สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2557
26/02/2015
1. สภาวะ ศก.ญี่ปุ่น ล่าสุด |
1.1 |
|
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 สนง.ครม.ญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ Real GDP ญี่ปุ่น ประจำงวดเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2557 (ตัวเลขเบื้องต้น) ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 QoQ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 YoY โดยเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส และเป็นไตรมาสแรกหลังจากที่ปรับเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคเป็นร้อยละ 8 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโต ได้แก่ การส่งออก ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 QoQ โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ และจีน (การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 QoQ) การบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 QoQ และการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 QoQ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 QoQ และการลงทุนในที่พักอาศัยลดลงร้อยละ 1.2 QoQ ตามเอกสารแนบ 1
นายโยชิฮิเดะ สึกะ ลขธ.ครม. แถลงเกี่ยวกับอัตราการเติบโตของ Real GDP ดังกล่าวว่า การบริโภคส่วนบุคคลยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ และรายได้ภาคครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นไม่เท่ากับอัตราราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ในขณะที่ นายอะกิระ อะมะริ รมว.ดูแลด้าน ศก.การคลังและการฟื้นฟู ศก. แถลงว่า การบริโภคส่วนบุคคลและการส่งออกผลักดันการเติบโตในงวดนี้ โดยคาดว่า ต่อจากนี้ไป ศก.ญี่ปุ่นน่าจะดีขึ้นตามลำดับโดยได้รับการผลักดันจากอุปสงค์ในประเทศซึ่งมีพื้นฐานแข็งแกร่ง และการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนจากผลกำไรของบริษัทในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นักเศรษฐศาสตร์มองว่า Real GDP งวดเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2557 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 0.9 QoQ และ 3.8 YoY โดยมูลค่า Real GDP ประจำงวดดังกล่าวซึ่งอยู่ที่ 525.8 ล้านล้านเยน ต่ำกว่ามูลค่าหลังการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคในงวดเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2557 ซึ่งอยู่ที่ 525.9 ล้านล้านเยน แสดงให้เห็นว่า ศก.ญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบในเชิงลบหลังการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยการบริโภคส่วนบุคคลยังเติบโตในระดับที่ต่ำมาก อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ช่วยผลักดันการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคตคือการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น ซึ่งมูลค่าการบริโภคในญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.3 QoQ ซึ่งหาก รบ.ญี่ปุ่นสามารถบรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น 20 ล้านคน ในปี 2563 จากระดับ 13 ล้านคนในปี 2557 ได้จริง ก็จะช่วยผลักดัน ศก.ญี่ปุ่นได้มากในอนาคต |
1.2 |
|
สนง.ครม.ญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ Real GDP ญี่ปุ่นประจำปี 2557 ด้วยว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของการบริโภคส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภค แต่มีการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโต ตามเอกสารแนบ 2 ทั้งนี้ สถาบันวิจัยด้าน ศก. ต่าง ๆ ของญี่ปุ่นคาดว่า Real GDP ญี่ปุ่นงวดเดือน ม.ค. - มี.ค. 2558 จะเติบโตร้อยละ 2.3 YoY ต่อเนื่องจากงวดเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2557 และ Real GDP ประจำปีงบประมาณ 2558 (เม.ย. 2558 - มี.ค. 2559) จะเติบโตร้อยละ 1.7 ซึ่งฟื้นตัวจากปีงบประมาณ 2557 ที่ลดลงร้อยละ 0.9 แต่สูงกว่าที่ รบ.ญี่ปุ่นประมาณการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 1.5 |
1.3 |
|
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2558 สนง.ครม.ญี่ปุ่น ประกาศสภาวะ ศก.ญี่ปุ่นประจำเดือน ม.ค. 2558 ว่าอยู่ในภาวะ "อยู่ในแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยแม้ว่าการบริโภคส่วนบุคคลยังอ่อนแออยู่" ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2557 และมองว่าในระยะต่อไป ศก.ญี่ปุ่นน่าจะฟื้นตัวขึ้นช้า ๆ จากสถานการณ์เงินเดือนที่จะปรับเพิ่มขึ้น และจะได้รับผลดีจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาคเอกชนลดลง |
1.4 |
|
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ก.กิจการภายในญี่ปุ่น ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำปี 2557 อยู่ที่ 102.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 ปี โดยได้รับผลดีจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคเมื่อเดือน เม.ย. 2557 แต่หากไม่นำผลกระทบจากอัตราภาษีผู้บริโภคมาคำนวณ CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ดี การลดลงของราคาน้ำมันดิบจะเป็นปัจจัยลบที่กดดันการเพิ่มขึ้นของ CPI ในระยะต่อไป เห็นได้จาก CPI ประจำเดือน ธ.ค. 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 YoY ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2557 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 YoY |
1.5 |
|
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ก.กิจการภายในญี่ปุ่น ประกาศอัตราการว่างงานญี่ปุ่นประจำเดือน ธ.ค. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี 4 เดือน เนื่องจากมีการจ้างงานที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมการค้าส่ง ค้าปลีก การแพทย์และสาธารณสุข โดยมีจำนวนแรงงาน 56.46 ล้านคน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่า สภาวะการจ้างงานน่าจะดีขึ้นต่อไปตามลำดับ ทั้งนี้ จำนวนแรงงานเพศหญิงอยู่ที่ 27.63 ล้านคน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมใน ศก. ของเพศหญิงมากขึ้นตามนโยบาย Abenomics |
1.6 |
|
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 ก.คลังญี่ปุ่นประกาศดุลการชำระเงินของญี่ปุ่นประจำปี 2557 ว่าเกินดุลที่ 2.6266 ลัานล้านเยน ลดลงร้อยละ 18.8 จากปีก่อน และถือเป็นการเกินดุลที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากดุลการค้าระหว่างประเทศขาดดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยดุลการชำระเงินเกินดุลลดลงอย่างต่อเนื่อง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเกิดเหตุภัยพิบัติที่เขตโตโฮกุและเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะไดอิจิ ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซ LNG สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนแทนพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น โดยมีมูลค่านำเข้ารวม 84.4862 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 74.1225 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ |
2. นโยบายด้าน ศก.ของ รบ.ญี่ปุ่น ที่สำคัญ |
2.1 |
|
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 นรม. อาเบะ ได้แถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจในที่ประชุม ส.ส. สมัยสามัญโดยเน้นเกี่ยวกับนโยบายการฟื้นฟู ศก. การสร้างความแข็งแกร่งของนโยบายการคลัง การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การเติบโต (Growth Startegy) การปฏิรูปด้านการเกษตรครั้งใหญ่ที่สุด การส่งเสริมกิจกรรมด้านสตรี และการฟื้นฟูท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่านโยบาย Abenomics กำลังสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องและจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีสาระสำคัญตามเอกสารแนบ 3 |
2.2 |
|
เกี่ยวกับการฟื้นฟูท้องถิ่น รบ.ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการร่างแผนการฟื้นฟูท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ 2559 ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2558 โดยจะจัดตั้งสำนักงานฟื้นฟูเมือง คนและงาน ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องนี้ในต้นเดือน มี.ค. 2558 และจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การท่องเที่ยว เกษตรกรรม การเงิน และการแพทย์ |
2.3 |
|
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 นรม.ญี่ปุ่น กล่าวในที่ประชุม ส.ส. ว่า รบ.ญี่ปุ่น ยังรักษาเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 2 อยู่ต่อไป โดยคาดหวังให้ธนาคารชาติญี่ปุ่น (BOJ) ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่เหมาะสม กับสภาพของตลาดการเงิน ซึ่งที่ผ่านมา BOJ ได้ดำเนินมาตรการทางการเงินอย่างแข็งขันและประสบความสำเร็จจนทำให้ญี่ปุ่นเริ่มหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดและสร้างวงจรทาง ศก. ในเชิงบวกได้ |
2.4 |
|
เกี่ยวกับเป้าหมายการทำให้ดุลการคลังเบื้องต้นภาคสาธารณะ (Primary Balance) เกินดุลให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2563 ของ รบ.ญี่ปุ่น จากปัจจุบันที่ขาดดุลถึงร้อยละ 3.3 ของมูลค่า GDP เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 ได้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาด้าน ศก.และการคลัง โดยมี คกก.จากภาคเอกชนญี่ปุ่น อาทิ ประธานเคดันเรนเข้าร่วมด้วย โดยมีสาระสำคัญ คือ แม้ Real GDP สามารถเติบโตได้ร้อยละ 2 ต่อปีจนถึงปี 2563 ตามเป้าหมาย แต่ Primary Balance อาจยังขาดดุลประมาณ 9.4 ล้านล้านเยน จึงอาจจำเป็นต้อง (1) ลดค่าใช้จ่ายด้านการประกันสังคมประมาณ 5.5 ล้านล้านเยน โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ เช่น ลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน รพ. โดยการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ยาให้มากขึ้น และการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการพยาบาล (2) หลังจากการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคเป็นร้อยละ 10 ในเดือน เม.ย. 2560 อาจมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคอีกประมาณร้อยละ 2 เป็นประมาณร้อยละ 12 เพื่อให้ดุลการคลังของ รบ.กลางและ รบ.ท้องถิ่นเกินดุล ซึ่งการเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคทุก ๆ ร้อยละ 1 จะทำให้เพิ่มรายรับด้านภาษีได้ 2 - 3 ล้านล้านเยน ซึ่งผลดังกล่าวจะถูกนำเสนอในที่ประชุม ครม. ญี่ปุ่น เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป |
3. ข้อคิดเห็นของ สอท.
ศก.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่ค่อย ๆ ดีขึ้น ภายหลังที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบที่มากกว่าคาดหลังจากการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เมื่อเดือน เม.ย. 2557 เห็นได้จากตัวเลขทาง ศก. ที่สำคัญในเชิงบวกแทบทั้งสิ้น แม้จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะสามารถสร้างวงจรทาง ศก. เชิงบวกให้ได้ในระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มเงินเดือนของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้บริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นมองว่า ในช่วงนี้มีปัจจัยสนับสนุนให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ซึ่งทำให้ภาคเอกชนมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าที่ลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการลงทุนภาคเอกชน และจะนำไปสู่การเพิ่มเงินเดือน ซึ่งจะทำให้การบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรของภาคเอกชนต่อไป และมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าที่ลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง