ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


สถานการณ์ด้านพลังงานของญี่ปุ่น

17/06/2014

1. นโยบายด้านพลังงานของญี่ปุ่นในภาพรวม

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2557 ครม.ญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของญี่ปุ่น ฉบับที่ 4 ซึ่งเสนอโดย ก.ศก.การค้า และ อก.ญี่ปุ่น (METI) โดยในการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ครบวงจร ทั้งพลังงานถ่านหิน พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลมและใต้พิภพ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยจะต้องสร้างระบบความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นและเข้าใจกับประชาชนก่อน และการแนะนำพลังงานในรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้ รวมไปถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวมิได้ระบุสัดส่วนพลังงานแต่ละชนิดที่จะใช้ในอนาคต ทั้งนี้ ในเอกสารเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานดังกล่าว ได้ระบุเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในญี่ปุ่นว่า ในปี ค.ศ. 2010 ญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานฟอสซิลร้อยละ 82 และใช้พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.2 แต่หลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่โตโฮกุ เมื่อเดือน มี.ค. ค.ศ. 2011 และเกิดอุบัติเหตุโรงงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมะไดอิจิ ทำให้ญี่ปุ่นระงับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ชั่วคราว โดยในปี ค.ศ. 2012 ญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 92 ซึ่งประกอบด้วยพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 44.3 ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 24.5 และถ่านหิน 23.4 และในจำนวนนี้เป็นการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 88 โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ร้อยละ 42.5 (เช่นจากออสเตรเลีย กาตาร์ มาเลเซีย) ถ่านหิน ร้อยละ 27.6 น้ำมันดิบ ร้อยละ 17.1 (เช่นจากซาอุดีอาระเบีย ยูเออี กาตาร์) ในขณะที่ใช้พลังงานจากน้ำและพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ร้อยละ 7.2 และใช้พลังงานนิวเคลียร์เหลือเพียงร้อยละ 0.7 ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ญี่ปุ่นระงับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ชั่วคราว ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3.6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น และดุลการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นขาดดุล โดยในปี ค.ศ. 2013 ขาดดุล 11.5 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสาเหตุหลักจากการนำเข้าพลังงาน ฟอสซิลมูลค่าถึง 10 ล้านล้านเยน นอกจากนี้ ยังทำให้ญี่ปุ่นก่อก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.2 ของพลังงานทั้งหมด เป็นร้อยละ 36.2 ของพลังงานทั้งหมดในปี ค.ศ. 2012 จึงเป็นที่มาของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานฉบับใหม่ดังกล่าว ซึ่ง สอท. ได้ทำการสรุปสาระสำคัญตามเอกสารแนบ 1 และเอกสารฉบับเต็มของ METI ตามเอกสารแนบ 2

2. สถานการณ์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น

2.1    ปัญหาน้ำปนเปื้อนรังสีโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะไดอิจิ
  • บ. ไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ยังประสบปัญหาการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะไดอิจิ โดยเดิมทีคาดการณ์ว่าจะสามารถบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีได้แล้วเสร็จภายในปี 2557 แต่ยังมีความล่าช้า ทั้งนี้ น้ำบาดาลที่ไหลเข้ามาปะปนประมาณวันละ 400 ตันเป็นเหตุให้น้ำปนเปื้อนมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยเพิ่มจำนวนเครื่องบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่อง ALPS ของ บ. Toshiba ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่เดือน ก.ย. 2557 เป็นต้นไป และอยู่ในระหว่างสร้างกำแพงน้ำแข็งเพื่อสกัดน้ำบาดาลไม่ให้ไหลเข้าสู่เตาปฏิกรณ์ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในปี 2558 และลดปริมาณน้ำบาดาลที่ไหลไปยังอาคารปล่อยน้ำลงทะเลก่อนที่จะเกิดการปนเปื้อน
  • ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดทำผลสำรวจเรื่องนี้และพบว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีบริเวณรอบพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าฯ ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ เช่น ปริมาณกัมมันตรังสีในเมืองนามิเอะ จ.ฟุคุชิมะ ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัย มีค่าเฉลี่ยที่ระหว่าง 3.26 - 8.47 ไมโครซีเวิร์ต ต่อชั่วโมง ลดลงเหลือระดับร้อยละ 40 - 50 ก่อนการทดลองขจัดการปนเปื้อน แต่ยังสูงมากกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ ซึ่งอยู่ที่ 0.23 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ถึงกว่า 10 เท่า
2.2    แนวโน้มการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
  • ปัจจุบัน คกก.กฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (Nuclear Regulation Authority: NRA) อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 18 เตา จากทั้งหมด 48 เตาทั่วญี่ปุ่น กลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้ง ได้แก่ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 6 และ 7 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kashiwazaki Kariwa เตาฯ หมายเลข 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้าฯ Ohi เตาฯ หมายเลข 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้าฯ Takahama เตาฯ หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าฯ Genkai เตาฯ หมายเลข 1 และ 2 ของโรงไฟฟ้าฯ Sendai เตาฯ หมายเลข 1 – 3 ของโรงไฟฟ้าฯ Tomari เตาฯ หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าฯ Onagawa เตาฯ ของโรงไฟฟ้าฯ Tokai Daini เตาฯ หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าฯ Hamaoka และเตาฯ หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้าฯ Ikata อย่างไรก็ดี ยังไม่มีเตาปฏิกรณ์ใดที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบของ NRA ซึ่งเตาปฏิกรณ์ฯ ที่น่าจะมีแนวโน้มเปิดใช้งานใหม่ได้เร็วที่สุดเช่น เตาฯ ที่โรงไฟฟ้า Sendai จ.คาโกชิมะ ก็มีแนวโน้มว่าจะยังไม่สามารถเปิดใช้ได้ตามกำหนดเดิมในเดือน ก.ย. 2557 เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับมาตรการรองรับกรณีเกิดภูเขาไฟระเบิดซึ่งจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์อย่างรุนแรงและทำให้สารกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปทั่วโลก และสำหรับเตาฯ อื่น ๆ ก็ยังมีความไม่พร้อม โดยเฉพาะแผนการรับมือภัยพิบัติ แผ่นดินไหวและสึนามิ และบางแห่งคาดว่าจะอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนของแผ่นดิน จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบโดยละเอียด
  • นอกจากนี้ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีความพยายามที่จะเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่งในอนาคต แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและประชาชนในท้องถิ่นที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ หรือที่อยู่ใกล้เคียง ตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมา เช่น เมืองฮาโกดาเตะ จ. ฮอกไกโด เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นระงับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองโอมะ จ. อาโอโมริ ซึ่งอยู่ในระยะใกล้เคียงกัน เพราะเกรงว่าหากเกิดอุบัติเหตุจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการประมงและการท่องเที่ยวของเมืองฮาโกดาเตะ ซึ่งในแผนเดิม รัฐบาลญี่ปุ่นจะสร้างให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลกที่มีการใช้ธาตุผสมพลูโตเนียมและยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง โดยการก่อสร้างดำเนินไปร้อยละ 40 ก่อนเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะไดอิจิ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างระงับการก่อสร้าง และจะมีการยื่นขอให้ NRA ตรวจสอบความปลอดภัยภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ในขณะที่ ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JCCI) มีท่าทีสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์
2.3    การเปลี่ยนแปลงสมาชิก คกก. กฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ (NRA)
  • ในเดือน ก.ย. 2557 สมาชิกสำคัญ 2 คนใน NRA ได้แก่ นายคุนิฮิโกะ ชิมาซากิ และนายเคนโซ โอชิมะ จะลาออกจากตำแหน่ง โดยผู้เข้ารับตำแหน่งแทน ได้แก่ นายซาโตรุ ทานากะ และนายอากิระ อิชิวาตาริ ซึ่งจะมีวาระ 5 ปี ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่าสมาชิกใหม่ดังกล่าว มีแนวทางสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งเป็นไปได้ง่ายขึ้น



Back to the list