ส้มโอไทยในตลาดญี่ปุ่น
09/10/2014
ญี่ปุ่นเป็นตลาดผลไม้ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของไทย ปัจจุบัน ผลไม้ไทยหลายชนิดเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง กล้วย มังคุด และทุเรียน ซึ่งจะเห็นวางขายอยู่ตามร้านขายผลไม้และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งของญี่ปุ่น
ในบรรดาผลไม้ต่างๆ ส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นผลไม้ชนิดล่าสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นำเข้าส้มจากไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2555 ทำให้ส้มโอซึ่งเป็นผลไม้ที่ไทยเป็นผู้ผลิตในลำดับต้น ๆ ของโลก มีโอกาสในญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้ส้มโอพันธุ์ทองดีจากไทยที่จะนำเข้ามาที่ญี่ปุ่น จะต้องผ่านการอบไอน้ำและฆ่าเชื้อด้วยความร้อนก่อนเพื่อให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีความมั่นใจในด้านความปลอดภัยทางอาหารและคุณภาพ
ส้มโอมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Pomelo ซึ่งมาจากคำว่า Pampelmoose (ภาษาดัตซ์) ซึ่งแปลว่า "ส้มที่มีขนาดเท่าฟักทอง" เป็นพืชในสกุลเดียวกับส้มเขียวหวาน เลมอน มะกรูด และมะนาว มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักเดินเรือชาวยุโรปนำส้มโอไปปลูกในหมู่เกาะบาเบดอส ซึ่งส้มโอถือเป็นต้นกำเนิดของส้มเกรปฟรุท (grapefruit) ในส่วนของญี่ปุ่น คาดว่ามีการนำเข้ามาญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้าชาวกวางตุ้ง ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของผลไม้ที่เรียกว่า บุนตัน (Buntan) และซาบง (Zabon) ที่นิยมปลูกในภาคใต้ของญี่ปุ่น
หลังจากที่ส้มโอได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปยังตลาดญี่ปุ่นได้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ได้พยายามส่งเสริมให้ส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นที่รู้จักในบรรดาผู้นำเข้าและประชาชนญี่ปุ่นมากขึ้น โดยการแจกจ่ายเอกสารประชาสัมพันธ์ส้มโอให้กับผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายผลไม้ของญี่ปุ่น การนำส้มโอไปร่วมให้ชิมในงานแสดงสินค้าอาหารและงานเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักส้มโอไทยได้มากขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดงาน Som-O Night ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ส้มโอพันธุ์ทองดีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าผลไม้ ตัวแทนจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการด้านอาหาร โรงเรียนสอนทำอาหาร และสื่อมวลชนด้านอาหารของญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 130 คน โดยมีการฉายวีดิทัศน์แนะนำส้มโอ การสาธิตการปอกเปลือกส้มโอโดยพ่อครัวของเอกอัครราชทูตฯ และกิจกรรมเด่นที่เป็นไฮไลท์ของงานคือ การสาธิตทำอาหารแบบญี่ปุ่นที่ใช้ส้มโอเป็นวัตถุดิบหลัก โดยคุณ Megumi Nagasawa นักสอนทำอาหารไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในกรุงโตเกียว เพื่อแสดงให้ชาวญี่ปุ่นได้เห็นว่าส้มโอสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำอาหารญี่ปุ่นได้หลายอย่าง เช่น ยำส้มโอ สลัดส้มโอ ซูชิส้มโอ และเยลลี่ส้มโอ และปิดท้ายด้วยการให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองชิมส้มโอและอาหารที่ใช้ส้มโอเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นที่ร่วมงานได้รับรู้ถึงรสชาติของส้มโอด้วย
ในการจัดงานครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นผู้เข้าร่วมงาน และทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่ช่วยในการส่งเสริมตลาดส้มโอในญี่ปุ่นต่อไปหลายเรื่อง เช่น ส้มโอไม่ถึงกับเป็นของแปลกใหม่ของญี่ปุ่น เพราะผู้ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ร้อยละ 74 รู้จักส้มโออยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้จักประเทศไทยมาก่อน และส้มโอมีรสชาติถูกปากถูกใจคนญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะเห็นว่าแม้ส้มโอจะมีลักษณะภายนอกคล้ายส้มซาบงเป็นอย่างมาก แต่รสชาติมีความหวาน หอมและฉ่ำน้ำมากกว่า และมีรสชาติที่ดีกว่า คือหวานอมเปรี้ยวและจัดจ้านกว่า แต่อุปสรรคสำคัญที่เป็นโจทย์สำหรับผู้ส่งออกไทย คือ การที่จะซื้อส้มโอทานหรือไม่ ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ โดยส้มโอควรมีราคาประมาณ 500 เยนต่อลูก ซึ่งค่อนข้างต่ำกว่าราคาจำหน่ายในญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณลูกละ 1,000 เยน หากนำเข้ามาในปริมาณน้อย และในเรื่องรูปแบบการจัดจำหน่ายส้มโอ ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ตอบว่า ควรจะแกะปอกและขายเป็นชิ้น รองลงมาคือการขายเป็นลูก และนอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ว่าชาวญี่ปุ่นเห็นว่านอกจากอาหารแล้วส้มโอเหมาะที่จะนำไปทำสลัดและของหวาน เช่น ไอศกรีมเชอร์เบท เป็นผลไม้วางตกแต่งบนหน้าขนม และทำเป็นเยลลี่ และช่องทางที่น่าจะเผยแพร่เจาะตลาดญี่ปุ่นได้ควรเป็นการจัดจำหน่ายส้มโอในซูเปอร์มาร์เก็ต และการออกร้านขายงานเทศกาลต่าง ๆ และตลาดนัดเกษตรกร (Famer's Market) และการจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงร้านอาหารไทย และควรประชาสัมพันธ์การขายส้มโอโดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพและความงามโดยเน้นข้อมูลเกี่ยวกับสรรพคุณของส้มโอ และวางขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับ hi-end ที่ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้านำเข้าและสามารถตั้งราคาสินค้าได้ราคาสูง อย่างไรก็ดี ในเรื่องราคา หลายฝ่ายเชื่อว่าหากในอนาคตมีการนำเข้าส้มโอจากไทยไปในปริมาณที่มากขึ้น ราคาขายก็จะน่าถูกลงได้กว่านี้ เนื่องจากต้นทุนในการอบไอน้ำและฆ่าเชื้อเพื่อส่งออกจะลดลงตามไปด้วย แต่คำถามที่สำคัญคือ เราจะมีส้มโอไปวางขายในตลาดญี่ปุ่นได้สม่ำเสมอหรือไม่ เพราะส้มโอก็ยังเป็นผลไม้ตามฤดูกาล และจะพอเพียงเหลือส่งออกมากพอหรือไม่