเมื่อปี 2548 แผ่นดินไหวเขตตะวันออกของญี่ปุ่น (โตโฮกุ) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554
ขนาดแผ่นดินไหว (ริคเตอร์) 9.1 8.8 9.0
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 323,000 24,700
เสียชีวิต 15,869
สูญหาย 2,847
จำนวนบ้านเรือนพังทลายทั้งหลัง (หลัง) 2,386,000 942,000 129,340
พื้นที่น้ำท่วม (ตารางกิโลเมตร) 1,015 - 561
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะประกาศในฤดูใบไม้ร่วง
81 ล้านล้านเยน
(32 ล้านล้านบาท)
16.9 ล้านล้านเยน
(เฉพาะความเสียหายทางตรง)
(6.8 ล้านล้านบาท)
2.3    การประเมินความเสียหายรายจังหวัด
     2.3.1    จังหวัดชิสึโอกะน่าจะเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดจากแผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อค และคลื่นสึนามิหลายลูก โดยคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 109,000 คน สิ่งก่อสร้างเสียหาย 263,000 หลัง และพื้นที่ 151 ตร. กม. จะถูกน้ำท่วม จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบรองลงมาได้แก่ จังหวัดมิเอะ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 43,000 คน สิ่งก่อสร้างเสียหาย 210,000 หลัง และพื้นที่ 157 ตร. กม. จะถูกน้ำท่วม
     2.3.2    จะเกิดคลื่นสึนามิความสูง 34 เมตร ในเมืองโทซาชิมิสึ จังหวัดโคจิ และคลื่นสึนามิสูง 33 เมตร ในเมืองชิโมดะ จังหวัดชิสึโอกะ และสามารถเกิดคลื่นสึนามิสูงเกิน 20 ม. ได้ใน 8 จังหวัดอื่นๆ ตามแนวชายฝั่ง
Estimated deaths and damage from Nankai temblor

3. การลดความรุนแรงของความเสียหาย

นายมาซาฮารุ นาคางาวะ รัฐมนตรีว่าการป้องกันภัยพิบัติกล่าวว่า การหนีภัยโดยทันท่วงทีเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะต้องมีแผนรับมือต่อภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและอบรมการป้องกันภัยให้แก่ประชาชน โดยแผนรับมือสำคัญเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ได้แก่
3.1    การป้องกันความเสียหายจากการพังทลายของตึก
  • จะต้องมีมาตรการดับไฟที่ลุกไหม้ให้ได้โดยเร็วที่สุด
  • อาคารจะต้องมีระบบรองรับแผ่นดินไหว 100%
3.2    การป้องกันความเสียหายจากสึนามิ
  • จะต้องประกาศอพยพและประชาชนทำการอพยพโดยทันที
  • เพิ่มจำนวนอาคารที่สามารถใช้ในการอพยพคลื่นสึนามิได้

(สรุปจาก นสพ. Nikkei และ The Japan Times)




Back to the list