ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


ข้อมูลการนำเข้าข้าวไทยในญี่ปุ่น

27/07/2015

  1. ข้อมูล บ. Kitoku Shinryo

    • ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2425 เป็นหนึ่งในบริษัทขายส่งข้าวที่เก่าแก่ของญี่ปุ่น

    • เริ่มนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยตั้งแต่ปี 2538 ในปริมาณร้อยละ 80 ของข้าวหอมมะลิทั้งหมดที่ถูกนำเข้าสู่ ญป. นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล Thailand’s Best Friends จาก รบ. ไทย ในปี 2555

    • ยอดขายในปี 2557 อยู่ที่ 3.17 หมื่นล้านบาท กิจการหลัก 4 ด้าน คือ กิจการด้านข้าว (ร้อยละ 80) กิจการด้านไข่ไก่ (ร้อยละ 4.6) กิจการด้านอาหาร (ร้อยละ 8.1) และกิจการด้านอาหารสัตว์ (ร้อยละ 7.3) และบริษัทลูกใน ตปท. ได้แก่ สหรัฐฯ (แคลิฟอร์เนีย) / ไทย (กรุงเทพฯ) / เวียดนาม (อานซาง) / จีน (ต้าเหลียน) / ไต้หวัน(เกาสุยง) เพื่อนำเข้าข้าวจาก ตปท. ให้แก่ รบ. ญี่ปุ่นในการประมูลแบบ Ordinary Minimum Access (OMA) และให้แก่ผู้บริโภคในการประมูลแบบ Simultaneous Buying and Selling Tender System (SBS) ภายใต้ระบบ Minimum Access (MA) ของ WTO

    • ที่ผ่านมา บ. Kitoku ร่วมกับ สอท.จัดกิจกรรม ปชส.ข้าวไทยในญี่ปุ่น เช่น งาน Thai Curry Night โดยร่วมมือกับบริษัท Yamamori Shoyu ซึ่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แกงของไทย / การออกคูหา ปชส. และจำหน่ายข้าวในงานเทศกาลไทยทั้งที่โตเกียว โอซากา และนาโกยา เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ มีการ ปชส. และจำหน่ายข้าวไทยในร้านอาหารญี่ปุ่น และงานเทศกาลด้านอาหารอื่น ๆ ในญี่ปุ่นอีกด้วย

  2. ช่องทางการนำเข้าข้าวไทยในญี่ปุ่น

    • ปัจจุบัน ช่องทางการนำเข้าข้าวสาร (white rice) จาก ตปท. ในญี่ปุ่นมีเพียงการนำเข้าภายใต้โควตาผ่านการประมูลในระบบ MA ภายใต้ WTO ซึ่งจำกัดปริมาณปีละ 677,000 ตัน นอกนั้น จะต้องนำเข้าด้วยวิธีปกติซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 341 เยน / กก.

    • ความแตกต่างของการประมูลแบบ OMA และ SBS ภายใต้ระบบ MA
      1. ระบบ Ordinary Minimum Access (OMA)

        • เป็นการนำเข้าข้าวโดยรัฐผ่าน Japanese Food Agency ไม่มีภาษีนำเข้า จำนวนประมาณ 577,000 ตัน/ปี ซึ่ง รบ.ญี่ปุ่น จะเปิดประมูล 11 -12 ครั้ง/ปี กระบวนการ คือ รบ.ญี่ปุ่น จะประกาศจัดการประมูลโดยระบุชนิดของข้าว ประเทศแหล่งผลิตข้าว และปริมาณที่ต้องการประมูล จากนั้นบริษัทผู้นำเข้าข้าวญี่ปุ่นจะประมูลข้าวดังกล่าวจากบริษัทผู้ส่งออกของประเทศนั้น ๆ โดยบริษัทที่ให้ราคาต่ำที่สุดจะได้รับสิทธิในการซื้อข้าว และขายข้าวดังกล่าวต่อให้กับ รบ.ญี่ปุ่น (ในกรณีของข้าวไทย ราคาที่ชนะการประมูลเฉลี่ยประมาณ 56 เยน/กก.) และ รบ.ญี่ปุ่น นำข้าวดังกล่าวไปจำหน่ายต่อให้แก่บริษัทผู้ผลิตอาหารต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ข้าวไทยจะถูกนำไปใช้ในการผลิตเหล้าอาวาโมริ ขนมขบเคี้ยว มิโสะ เป็นต้น

        • ในปี 2557 ประเทศที่ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวผ่านระบบนี้มากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ 316,000 ตัน ไทย 290,000 ตัน ออสเตรเลีย และจีน ตามลำดับ

        • รบ.ญี่ปุ่น จะเป็นผู้ตัดสินใจและประกาศว่าจะเปิดประมูลข้าวชนิดข้าวใดและจากประเทศไหน ซึ่งหากมีการเปิดประมูลข้าวจากประเทศไหนบ่อย ก็เท่ากับว่า มีอุปสงค์ต่อข้าวจากประเทศดังกล่าวมากในช่วงนั้น ทำให้ รบ.ญี่ปุ่น ต้องเปิดประมูลเพื่อนำข้าวดังกล่าวมาสำรองมากขึ้น

        • บริษัทผู้นำเข้าข้าวญี่ปุ่นจะไม่ได้กำไรจากการประมูลในระบบ MA สักเท่าใดนัก เนื่องจากการแข่งขันสูง แต่สาเหตุที่ต้องเข้าร่วมการประมูล เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าร่วมการประมูลข้าวของ รบ.ญี่ปุ่น ทั้งในระบบ MA และ SBS

      2. ระบบ Simultaneous Buying and Selling Tender (SBS)

        • เป็นการนำเข้าข้าวโดยบริษัทเอกชนผ่านการประมูลซึ่งจัดโดย Japanese Food Agency ประมาณ 3 เดือน/ครั้ง ไม่มีภาษีนำเข้า ในจำนวนไม่เกิน 100,000 ตัน/ปี โดยหากไม่มีอุปสงค์ของตลาด ก็อาจประมูลเพียง 10,000 ตัน/ปี กระบวนการคือ รบ.ญี่ปุ่น ประกาศเปิดประมูล โดยบริษัทผู้นำเข้าข้าวญี่ปุ่นจะประมูลข้าวดังกล่าวจากบริษัทผู้ส่งออกของประเทศนั้น ๆ โดยจะต้องให้ราคาค่าส่วนเพิ่มจากราคาปกติ (Bid Import Mark Up) ซึ่งจะแปรผันตามอุปสงค์ที่มีต่อข้าว (กรณีของข้าวไทย เฉลี่ยประมาณ 40 เยน/กก.) และบริษัทผู้นำเข้าข้าวขายข้าวดังกล่าวต่อให้แก่บริษัทขายส่งข้าวผ่าน รบ.ญี่ปุ่น ในราคาที่ค่าส่วนเพิ่มจากราคาปกติเช่นกัน ซึ่งโดยปกติบริษัทผู้นำเข้าข้าวกับบริษัทขายส่งข้าวจะเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เพื่อจำหน่ายต่อยังร้านค้าต่าง ๆ

        • ในกรณีของ บ.Kitoku Shinryo นำข้าวที่ประมูลได้ในระบบ SBS จำหน่ายในรูปแบบข้าวสารใส่หีบห่อสวยงาม และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวพร้อมรับประทาน เป็นต้น

        • ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวในทั้งสองระบบข้างต้น บริษัทนำเข้าของญี่ปุ่นที่จะประมูลจะต้องได้รับการรับรองจาก รบ.ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ และส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ค้าข้าว/โรงสีข้าวในไทยอยู่แล้ว เช่น Itochu กับ President Rice / Mitsubishi กับ Capital Rice โดยบริษัทนำเข้าข้าวของญี่ปุ่นที่สามารถประมูลข้าวชนิด long grain ได้ มีทั้งหมด 14 บริษัท


        • แม้ว่า รบ.ญี่ปุ่น จะนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ มากกว่าข้าวจากไทย แต่ข้าวสหรัฐฯ และข้าวไทย ไม่ได้เป็นคู่แข่งกันในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากข้าวที่ญี่ปุ่นประมูลจากสหรัฐฯ เป็นข้าวชนิด medium grain ซึ่งนำมาใช้ในการผลิต rice cracker ในขณะที่ ข้าวที่ประมูลจากไทยเป็นชนิด long grain ซึ่งนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น เหล้าอาวาโมริ มิโสะ

  3. แนวทางการเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวไทยในญี่ปุ่น

    • หนทางที่จะเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวไทยในญี่ปุ่น ได้แก่ การเพิ่มปริมาณโควตานำเข้าข้าวของญี่ปุ่นภายใต้ WTO และการเจรจากับ รบ.ญี่ปุ่น เพื่อขอลดภาษีนำเข้าข้าว ซึ่งคงมีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าสำคัญที่ รบ.ญี่ปุ่น ปกป้อง และมีความอ่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงที่ญี่ปุ่นจะเพิ่มปริมาณโควตานำเข้าข้าวภายใต้กรอบ WTO ในอนาคต โดยอาจเพิ่มถึงประมาณ 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งน่าจะทำให้ข้าวไทยได้รับการประมูลเพิ่มขึ้นด้วย โดยจะต้องพิจารณาจากอุปสงค์ที่มีต่อข้าวไทย และติดตามผลการเจรจาเรื่องการเพิ่มโควตานำเข้าข้าวของญี่ปุ่นภายใต้ TPP

    • ดังนั้น หนทางเดียวที่จะเพิ่มปริมาณข้าวไทยในญี่ปุ่นในขณะนี้และในอนาคตคือ การรักษาและเพิ่มอุปสงค์ต่อข้าวไทยในตลาดญี่ปุ่น โดยการทำการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง




Back to the list