ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


ความเคลื่อนไหวท่าทีญี่ปุ่นในการเจรจา TPP ในช่วงเดือน ส.ค. 58

21/10/2015

  1. ท่าทีญี่ปุ่นในภาพรวม

    • นายอะกิระ อะมะริ รมต.ดูแลด้าน ศก.และการคลังญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุมเจรจา รมต. TPP โดยได้หารือทวิภาคีกับประเทศสมาชิกต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นยากลำบากที่ยังคงเหลืออยู่ในรายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่สามารถได้ข้อสรุปเพิ่มเติมในหลายประเทศ ยกเว้นกับสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปได้

    • ในการประชุม ระดับ รมต. TPP 12 ประเทศ ประเทศสมาชิกสามารถตกลงได้ข้อสรุปในประเด็นการเจรจาหลายประเด็นใน 17 สาขา จากทั้งหมด 31 สาขา เช่น การจำกัดสิทธิพิเศษหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันกับหน่วยงานเอกชน กฎระเบียบการลงทุนและบริการซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะเปิดเสรีการลงทุนและบริการมากขึ้น เช่น มาเลเซียจะอนุญาตให้ร้านสะดวกซื้อจากต่างชาติเข้าไปดำเนินธุรกิจ และเวียดนามปรับเพิ่มวงเงินลงทุนของธนาคารหรือ บ.โทรคมนาคมของต่างชาติ แต่ประเด็นที่มีความยากลำบากที่สุดคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับระยะเวลาการเก็บบันทึกข้อมูลเวชภัณฑ์ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งออสเตรเลีย มาเลเซียและประเทศกำลังพัฒนาเสนอตอนแรกว่าควรจะเป็นระยะเวลา 5 ปี และสหรัฐฯ เสนอว่า 12 ปี และแม้ว่าในระหว่างการประชุมจะมีข้อเสนอที่ระยะเวลา 8 ปีก็ตาม และยังมีประเด็นในการเจรจาทวิภาคีของบางประเทศ

    • คาดว่า จะมีการประชุม TPP ระดับ รมต. ครั้งต่อไปหลังเดือน ก.ย. 58 ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบทำให้การให้สัตยาบันข้อตกลงโดยรัฐสภาของประเทศสมาชิกล่าช้าออกไป จากที่เคยตั้งเป้าว่าจะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปี 2558 ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ การบรรลุข้อตกลง TPP ก็น่าจะประสบความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกมีเงื่อนไขทางการเมืองภายในประเทศที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐฯ จะเริ่มการเลือกตั้งผู้สมัคร ปธน. รอบแรกในเดือน ก.พ. 59 ญี่ปุ่นมีกำหนดจัดการเลือกตั้ง สว. ในช่วงฤดูร้อน 2559 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 58 นรม. อาเบะ และ ปธน. โอบามา ได้หารือร่วมกันทางโทรศัพท์ โดย ปธน. โอบามา ได้แจ้งความประสงค์ให้มีการจัดประชุม รมต. TPP อีกครั้ง ในเดือน ก.ย. 58 เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

  2. ความเคลื่อนไหวในการเจรจากับสหรัฐฯ

    1. ในการเจรจาทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่น – สหรัฐฯ ในช่วงก่อนการประชุมระดับ รมต. ที่ฮาวาย การเจรจาเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ โดยญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในรายละเอียดมากขึ้น ได้แก่

      • เนื้อโค ญี่ปุ่นจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าจากร้อยละ 38.5 ในปัจจุบัน ให้เหลือร้อยละ 9 ในระยะเวลา 15 ปี และจะดำเนินมาตรการเซฟการ์ดโดยกลับไปใช้ภาษีนำเข้าในอัตราสูง กรณีที่ปริมาณการนำเข้าเกินกว่า 740,000 ตัน

      • เนื้อสุกรราคาถูก ญี่ปุ่นจะปรับลดภาษีนำเข้าจาก 482 เยน/กก. ลงเหลือ 50 เยน/กก. ในระยะเวลา 10 ปี และเนื้อสุกรราคาแพง จะยกเลิกภาษีนำเข้าจากปัจจุบันที่ร้อยละ 4.3 ภายในระยะเวลา 10 ปี และจะดำเนินมาตรการ safeguard เมื่อการนำเข้าเพิ่มเกินกว่า 150,000 ตัน

      • ไวน์ ญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีนำเข้าจากปัจจุบันที่ร้อยละ 15 หรือ 125 เยน/ลิตร ภายในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับความตกลงการค้าเสรีระหว่าง ญป.-ออสเตรเลีย

      • ผลิตภัณฑ์จากนม ญี่ปุ่นจะกำหนดโควตาปริมาณการนำเข้าในภาษีอัตราต่ำ จากปัจจุบันที่อัตราภาษีนำเข้าเนยอยู่ที่ร้อยละ 35 และชีส ร้อยละ 22.4 - 40

      • เนื้อไก่ ญี่ปุ่นจะค่อย ๆ ลดภาษีนำเข้าเนื้อไก่ไม่แยกชิ้นส่วนจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 11.9 และเนื้อต้นขาติดกระดูกจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 8.5 ให้เหลือศูนย์ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อไก่จากสหรัฐฯ เพียง 20,000 ตัน เมื่อเทียบกับที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดปีละ 400,000 - 500,000 ตัน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าจากบราซิลซึ่งไม่ได้เข้าร่วม TPP ดังนั้น การยกเลิกภาษีเนื้อไก่ในการเจรจา TPP จึงมีผลกระทบต่อตลาดญี่ปุ่นในวงจำกัด

    2. การเปิดตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ มีความคืบหน้า ได้แก่ เนื้อวัวญี่ปุ่น (Wagyu) สหรัฐฯ จะยังคงภาษีนำเข้าเนื้อวัวญี่ปุ่นที่ร้อยละ 26.4 แต่จะให้โควตานำเข้าอัตราภาษี 4.4 cent/ก.ก. จำนวน 200 ตัน/ปี โดยในปัจจุบันเนื้อวัวญี่ปุ่นที่ผลิตจากญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างสูงในสหรัฐฯ ญี่ปุ่นส่งออกเนื้อวัวญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ในปี 2557 จำนวน 153 ตัน (มูลค่า 1,300 ล้านเยน) เพิ่มจากปี 2555 ที่อยู่ที่ 28 ตัน (มูลค่า 200 ล้านเยน)

    3. อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่

      1. การพิจารณาของญี่ปุ่นในการเพิ่มโควตาปลอดภาษีนำเข้าข้าวให้แก่ข้าวสารจากสหรัฐฯ

        สหรัฐฯ ยังยืนกรานที่จะให้ญี่ปุ่นให้โควตาจำนวน 175,000 ตัน แต่ญี่ปุ่นสามารถให้โควตาได้ไม่เกิน 100,000 ตัน/ปี


      2. การพิจารณาของสหรัฐฯ ในการพิจารณายกเลิกภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ญี่ปุ่น

        สหรัฐฯ รับข้อเสนอในการยกเลิกภาษีชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมุ่งหวังที่จะให้สหรัฐฯ เพิ่มจำนวนรายการให้มากขึ้นอีก

  3. การเจรจากับประเทศสมาชิกอื่น ๆ

    • นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นและแคนาดาเปิดตลาดมากขึ้น แต่ญี่ปุ่นและแคนาดาพยายามที่จะไม่เปิดตลาดให้มาก ซึ่งญี่ปุ่นได้เสนอโควตาอัตราภาษีนำเข้าต่ำให้นิวซีแลนด์พิจารณา แต่ก็ยังไม่สามารถได้ข้อสรุป

    • การเจรจาทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับแคนาดายังคงล่าช้า ซึ่งญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้มีการเจรจาโดยเร่งด่วน

  4. ท่าทีของภาคการเกษตรภายในญี่ปุ่น

    นายโจเอะ โอคุโนะ ปธ.สหกรณ์การเกษตร ญป. (JA-Zenchu) คนใหม่ ซึ่งเพิ่งได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค. 58 แทนนายอะกิระ บันไซ ที่มี คสพ. ไม่ราบรื่นกับ รบ. นรม. อาเบะ ได้กล่าวถึงการเจรจา TPP ว่า ต้องการให้ รบ.ญี่ปุ่น ยึดมั่นต่อคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อรัฐสภาว่าจะพยายามปกป้องสินค้าอ่อนไหว 5 ประเภท โดยเฉพาะข้าวสารและผลิตภัณฑ์นม อย่างไรก็ดี นายโอคุโนะกล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับการเจรจาร่วมกับ รบ. และพรรคการเมืองเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหามากกว่าการต่อสู้




Back to the list