ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าเขตคิวชู ประจำเดือนกันยายน 2557

09/10/2014

  1. สถานการณ์การค้าในเขตคิวชูและชูโกกุ ในช่วง 7 เดือนแรกของ ปี 57 (ม.ค. - ก.ค.)

    1.1 ภาวะการค้าในเขตคิวชูและชูโกกุโดยรวมมีมูลค่าการค้า 134,223 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการค้ารวมของญี่ปุ่น เป็นการส่งออกมูลค่า 60,893 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และนำเข้ามูลค่า 73,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.48
    1.2 การค้าในเขตคิวชูและชูโกกุกับไทย คิดเป็นมูลค่า 3,501 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปไทยมูลค่า 2,167 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และนำเข้ามูลค่า 1,334 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.18
    1.3 สินค้านำเข้าหลักจากไทยของเขตนี้ ได้แก่ อุปกรณ์โทรศัพท์และอุปกรณ์ไฟฟ้า เลนส์แว่นตาและ เลนส์กล้องถ่ายรูป ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ไก่แปรรูป/กุ้งปรุงแต่ง โครงก่อสร้างอลูมิเนียม และ อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น
    1.4 สินค้าส่งออกไปไทยจากเขตนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีด ทองแดง เครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

  2. ประชาชนยังคงมีความมั่นใจต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การจ้างงาน และรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก สำหรับการใช้จ่ายในภาคการก่อสร้างของภาครัฐ ปรากฏว่าลดลง การก่อสร้างที่อยู่อาศัยยังคงลดลง ทั้งอยู่อาศัยเองและให้เช่า
  3. ยอดขายในห้างสรรพสินค้าและในซุปเปอร์มาเกตยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเสื้อผ้า แต่อาหารเครื่องดื่มขยับตัวดีขึ้น สำหรับยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยังคงชะลอตัวลง ยอดการสั่งซื้อรถยนต์ยังคงลดลง
  4. สำหรับภาคอุตสาหกรรมหลักในเขตคิวชู ประกอบด้วย รถยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเรือยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์เคมีนับว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  5. การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมอื่นๆ มีสัญญาณที่ดีขึ้น และดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 3.5
  6. บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปชั้นนำในเขตชูโกกุ Cross Company Inc. มีแผนจะเร่งย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนซึ่งปัจจุบันเป็นฐานการผลิตหลักของบริษัทเข้าไปยังประเทศอื่นในเอเชียมากขึ้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าแรงในจีน โดยประเทศที่บริษัทมองว่าจะเป็นฐานการผลิตแทนจีน ได้แก่ประเทศที่ยังมีค่าแรงต่ำ เช่น บังกลาเทศ, พม่า และฟิลิปปินส์ เป็นต้น และจะใช้วิธีการจ้างโรงงานผลิตที่ไม่มีปัญหาด้านการกดขี่แรงงานในประเทศดังกล่าว พร้อมกับการตั้งแบรนด์ใหม่ของสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในประเทศเหล่านี้ คือ KOE ซึ่งจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าที่ผลิตตามเงื่อนไข Fairtrade โดยทางบริษัทจะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าพร้อมๆกับการผลักดันแบรนด์ Koe ให้เป็นGlobal Brand ต่อไปด้วย
  7. บริษัท Mazda Motor Corporation ประกาศแผน Consolidating Global Supply System สำหรับรถยนต์นั่ง Mazda 2 รุ่นใหม่ โดยใช้โรงงานผลิตรถยนต์มาสด้าใน 3 ประเทศหลักคือ ญี่ปุ่น ไทย และเม็กซิโก เป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่บริษัททำการผลิตรถยนต์รุ่นเดียวกันพร้อมๆ กันในโรงงาน 3 แห่งที่อยู่คนละประเทศ โดยทางบริษัทรับประกันมาตรฐานและคุณภาพของรถที่ผลิตจากโรงงานในไทยและเม็กซิโกจะอยู่ในระดับเดียวกับรถที่ผลิตจากโรงงานแม่ในญี่ปุ่น ทั้งนี้ Mazda 2 รุ่นใหม่ ที่ผลิตจากโรงงานในไทยจะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและโอเชียนเนียเป็นหลัก



Back to the list