สถานการณ์ ศก.ญี่ปุ่น ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ย. 58
12/01/2016
1. สภาวะ ศก.ญี่ปุ่น ล่าสุด
1.1 อัตราการเติบโตของ Real GDP ญี่ปุ่น ซึ่งประกาศโดย สนง.ครม.ญี่ปุ่น
(1) งวดเดือน ม.ค. - มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 QoQ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 YoY ซึ่งเพิ่มในอัตราที่สูงสุดในรอบ 1 ปี โดยเป็นผลมาจากการบริโภคขยายตัวและการลงทุนสิ่งก่อสร้างและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
(2) งวดเดือน เม.ย. - มิ.ย. 58 ลดลงร้อยละ 0.3 QoQ และลดลงร้อยละ 1.2 YoY ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส เนื่องจากการบริโภคส่วนบุคคลและการส่งออกชะลอตัว โดย ปชช. มีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายและเก็บออมมากขึ้น และการส่งออกได้รับผลกระทบจาก ศก. จีน และ ปท. ในเอเชีย แม้ว่าจะมีปัจจัยเสริมจากเงินเยนอ่อนค่าก็ตาม
(3) งวดเดือน ก.ค. – ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 QoQ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 YoY ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากไตรมาสก่อนที่ลดลง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.6 QoQ โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก และการสื่อสาร และการบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 QoQ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 QoQ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 QoQ
อนึ่ง นาย Akira Amari รมว.ดูแลการฟื้นฟู ศก.ญี่ปุ่น กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของการบริโภคส่วนบุคคลแสดงให้เห็นว่า พื้นฐาน ศก. ญี่ปุ่นยังแข็งแกร่งและ ศก.กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านรายได้ การจ้างงาน เนื่องจากรายได้ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอ นอกจากนี้ รบ.ได้ขอความร่วมมือให้ Japanese Trade Union Confederation (RENGO) พิจารณาขึ้นค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิปี 2559 ให้มากกว่าร้อยละ 3 ขณะที่ในความเป็นจริง มาตรฐานการเรียกร้องขอปรับเพิ่มค่าจ้างของ RENGOอยู่เพียงร้อยละ 2
1.2 รบ.ญี่ปุ่นคาดการณ์อัตราการเติบโต Real GDP ประจำปี งปม. 2558 (เม.ย. 58 – มี.ค. 59) ที่ร้อยละ 1.0
เนื่องจากได้รับผลการทบจากการชะลอตัวของ ศก.จีน และ ศก.ตปท.ที่ไม่สดใส อย่างไรก็ดี คาดว่า Real GDP ประจำปี งปม.2559 (เม.ย. 59 – มี.ค. 60) จะเติบโตร้อยละ 1.7 ซึ่งคาดว่าจะได้รับการผลักดันโดยการบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ และการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่อสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงก่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือน เม.ย. 60 และการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศก.ญี่ปุ่นยังจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ และถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายของ รบ.ญี่ปุ่น ที่จะให้ Real GDP เติบโตร้อยละ 2 ต่อปี
1.3 OECD คาดว่า Real GDP ของญี่ปุ่น ประจำปี 2558 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
เนื่องจากอุปสงค์จากจีนและเอเชียตกต่ำ ทำให้การส่งออกและการผลิตของ ญป. ลดลง แต่คาดว่าในปี 2559 การบริโภคส่วนบุคคลจะฟื้นตัว เนื่องจากอัตราการว่างงานลดลงและมีการปรับเพิ่มค่าจ้าง ตลอดจนอุปสงค์เร่งด่วนท้ายสุดก่อนการปรับเพิ่มภาษีบริโภคในเดือน เม.ย. 60 และคาดว่า ในปี 2560 Real GDP จะเติบโตร้อยละ 0.5 เนื่องจากภาวะ ศก. ฝืดตัวหลังการปรับเพิ่มภาษีบริโภค แต่การฟื้นตัวของการค้าโลกจะช่วยพยุง ศก.ญป. ให้อยู่ในเชิงบวก
2. ความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับ ศก.ญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมา
2.1 เมื่อ 16 ก.ย. 58 S&P ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตร ญป. ในรอบ 4 ปี 8 เดือน ลง 1 ระดับ
จาก A+ เป็น AA- โดยให้เหตุผลว่า นโยบาย Abenomics ไม่สอดคล้องกับการเติบโตทาง ศก. อย่างเพียงพอ และไม่ได้ฟื้นตัวในระยะสั้นอย่างที่คาดหวัง นอกจากนี้ รายได้โดยเฉลี่ยก็ไม่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่านโยบาย Abenomics ไม่ประสบความสำเร็จ หากสามารถฟื้นคืน ศก. ที่ยั่งยืนกลับมาได้ก็จะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือปรับสูงขึ้น
2.2 เมื่อ 30 ก.ย. 58 Global Competitiveness Report 2015 จัดอันดับให้ ญป.
มีความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดระดับโลก ในลำดับที่ 6 ของโลก เท่ากับปี 2557 โดยเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากอันดับที่ 62 ในปี 2557 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งถือว่าเป็นการให้คะแนนแก่นโยบาย Abenomics แต่เตือนว่าธนูดอกที่ 3 (ยุทธศาสตร์การเติบโต) ยังไม่ได้รับการกระตุ้นเท่าที่ควรและยังจำเป็นต้องสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพ
2.3 เมื่อ 10 พ.ย. 58 กค.ญป. ประกาศดุลรายได้จากการท่องเที่ยวครึ่งแรกของปี งปม. 2558 (เม.ย. - ก.ย. 58)
ว่า เกินดุล 608,500 ล้านเยน ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2539 และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอีกจากการเพิ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในช่วงดังกล่าว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา ญป. 10.35 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 50.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าการที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านคน จะทำให้ดุลรายได้การท่องเที่ยวเกินดุล 4 ล้านล้านเยน
3. นโยบาย ศก.ญี่ปุ่น ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา
3.1 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 58 ครม.ญป.
ได้มีมติเห็นชอบนโยบายพื้นฐานการบริหาร ศก. การคลังและการปฏิรูปประจำปี ค.ศ. 2015 (Basic Policy on Economic and Fiscal Management and Reform 2015 ~Without economic revitalization, there can be no fiscal consolidation~) และยุทธศาสตร์การเติบโต โดยในส่วนของนโยบายพื้นฐานฯ มีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งด้านการคลัง โดยตั้งเป้าให้ในปี งปม. 2563 ดุลการคลังเบื้องต้นภาคสาธารณะเกินดุล และ Real GDP และ Nominal GDP มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 2 และร้อยละ 3 ตามลำดับ รวมทั้งการควบคุมให้การขาดดุลการคลังเบื้องต้นภาคสาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับ GDP ในปี งปม. 2561 และการควบคุมรายจ่ายด้านประกันสังคมให้อยู่ที่ 5 แสนล้านเยน/ปี
สำหรับยุทธศาสตร์การเติบโต มีเป้าหมายในการปฏิรูปความสามารถในการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานภายใต้ภาวะจำนวนประชากรหดตัว โดยกำหนดแผนการดำเนินงาน (Action Plan) 3 ข้อ ได้แก่
(1) แผนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ด้วยการนำ IT เข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ การประยุกต์ใช้ IoT (Internet of Things) เทคโนโลยี Big Data การปฏิรูประบบการจ้างงานและสร้างความแข็งแกร่งด้านทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปมหาวิทยาลัยและนวัตกรรมให้มีความร่วมมือกับต่างชาติมากขึ้น การสร้างสังคม IT มาตรฐานสูงที่สุดในโลก การเพิ่มความแข็งแกร่งของความสามารถแข่งขันในตลาดโลกของญี่ปุ่น และการสร้างการพัฒนาและปฏิรูปโครงสร้างท้องถิ่น นวัตกรรมของนักธุรกิจ SME
(2) แผนการสร้างตลาดยุทธศาสตร์ โดยมีหัวข้อหลักในการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างการมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี การจัดสรรพลังงานสะอาดและราคาย่อมเยา โครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่ปลอดภัย สะดวกสบายและราคาย่อมเยา และการสร้างท้องถิ่นที่สร้างรายได้จากทรัพยากรท้องถิ่นของตน และ
(3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับนานาชาติ เช่น การส่งออกธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการ Cool Japan
3.2 ภายหลังจากการปรับ ครม.ของ นรม.Abe
เมื่อเดือน ต.ค. 58 รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศนโยบาย Abenomics ระยะที่ 2 โดยมีลูกศร 3 ดอกใหม่ ที่มีเป้าหมายในปี 2563 ได้แก่
(1) ศก.เข้มแข็ง (GDP 600 ล้านล้านเยน)
(2) การช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร (เป้าหมายอัตราการเกิด ร้อยละ 1.8) และ
(3) การประกันสังคม (ให้อัตราการให้จำนวนคนที่ต้องลาออกจากงานเพื่อดูแลผู้สูงอายุเป็นศูนย์) เพื่อสร้างสังคมที่มีชีวิตชีวา
ทั้งนี้ รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนเพิ่มมูลค่า GDP ถึง 600 ล้านล้านเยน ภายในปี 2563 ซึ่งจะต้องเพิ่ม GDP อีกราว 110 ล้านล้านเยนจากระดับปัจจุบัน โดยการกระตุ้นรายได้ในภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่
- การท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นระดับ 30 - 40 ล้านคน ซึ่งจะสร้างมูลค่าการบริโภค 5 - 8 ล้านล้านเยน โดยจะขยายการเปิดรับบริการสายการบินราคาประหยัด (LCC) นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง คกก.ส่งเสริมประเทศให้เป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว โดยมี สนง.นรม. เป็นหน่วยงานหลัก มีนาย Yoshihide Suga เลขาธิการ ครม. เป็น ปธ. และรมว.MLIT เป็นรอง ปธ.
- การกระตุ้นรายได้ภาค ปชช. โดยดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 หรือผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง รบ. ได้เรียกร้องให้ภาค ศก. ปรับเพิ่มค่าจ้างให้มากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าการบริโภคราว 60 ล้านล้านเยน และเพิ่มการลงทุนสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ในมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านเยน
- คตล. TPP คาดว่าจะส่งผลดีต่อ ศก. มูลค่า 25 ล้านล้านเยน โดยจะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อ Wagyu และการส่งเสริมการลงทุนใน ตปท. ของ SME ญป.
- การส่งเสริมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนราว 10 ล้านล้านเยน
- การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยตั้งเป้า งปม.สำหรับการค้นคว้าและวิจัย 26 ล้านล้านเยน ในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้ หรือประมาณร้อยละ 1 ของ GDP เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
3.3 เมื่อ 16 ธ.ค. 58 รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศปรับปรุงอัตราภาษีสำคัญต่าง ๆ เพื่อช่วยในการกระตุ้น ศก.ญี่ปุ่น ในระยะต่อจากนี้ ได้แก่
- ลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 32.11 ในปัจจุบันลงเหลือร้อยละ 29.97 ในเดือน เม.ย. 59 ซึ่งจะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ และฝรั่งเศส และใกล้เคียงกับเยอรมนี และคาดว่าจะมีการปรับลดอีกครั้งในปี งปม.2561 ให้เหลือร้อยละ 29.74 ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเยน นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดอัตราภาษีการซื้อเครื่องจักรให้แก่ SME ลงร้อยละ 50 ในระยะ 3 ปี ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการขยายการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น และยังช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ภายหลัง TPP มีผลใช้บังคับ
- ลดอัตราภาษีรายได้ให้สำหรับครัวเรือนที่บริโภคยาและเวชภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดมากกว่า 12,000 เยนต่อปี เพื่อลดภาระคนวัยทำงานที่ไม่มีเวลาในการไป รพ. เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยเริ่มตั้งแต่ ม.ค. 60
- ลดอัตราภาษีรายได้ให้สำหรับผู้ที่ซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านสำหรับให้บุตรหลานมาอาศัย ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากกว่า 2.5 ล้านเยน โดยเริ่มตั้งแต่ เม.ย. 59
- ลดอัตราภาษีอสังหาริมทรัพย์แก่เกษตรกรที่กู้ยืมเงินจากธนาคารควบคุมพื้นที่การเกษตรลงครึ่งหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่ เม.ย. 59 และเพิ่มอัตราภาษีอสังหาริมทรัพย์ต่อผู้ปล่อยที่ดินสำหรับการเกษตรให้รกร้างขึ้น 1.8 เท่า โดยเริ่มตั้งแต่ เม.ย. 60 เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
- ยกเลิกภาษีการครอบครองรถยนต์ในเดือน เม.ย. 60 และใช้ระบบภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราร้อยละ 3 โดยหากซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับการยกเว้นอัตราภาษี
- ในการขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือน เม.ย. 60 จะยกเว้นการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น เครื่องดื่ม ขนม อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส และอาหารสด เช่น ข้าว ผัก เนื้อ ไข่ อาหารทะเล (แต่ไม่รวมอาหารในร้านอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) และ นสพ. เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเยน