ข่าว/ประกาศสำหรับคนไทย


กรุงโตเกียวประกาศแผนการรับมือแผ่นดินไหวใหญ่เพิ่มเติม

02/10/2012

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2555 กรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan) ได้ประกาศแผนการป้องกันภัยพิบัติระดับภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแผนการรับมือแผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งมีศูนย์กลางที่กรุงโตเกียว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ภายใต้การคาดการณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่กรุงโตเกียว

ความสั่นสะเทือนระดับ 7 ในมาตรา ของญี่ปุ่น (Shindo) ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด กรุงโตเกียวมีเป้าหมายที่จะดำเนินมาตรการลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 60 ลดความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารลงร้อยละ 60 และลดจำนวนผู้อพยพลงประมาณร้อยละ 40 ด้วย จากที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2555 ภายในระยะเวลา 10 ปี ดังนี้

  การคาดการณ์เมื่อเดือน เม.ย. 2555 เป้าหมายใหม่ เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
จำนวนผู้เสียชีวิต ประมาณ 9,700 คน ประมาณ 3,700 คน -61.86
จำนวนอาคารที่เสียหาย ประมาณ 304,300 หลัง ประมาณ 100,000 หลัง -67.14
จำนวนผู้อพยพ ประมาณ 3.39 ล้านคน ประมาณ 1.9 ล้านคน -43.95

2. มาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่กรุงโตเกียวจะดำเนินการ

2.1    จะใช้มาตรการป้องกันผลกระทบเพื่อจำกัดขนาดความเสียหายแยกตามลักษณะของปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความเสียหายหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่ในกรุงโตเกียวออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
    
  1. พื้นที่ที่มีบ้านที่สร้างด้วยไม้กระจุกตัวอยู่หนาแน่น ในกรุงโตเกียวมีพื้นที่ซึ่งบ้านที่สร้างจากไม้กระจุกตัวหนาแน่น รวมกว่า 16, 000 เฮกเตอร์ โดยเขตที่หนาแน่นมากที่สุด ได้แก่ เขตซุมิดะและเขตเมกุโระ กรุงโตเกียวจะเสริมความทนทานให้บ้านที่สร้างจากไม้ให้มีความทนต่อเพลิงไหม้ได้มากขึ้นเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนบ้านทั้งหมดที่มีโครงสร้างลักษณะดังกล่าว และขยายถนนให้มีความกว้าง 16 เมตรเพื่อป้องกันอัคคีภัยลุกลามในวงกว้าง โดยคาดว่าจะช่วยให้สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ 2,000 คน ลดจำนวนผู้อพยพไร้ที่อยู่อาศัย ได้ 370,000 คน และลดจำนวนบ้านที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ได้ 92,000 หลัง ทั้งนี้ กรุงโตเกียวจะออกมาตรการส่งเสริมให้เจ้าของบ้านเช่าที่สร้างจากไม้ซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านให้มีความทนต่อเพลิงไหม้ได้มากขึ้น เช่น การให้สิทธิลดหย่อนภาษีโรงเรือนและที่ดินและการให้เงินสนับสนุนในการซ่อมแซมและปรับปรุงบ้าน นอกจากนี้ ยังเตรียมให้ความรู้และฝึกฝนทักษะพลเมืองในพื้นที่ดังกล่าว ให้สามารถปกป้องตนเองในเบื้องต้นได้หลังจากประสบภัยพิบัติ เช่น การดับเพลิงเบื้องต้น การตรวจตราความปลอดภัยและการสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือร่วมกันระหว่างเพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกัน
  2. พื้นที่เขตตึกสูงในตอนกลางของกรุงโตเกียว จะดำเนินมาตรการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เช่น การป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ตกลงมาจากที่สูง การป้องกันกรณีคนติดอยู่ในลิฟท์ และการสำรองไฟฟ้าสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน
  3. พื้นที่ที่ราบต่ำทางภาคตะวันออกของกรุงโตเกียว รวมทั้งเกาะต่าง ๆ จะดำเนินมาตรการเพิ่มความสามารถของระบบโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแม่น้ำให้สามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวได้มากขึ้น โดยสามารถป้องกันสึนามิและน้ำจากแม่น้ำทะลักเข้าท่วมที่ราบต่ำ สร้างอาคารสำหรับการอพยพผู้คนจากสึนามิ และจัดทำแผนที่สำหรับการอพยพกรณีเกิดสึนามิ
  4. พื้นที่เขตภูเขา มีมาตรการป้องกันเหตุดินถล่มและโคลนถล่ม และป้องกันการถล่มลงมาของพื้นที่สูงชันและลาดเอียงสูง
2.2    เพิ่มจำนวนอาคารบ้านเรือนที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวให้มากขึ้น โดยเพิ่มอัตราของบ้านที่มีการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากร้อยละ 81 ในปีงบประมาณ 2554 ให้เป็นร้อยละ 90 ในปีงบประมาณ 2558 และร้อยละ 95 ในปีงบประมาณ 2563
2.3    ตั้งเป้าฟื้นฟูและซ่อมแซมระบบประปา ระบบท่อระบายของเสีย และระบบไฟฟ้าและก๊าซในกรุงโตเกียว ภายหลังการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ให้กลับใช้ได้สมบูรณ์ในระดับร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับภาวะปกติภายใน 60 วัน โดยขอความร่วมมือบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ให้กลับมาเปิดใช้บริการได้โดยเร็วที่สุด เช่น สามารถจ่ายไฟฟ้าให้กลับมาให้บริการใหม่ได้ภายใน 7 วัน กลับมาให้บริการสัญญาณโทรศัพท์และระบบสื่อสารอื่น ๆ ภายใน 14 วัน กลับมาให้บริการก๊าซสำหรับครัวเรือนได้ภายใน 60 วัน และกลับมาให้บริการน้ำประปาและระบบการกำจัดของเสียแก่ประชาชนได้ภายใน 30 วัน
2.4    การช่วยเหลือประชาชนหลังเกิดแผ่นดินไหว
    
  1. กำหนดแนวทางสำหรับบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในตอนกลางของกรุงโตเกียวให้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานของตนซึ่งไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้หลังเกิดแผ่นดินไหว โดยการสำรองอาหารและน้ำดื่มให้เพียงพอสำหรับระยะเวลา 3 วันต่อคน และผ้าห่ม 1 ผืนต่อคน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือบุคคลภายนอกบริษัทซึ่งไม่สามารถกลับบ้าน ในด้านที่พักและอาหาร โดยให้จัดเตรียมเสบียงที่จำเป็น เพิ่มเติมอีกร้อยละ 10
  2. หากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่กรุงโตเกียว จะทำให้จังหวัดข้างเคียง เช่น คานากาวะ ไซตามะ และจิบะ ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้ที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้รวม ประมาณ 9.89 ล้านคน โดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะให้ใช้พื้นที่ในอาคารที่ทำการ ห้องโถง และโรงเรียน รวมทั้งพื้นที่ทางเข้าของบริษัทที่ให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นศูนย์อพยพสำหรับประชาชน นอกจากนี้ บริษัท East Japan Railway (JR East) ก็วางแผนจะใช้ลานกว้างและพื้นที่อื่น ๆ ของสถานีรถไฟในความดูแลทั้งหมดประมาณ 200 แห่ง ในรัศมี 30 กม. จากสถานีรถไฟ JR โตเกียวเพื่อเป็นศูนย์หลบภัยชั่วคราว ซึ่งจะรองรับประชาชนได้ประมาณ 60,000 คน
  3. กำหนดให้รถประจำทางและรถแท็กซี่ให้ความสำคัญในการให้บริการแก่สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และคนพิการที่ต้องการเดินทางกลับบ้านก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้ง กำหนดให้ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารสำหรับครอบครัวตามถนนสายหลักในกรุงโตเกียว 21,050 แห่งให้เป็นศูนย์ช่วยเหลือเสริมในการให้น้ำดื่มและห้องน้ำสำหรับประชาชนที่เดินทางกลับบ้านหลังเกิดแผ่นดินไหว
  4. สำหรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวจะมีการประกาศผ่านทาง Twitter Facebook และเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรับทราบพัฒนาการของสถานการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์หลบภัยชั่วคราวที่อยู่ใกล้เคียง

3. กรุงโตเกียวระบุว่า มีการพยากรณ์ว่าแผ่นดินไหวใหญ่ที่กรุงโตเกียวอาจเกิดขึ้นโดยมีศูนย์กลางในบริเวณใดบริเวณหนึ่งใน 4 แห่ง ดังนี้

  1. ทางตอนเหนือของอ่าวโตเกียว
  2. ในเขตทามะ(Tama) ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว
  3. บริเวณรอยเลื่อนใต้เขตทาจิคาวะ (Tachikawa) และ
  4. ในเขตมหาสมุทรหรือที่รู้จักกันในชื่อ "แผ่นดินไหวเขตคันโต"
ทั้งนี้ ประเมินว่าแผ่นดินไหวทางตอนเหนือของอ่าวโตเกียวจะสร้างความเสียหายมากที่สุด




Back to the list