ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


สถานการณ์การท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

26/12/2014

1. การเดินทางท่องเที่ยว ตปท.ของคนญี่ปุ่น

  

  • จากสถิติขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) จำนวนคนญี่ปุ่นที่เดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2557 มีประมาณ 15.50 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากจำแนกเป็นรายเดือน พบว่า มีจำนวนคนญี่ปุ่นเดินทางไปท่องเที่ยว ตปท. ในปีนี้ลดลงเกือบทุกเดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • สาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นเดินทางไปท่องเที่ยว ตปท. ลดลงน่าจะมาจากการนโยบายการคลังและการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ดำเนินการมาตั้งแต่ นรม.อาเบะ เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับ 85 เยน / ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงปลายปี 2555 มาเป็นระดับประมาณ 105 เยน / ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงต้นปี 2557 และระดับ 119 - 120 เยน / ดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้คนญี่ปุ่นมี คชจ. ในการท่องเที่ยว ตปท. ที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เมื่อเดือน เม.ย. 2557 ส่งผลให้คนญี่ปุ่นบริโภคสินค้าน้อยลงและเก็บออมเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้น่าจะดำเนินต่อไป เนื่องจากค่าเงินเยนยังคงมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวต่อเนื่อง และการบริโภคของญี่ปุ่นอาจยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการปรับฐานเงินเดือนในอัตราที่เหมาะสมกับการปรับเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคและการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า

  • คนญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทยในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2557 มีจำนวน 1,134,290 คน ลดลงร้อยละ 18.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนคนญี่ปุ่นเดินทางมาไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.32 โดยสาเหตุที่คนญี่ปุ่นเดินทางมาไทยลดลงเนื่องจากเหตุความไม่สงบทางการเมืองไทยจนถึงเดือน พ.ค. 2557 และการที่ยังคงมีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นไม่รับทำประกันภัยการท่องเที่ยวในประเทศที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี โดยที่สถานการณ์ในไทยในปัจจุบันมีความสงบเรียบร้อยในช่วงนี้ และ สอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงสถานการณ์ของไทยแก่สาธารณชนญี่ปุ่นทราบอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนญี่ปุ่นมีความมั่นใจท่องเที่ยวไทยมากขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากอัตราการลดลงของจำนวนคนญี่ปุ่นมาไทยที่บรรเทาลงจากที่ลดลงร้อยละ 20 ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2557 มาอยู่ที่ลดลงประมาณร้อยละ 10 ในช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 2557 และการที่มีผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่นเดินทางเยือนไทย เช่น ผวจ. ซากะ กิฟุ และไอจิ และนายกเทศมนตรีเมืองต่าง ๆ และการที่มีบริษัทญี่ปุ่นนำนักท่องเที่ยวไปไทย เช่น บริษัท A&A ได้นำนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น 300 คน เดินทางไปทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ และเข้าร่วมงานเทศกาลยี่เป็ง เป็นต้น

2. การเดินทางไปญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวไทย

  

  • จากสถิติของ JNTO มีคนต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2557 จำนวน 12.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.2 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ และสูงกว่าเป้าหมายที่ รบ.ญี่ปุ่นเคยตั้งไว้ว่าจะให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาญี่ปุ่นในปี 2557 ที่ 12 ล้านคน โดยในชั้นนี้คาดว่าเมื่อรวมทั้งปี 2557 แล้ว จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาญี่ปุ่นประมาณ 13.3 ล้านคน

  • การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาญี่ปุ่นมากขึ้นถือเป็นความสำเร็จที่เห็นได้ชัดที่สุดในนโยบาย Abenomics โดยบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว (10.36 ล้านคน) และยังได้ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งที่ผ่านมาภาคส่วนต่าง ๆ ในญี่ปุ่นตื่นตัวในเรื่องการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก เช่น เมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นทำการตลาดเชิงรุก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาได้ในทุกฤดูกาล รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบิน และมี LCC (Low Cost Carrier) ที่มีเที่ยวบินตรงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้มาตรการผ่อนคลายการตรวจลงตราเข้าญี่ปุ่นให้กับนักท่องเที่ยวหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวต่อเนื่อง และการออกมาตรการยกเว้นภาษีผู้บริโภคบางประเภทให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ได้แก่ อาหาร, ยา และ เครื่องสำอาง) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นเกิน 1 ล้านคน/เดือน ติดต่อกันตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557

  • นักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2557 มีจำนวน 581,300 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46.2 โดยเดือนที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากที่สุดคือเดือน เม.ย. 2557 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100,000 คน เนื่องจากเป็นช่วงชมดอกซากุระ และมีวันหยุดยาวที่ไทย (เทศกาลสงกรานต์) และเดือน ต.ค. 2557 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 80,000 คน เนื่องจากเป็นช่วงชมใบไม้เปลี่ยนสี

  • นักท่องเที่ยวไทยถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการที่จังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่นนำคณะผู้แทนระดับสูงไป ปชส. การท่องเที่ยวและสินค้าของจังหวัดที่ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีจังหวัดที่ทำแผ่นพับ ปชส. และติดป้ายในร้านค้าเป็นภาษาไทยมากขึ้น และร้านค้าในญี่ปุ่นมีการประกาศเสียงตามสายเป็นภาษาไทย ทำเอกสารแนะนำร้านเป็นภาษาไทย และมีการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย เช่น พนักงานบริการ และล่าม ในร้านค้าและโรงแรมเพิ่มสูงขึ้น โดยนักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการจับจ่ายใช้สอยในญี่ปุ่นในลำดับต้น ๆ อีกด้วย



Back to the list