ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


มาตรการเร่งด่วนต่อนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ ปชช.ทุกภาคส่วนของญี่ปุ่น

12/01/2016

เมื่อ 30 พ.ย. 58 นาย Katsunobu Kato รมว.ประจำ สนง.ครม.ญี่ปุ่น (รับผิดชอบเรื่องการมีส่วนร่วมของ ปชช.ทุกภาคส่วนของญี่ปุ่น) ได้บรรยายเกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนต่อนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ ปชช.ทุกภาคส่วนของญี่ปุ่น (Urgent Action Plan to Promote Dynamic Engagement of All Citizens) ณ Foreign Press Center Japan (FPCJ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. เมื่อ 26 พ.ย.58 นรม. Abe ได้ประกาศว่า นโยบาย Abenomics ได้เข้าสู่ระยะที่ 2
โดยการดำเนินงานของ Abenomics ระยะที่ 1 สามารถผลักดัน ศก.ญป. หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่ยาวนานกว่า 20 ปี และทำให้ตัวเลขทาง ศก. ในด้านต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น เช่น การจ้างงานสตรีที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 1 ล้านคน อัตราการเพิ่มค่าจ้างที่ร้อยละ 2.2 ผลประกอบการบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประเด็นท้าทาย ได้แก่ ภาวการณ์บริโภคและการลงทุนซึ่งยังไม่เพิ่มสูงขึ้นเท่าที่ควร และการที่ญี่ปุ่นประสบภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากปัญหาการลดลงของอัตราการเกิดและจำนวนประชากรวัยทำงาน

2. รบ. ญี่ปุ่น จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุของ ญป.
ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเติบโตทาง ศก. โดยใช้มาตรการ Promoting Dynamic Engagement of All Citizens ซึ่งหมายถึง การกระตุ้นให้ประชากรญี่ปุ่นในทุกภาคส่วนของสังคมสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่มีความกังวล และสตรี คนวัยชรา ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือพิการ ได้มีความฝันและความหวังในการมีความเป็นอยู่ที่ดี

3. รบ.ญี่ปุ่น ได้กำหนดธนู 3 ดอก ขึ้นใหม่ ในนโยบาย Abenomics ระยะที่ 2
ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นสังคมดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนญี่ปุ่น ดำรงชีวิตอย่างมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ได้แก่

(1) ศก. ที่แข็งแกร่ง โดย GDP ในปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ 600 ล้านล้านเยน
ซึ่งจะนำไปสู่ความหวัง โดยจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้มีการเพิ่มค่าจ้างและปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ลดภาษีนิติบุคคล โดยตั้งเป้าให้มีการปรับเพิ่มค่าแรกขั้นต่ำร้อยละ 3 ต่อปี จากระดับค่าเฉลี่ย 798 เยน / ชม. ในปัจจุบัน ให้อยู่ที่ระดับ 1,000 เยน / ชม. และบังคับใช้มาตรการด้านภาษีอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน

(2) การช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรที่ช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิตในอนาคต
เพื่อกระตุ้นให้คู่สมรสต้องการมีบุตร สามารถประกอบอาชีพและเลี้ยงดูบุตรไปได้พร้อมกัน อันจะนำไปสู่เป้าหมายในการเพิ่มอัตราการเกิดให้ได้ร้อยละ 1.8 โดยจะออกมาตรการช่วยเหลือให้บริษัทต่าง ๆ จัดตั้งศูนย์สำหรับรับเลี้ยงบุตรภายในองค์กร และตั้งเป้าให้สามารถรองรับการเลี้ยงดูบุตรได้เพิ่มขึ้น 5 แสนคน ภายในสิ้นปี งปม. ค.ศ. 2017 นอกจากนี้ ยังพยายามนำเทคโนโลยีและ IT เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อลดภาระด้านธุรการของผู้เลี้ยงเด็ก รวมทั้งมีมาตรการด้านภาษี เช่น การยกเว้นค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่พนักงานบริษัทในช่วงก่อนและหลังคลอดบุตร

(3) การประกันสังคมที่สร้างความเชื่อมั่น
ได้แก่ การลดอัตราการว่างงานของผู้ที่ต้องดูแลพยาบาลผู้สูงอายุในครอบครัวให้เหลือร้อยละ 0 ด้วยการปรับปรุงมาตรการด้านการประกันสังคม การแพทย์ และการช่วยเหลือจัดหางานแก่ผู้สูงอายุหรือคนพิการ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุในครอบครัวต้องลาออกจากงาน จะออกมาตรการเพื่อปรับเพิ่มค่าตอบแทนในช่วงหยุดพักงานของผู้มีภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุจากร้อยละ 40 ของเงินเดือนในปัจจุบัน ขึ้นเป็นร้อยละ 67 ของเงินเดือน ซึ่งเทียบเท่าการหยุดพักงานเพื่อเลี้ยงดูบุตร นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสถานเลี้ยงดูผู้สูงอายุให้สามารถรองรับผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้น 400,000 คน ภายในปี งปม.2020

ทั้งนี้ รบ. ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของเอกชน เพราะการดำเนินงานของ รบ. เพียงฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอที่จะช่วยขับเคลื่อน ศก. ได้ทั้งระบบ

4. ช่วงถาม - ตอบ

(1) คำถาม
รบ. มีมาตรการอย่างไรในการเพิ่มประสิทธิผลทาง ศก. สำหรับนโยบาย Abenomics ในระยะที่ 2 เนื่องจากการดำเนินงานนโยบาย Abenomics ในระยะแรกมีการผลักดันมาตรการต่าง ๆ อย่างชัดเจน

รมว.Kato การดำเนินนโยบาย Abenomics ในระยะที่ 2 จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการประเมินผล แต่สำหรับนโยบายเร่งด่วน จะใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคล การส่งเสริมประสิทธิผลในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และในอนาคต จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ การบรรลุข้อตกลงโดยส่วนใหญ่ของ TPP จะช่วยเสริมสร้างด้านการเกษตร และ SME

(2) คำถาม
รบ. จะดำเนินการอย่างไรกับค่าใช้จ่ายด้านการดูแลพยาบาล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ

รมว.Kato รบ. มีแผนจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในปี งปม. ค.ศ. 2015 - 2016 ซึ่งต้องมาจากแหล่งงบประมาณที่มั่นคงและมีความต่อเนื่อง และเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณด้านมาตรการด้านประกันสังคมใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี งปม. ค.ศ. 2014 รบ. สามารถเรียกเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น จึงอาจจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ ตลอดจนการนำรายได้ภาษีบริโภคที่จะเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

(3) คำถาม
ความแตกต่างของบทบาทระหว่าง รมว.ประจำ สนง.ครม. (ดูแลภารกิจ Promoting Dynamic Engagement of All Citizens) รมว.สาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ (MHLW) หรือกระทรวงศึกษาธิการฯ (MEXT) ต่อการดำเนินมาตรการการดูแลพยาบาลผู้สูงอายุ และการลดลงของอัตราการเกิด

รมว.Kato หน้าที่หลักของ สนง.ครม. คือการสรุปแนวทางของนโยบายหลัก เช่น การจัดงานรับฟังความคิดเห็นระหว่าง นรม. กับผู้ประสบปัญหาโดยตรง การพิจารณาสร้างนโยบายที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย จากนั้น จะส่งการประเมินผลการรับฟังความคิดเห็นและหารือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการภายใต้ งปม.ที่ได้รับจัดสรรต่อไป





Back to the list