ความเคลื่อนไหวท่าทีญี่ปุ่นในการเจรจา TPP ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 58
30/12/2015
1. การประชุมผู้นำประเทศสมาชิก TPP 12 ประเทศในห้วงการประชุม APEC ที่กรุงมะนิลา เมื่อ 18 พ.ย. 58
ผู้นำประเทศสมาชิก TPP แสดงความยินดีที่ TPP สามารถบรรลุข้อสรุปโดยส่วนใหญ่ได้แล้วเมื่อ ต.ค. 58 และเห็นควรให้มีการนำ TPP เข้าสู่การดำเนินการตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศเพื่อนำไปสู่การลงนามร่วมกันและมีผลใช้บังคับต่อไปโดยเร็ว ทั้งนี้ ได้ย้ำว่า TPP จะทำให้เกิดการค้าและการดำเนินกิจกรรมทาง ศก. ที่แข็งขันมากขึ้นภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเนื่องจากเป็น คตล.ที่มีมาตรฐานที่สูงมาก จึงน่าจะส่งผลอย่างมากต่อ ศก.โลกในภาพรวมในระยะต่อจากนี้
ในการประชุมดังกล่าว นรม. Abe ได้กล่าวว่า TPP จะช่วยเสริมสร้าง คสพ.ทาง ศก.ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ที่มีค่านิยมพื้นฐานร่วมกัน ทำให้มี คสพ.ทาง ศก.ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันมากขึ้น และส่งผลดีต่อการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย และเห็นว่าโดยที่มีประเทศสมาชิก APEC ประเทศอื่น ๆ ที่มีความสนใจเข้าร่วมมากขึ้น จึงควรที่จะตั้งเป้าหมายการเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังแสดงความยินดีที่ TPP สามารถบรรลุข้อสรุปโดยส่วนใหญ่ได้ โดยในระยะต่อจากนี้ ญี่ปุ่นจะพยายามขจัดความกังวลต่อ TPP ภายในประเทศ และจะใช้มาตรการด้าน ศก.ที่จำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ ปธน.สหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมความเป็นผู้นำของ นรม.อาเบะ ที่ภายหลังที่เข้ารับตำแหน่ง ได้สนับสนุนให้ญี่ปุ่นเข้าร่วม TPP และทำให้การเจรจา TPP มีคุณภาพมากขึ้น จนสามารถบรรลุข้อตกลงโดยส่วนใหญ่ได้ในที่สุด
ในห้วงการประชุมดังกล่าว ปธน.ฟป. ได้หารือกับ ปธน.สหรัฐฯ เมื่อ 18 พ.ย. 58 และแจ้งว่า ฟป. สนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP และขอรับการสนับสนุน ซึ่งสื่อญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า ขณะนี้ มีประเทศที่แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลต. อซ. ฟป. และไทย ซึ่งญี่ปุ่นมีท่าทีสอดคล้องกับสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่ยินดีที่จะรับสมาชิก TPP เพิ่มขึ้น ในขณะที่ จีนและรัสเซียมีท่าทีในเชิงลบต่อ TPP
2. การวิเคราะห์ผลกระทบต่อตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นจาก TPP
2.1 ก.เกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น
ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นจากการสรุปผลการเจรจาโดยส่วนใหญ่ของ TPP โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่
- ข้าว คาดว่าการนำเข้าข้าวจาก ตปท. ของญี่ปุ่นนอกเหนือจากกรอบที่ รบ.ญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมจะไม่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนที่ รบ.ญี่ปุ่น ควบคุม จะมีการเพิ่มโควตาปลอดภาษีให้แก่ข้าวจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย รวม 78,400 ตัน/ปี เท่านั้น และยังคงอัตราภาษีนำเข้าข้าวนอกโควตาไว้ที่ 341 เยน/ก.ก. ไว้เช่นเดิม อย่างไรก็ดี จากการที่ข้าวของสหรัฐฯ และออสเตรเลียเข้ามาในตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น จะทำให้มีปริมาณการกระจายข้าวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลทำให้ระดับราคาข้าวในตลาดญี่ปุ่นในภาพรวมลดลง ดังนั้น รบ.ญี่ปุ่น จึงกำลังพิจารณาซื้อข้าวจากชาวนาญี่ปุ่นในปริมาณเท่ากับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสำหรับการสำรองข้าว
- ข้าวสาลี เหมือนกับกรณีข้าว ซึ่งยังคงดำเนินระบบการควบคุมการนำเข้าโดย รบ.ญี่ปุ่น อยู่ต่อไป โดยมีการเพิ่มโควตาการนำเข้าใหม่ให้แก่สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลียเท่านั้น แต่เป็นการปรับในส่วนของการนำเข้าจาก ตปท. ซึ่งจะไม่กระทบต่อข้าวสาลีของญี่ปุ่น ดังนั้น ปริมาณการนำเข้าในภาพรวมจะไม่เพิ่มขึ้น
- ผลไม้ เช่น ส้ม ซึ่งจะมีการยกเลิกภาษีนำเข้าตามลำดับจากอัตราร้อยละ 16 – 32 ในปีที่ 8 แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อส้มที่ผลิตในญี่ปุ่นเนื่องจากมีรสชาติและความสะดวกในการรับประทานที่ต่างกัน ในขณะที่ แอปเปิ้ล เชอร์รี่ และองุ่น และผลไม้อื่น ๆ ของญี่ปุ่นก็จะได้รับผลกระทบในขอบเขตที่จำกัดเช่นกัน เนื่องจากผลไม้ของญี่ปุ่นมีคุณภาพที่สูงกว่า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรญี่ปุ่นเน้นการปลูกผลไม้ที่มีคุณภาพสูง เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นมีทางเลือกที่ชัดเจนระหว่างผลไม้นำเข้าที่มีราคาถูกกับผลไม้ที่ผลิตในญี่ปุ่นที่มีคุณภาพสูง
- ผัก น่าจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดเช่นกัน เช่น ถั่วแดง ซึ่งจะกำหนดโควตาปลอดภาษีไว้ในระดับหนึ่งเท่านั้นและยังคงภาษีนอกโควตาในอัตราที่สูงเช่นเดิม ซึ่งจะไม่กระทบต่อการผลิตในญี่ปุ่น ในขณะที่ แครอท ซึ่งจะมีการยกเลิกภาษีนำเข้าโดยทันที ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่
2.2 แม้ว่าการวิเคราะห์โดยภาครัฐของญี่ปุ่นจะดูเหมือนว่าภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจะไม่ได้รับผลกระทบจาก TPP มากนัก
แต่เกษตรกรญี่ปุ่นมีความกังวลถึงผลกระทบเป็นอย่างมาก เช่น ผู้ผลิตเนื้อวัวญี่ปุ่น (Wagyu) มีความกังวลว่าภายหลังจากที่ TPP มีผลใช้บังคับ ภาษีนำเข้าเนื้อวัวจะลดลงจากร้อยละ 38.5 เหลือร้อยละ 9 ในปีที่ 16 ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น ทำให้จะต้องใช้ความพยายามในการลดต้นทุนการผลิตเนื้อวัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยที่ผ่านมาก็ได้พยายามลดต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสำหรับเลี้ยงวัว อาทิ ข้าวบาร์เลย์ มาบ้างแล้ว / ผู้ประกอบการผลไม้ มีความกังวลว่าผลไม้ที่ตนปลูกจะประสบภาวะแข่งขันกับผลไม้นำเข้าที่มีราคาถูก โดยพยายามที่จะปลูกผลไม้ที่มีคุณภาพสูงทดแทนตามที่ภาครัฐแนะนำ แต่ก็มีความกังวลในเรื่องต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐญี่ปุ่นจะต้องหามาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของภาคเกษรกรรมของญี่ปุ่นที่เหมาะสม
3. นโยบายต่อ TPP ของ รบ.ญี่ปุ่น
3.1 เมื่อ 25 พ.ย. 58 รบ.ญี่ปุ่นได้จัดการประชุมนโยบายต่อ TPP
โดยมี นรม.อาเบะ เป็นประธาน และได้มีการประกาศนโยบายต่อ TPP ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME และภาคเกษตรกรรม โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่
3.1.1 นโยบายต่อ SME เน้นนโยบายเชิงรุก ซึ่งจะเริ่มใช้ทันทีหลัง TPP มีผลใช้บังคับ ได้แก่
- การส่งเสริมการส่งออก โดยจัดตั้ง consourtium สนับสนุนการดำเนินธุรกิจใน ตปท. ของบริษัทญี่ปุ่นจากการใช้บังคับ TPP ซึ่งประกอบด้วย JETRO เป็นหน่วยงานหลัก รบ.ท้องถิ่นของญี่ปุ่น สภาหอการค้าและ อก. สถาบันการเงิน Nippon Export and Investment Insurance (NEXI) และ New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) และ สอท.ญี่ปุ่นใน ตปท. ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือ และให้ความช่วยเหลือในการจัดทำเอกสารในการยื่นขอรับการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ธุรกิจญี่ปุ่นเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างโดย รบ.ปท.สมาชิก TPP เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ อาทิ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้ง่ายขึ้นและให้ความร่วมมือในการเจรจากับ รบ.ตปท. โดยมุ่งเน้นนโยบายการส่งออกระบบโครงสร้างพื้นฐานในเชิงรุก ได้แก่
(1) การลดขั้นตอนการยื่นขอรับเงินกู้ (Yen Loan) ให้รวดเร็วขึ้น
(2) การขยายการปล่อยกู้เงินทุนสำหรับกิจการที่มีความเสี่ยง (Risk Money) และ
(3) การเสนอแผนการส่งออกระบบที่ครบวงจร โดยตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกระบบโครงสร้างพื้นฐานในปี ค.ศ. 2020 ที่ 30 ล้านล้านเยน
- การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจใน ตปท. โดยให้ความช่วยเหลือในด้านต้นทุนในการยื่นขอรับใบจดทะเบียนสิทธิบัตรสินค้าใน ตปท. เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของ SME ญี่ปุ่น และสนับสนุนการจำหน่าย content ด้านรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ของญี่ปุ่นในตลาด ตปท. โดยตั้งเป้ามูลค่าการจำหน่ายในปี ค.ศ. 2018 ที่ 20,000 ล้านเยน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน SME ของญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 99.7 ของบริษัทญี่ปุ่นทั้งหมดในประเทศ โดยที่ผ่านมา SME ใช้สิทธิประโยชน์จาก คตล.EPA และ FTA ในการส่งออกถึงร้อยละ 70 และคาดหวังว่าหลังจากที่ TPP มีผลใช้บังคับจากสามารถไปดำเนินธุรกิจใน ปท.สมาชิก TPP ที่มีค่าแรงถูกได้ โดยมองว่าเวียดนามมีความได้เปรียบที่สุด โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกให้แก่เวียดนาม และสามารถปลูกผักและผลไม้ส่งไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อได้ในต้นทุนที่ต่ำ นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มก็ใช้เวียดนามเป็นฐานในการผลิต ซึ่งหากมีการใช้บังคับ TPP จะทำให้บริษัทญี่ปุ่นอื่น ๆ ขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น
3.1.2 นโยบายต่อภาคเกษตรกรรม
3.1.2.1 นโยบายเชิงรุก ซึ่งจะประกาศแผนที่เป็นรูปธรรมอีกครั้งในช่วงปีหน้า
- การส่งเสริมการส่งออก ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในปี ค.ศ. 2020 ที่ระดับ 1 ล้านล้านเยน (ปี ค.ศ. 2014 อยู่ที่ 611,700 ล้านเยน และช่วง 9 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2015 อยู่ที่ 536,800 ล้านเยน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24) โดยการใช้ระบบ Check-Off มาใช้โดยการรวบรวมเงินทุนจากเกษตรกรญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรกรรม เช่น การ ปชส.สินค้า และการให้ความช่วยเหลือในการเจรจากับ รบ.ตปท. ในเรื่องการพิจารณามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เพื่อไปสู่การเปิดตลาดสินค้าเกษตรกรรมของญี่ปุ่นในประเทศนั้น ๆ
- การเสริมสร้างภาคปศุสัตว์และฟาร์มโคนม การใช้มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถของพื้นฐานการผลิต
- การเพิ่มรายได้ การพิจารณาทบทวนโครงสร้างด้านราคาของปุ๋ย เครื่องจักรในภาคเกษตรกรรม และสินค้าต้นทุนการผลิตอื่น ๆ และผลักดันให้หอการค้าและ อก.ญี่ปุ่น ร่วมมือกับเอกชนด้านเกษตรกรรมในท้องถิ่นในการปรับตัวสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ 6 (ซึ่งเน้นตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการกระจายและจำหน่ายสินค้า) รวมทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรโดยการเพิ่มอัตราค่าเช่าที่เดินให้สำหรับเจ้าของที่ดิน
3.1.2.2 นโยบายเชิงรับ
- ข้าว รบ.ญี่ปุ่นจะซื้อข้าวที่ผลิตในญี่ปุ่นจากภาคเอกชนในปริมาณที่เท่ากับข้าวที่นำเข้าจาก ตปท.เพิ่มขึ้น ไปเป็นข้าวสำรองในระบบ และลดระยะเวลาการเก็บรักษาข้าวสำรองจาก 5 ปี เป็น 3 ปี เพื่อรักษากลไกด้านราคา และสนับสนุนการปลูกข้าวสำหรับใช้ในภาคปศุสัตว์มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากราคาข้าวสำหรับบริโภคที่ลดลงจากการลดลงของการผลิตในประเทศ โดยจะเริ่มใช้มาตรการนี้ทันทีหลังจาก TPP มีผลใช้บังคับ
- เนื้อวัวและเนื้อหมู จะผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยการขาดทุนของเกษตรกรผู้ผลิตเนื้อวัวและเนื้อหมู ในกรณีที่ราคาเนื้อวัวและเนื้อหมูลดลง จากเงินกองทุนที่รวบรวมจาก รบ. และเกษตรกรผู้ผลิต โดยพยายามกำหนดอัตราส่วนการให้เงินชดเชยจากร้อยละ 80 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 90 โดยจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในช่วงปีหน้า
- ผลิตภัณฑ์นม การให้เงินช่วยเหลือผู้ผลิตนมสดและครีมสด โดยจะเริ่มใช้มาตรการนี้ทันทีหลังจาก TPP มีผลใช้บังคับ
- ผลิตภัณฑ์เพิ่มความหวาน จะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์เพิ่มความหวาน อาทิ ชอคโกแล็ต ในระดับที่เหมาะสมเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ โดยจะเริ่มใช้มาตรการนี้ทันทีหลังจาก TPP มีผลใช้บังคับ
- พื้นที่ในการเพาะปลูก จะพิจารณาเพิ่มงบประมาณสำหรับการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการปลูกพืชและผลไม้ที่มีศักยภาพทดแทนพืชและผลไม้ที่มีการแข่งขันสูง
3.2 กลไกการพิจารณานโยบายต่อ TPP ของพรรค LDP ประกอบด้วย
3.2.1 นโยบายในภาพรวม โดย คกก.พิจารณานโยบายต่อ TPP ในภาพรวม มีนาง Tomomi Inada ส.ส. พรรค LDP เป็นประธาน
3.2.2 นโยบายด้านเกษตรกรรม โดย ก.เกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น ร่วมกับ คกก. ด้านเกษตร ป่าไม้และประมงของพรรค LDP ซึ่งนำโดยนาย Shinjiro Koizumi ส.ส.พรรค LDP ประธาน คกก. ซึ่งได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณานโยบายหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น โดยให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนต่อความพยายามของเกษตรกรผู้ผลิตให้มีความพร้อมในการแข่งขัน ได้แก่
- การขจัดความกังวลของเกษตรกร
- การเสริมสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรม และ
- การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการพัฒนาเกษตรกรรมเพื่ออนาคต