ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาด้านพลังงานในญี่ปุ่น

10/09/2014

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มากถึงร้อยละ 19.2 ของพลังงานทั้งหมด แต่หลังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่โตโฮกุ เมื่อเดือน มี.ค. 2554 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุโรงงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมะไดอิจิ ทำให้ญี่ปุ่นจำต้องระงับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ชั่วคราว และใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก โดยมีการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหาการขาดดุลทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา


นอกจากนี้ ในด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่กำลังประสบปัญหาต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยจำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยเห็นได้จาก ผลการสำรวจจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ METI พบว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2555 ญี่ปุ่นปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ มากขึ้นร้อยละ 7 ปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นแรงผลักดันอีกด้านหนึ่งให้ญี่ปุ่นพยายามนำพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ทดแทน ควบคู่ไปกับความพยายามที่จะนำพลังงานนิวเคลียร์กลับมาใช้ได้โดยเร็ว


ในขณะเดียวกัน พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจของ METI พบว่ามีจำนวนอุปกรณ์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองถึง 10,907 เครื่อง แต่ปัจจุบันมีเครื่องที่ไม่ได้ใช้ผลิตพลังงานจริงถึง 10,524 เครื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการมักจะผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ก็ต่อเมื่อราคารับซื้อจากรัฐบาลสูง แต่ปัจจุบันราคามีแนวโน้มต่ำลง จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาโดยอาจนำระบบการรับซื้อพลังงานทางเลือกในราคาคงที่มาใช้แทนระบบราคาแปรผัน แนวทางการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จึงยังต้องมีการปรับปรุงในระยะต่อไป


นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังพิจารณาการเปิดเสรีตลาดพลังงานไฟฟ้าในครัวเรือนและผู้บริโภคพลังงาน หลังจากถูกผูกขาดโดยบริษัทไฟฟ้าประจำภูมิภาคต่าง ๆ ของญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 60 ปี เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกใช้พลังงานทางเลือกจากผู้ประกอบการในราคาที่ถูกลง อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ผู้ประกอบการไฟฟ้าแห่งญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นว่าในการเปิดตลาดเสรีนั้น จำเป็นต้องเปิดใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อที่จะให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะกรรมการกฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (Nuclear Regulation Authority: NRA) เพื่อสามารถพิจารณานำพลังงานนิวเคลียร์กลับมาใช้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะกรรมการกฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (NRA) เพื่อเป็นกลไกควบคุมมาตรฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปฏิกรณ์ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งพิจารณาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 18 เตา จากทั้งหมด 48 เตาทั่วญี่ปุ่นที่ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่มีความเข้มงวดในระดับสูงที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขึ้นอีกหากเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ โดยมีความเป็นไปได้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนได ในเมืองซัทสึมะ จังหวัดคาโกะชิมะ ของบริษัทผลิตไฟฟ้าคิวชูจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานเป็นแห่งแรก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อรับรองแผนความปลอดภัย และคาดว่าจะเปิดใช้ได้อีกครั้งในฤดูหนาวปีนี้ ในขณะที่ บริษัทไฟฟ้าที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาให้เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่ง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Tomari จังหวัดฮอกไกโด จำต้องขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนด้วยต้องหันมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงต้นทุนสูงแทน


ทางด้านการแก้ปัญหาเพื่อควบคุมอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะไดอิจิล่าสุดนั้น บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้เริ่มดำเนินมาตรการเบี่ยงเส้นทางเดินน้ำบาดาลในบ่อน้ำบริเวณภูเขารอบอาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะไม่ให้ไหลผ่านใต้โรงไฟฟ้าฯ และตรวจสอบว่าไม่มีปริมาณรังสีในระดับที่เป็นอันตรายก่อนปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อแก้ปัญหาน้ำบาดาลปนเปื้อนซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเมื่อพบว่ามีปริมาณรังสีปนเปื้อนลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังประสบปัญหาการกำจัดน้ำปนเปื้อนรังสีระดับสูง ที่คั่งค้างในทางน้ำใต้ดินบริเวณเตาปฏิกรณ์ปริมาณกว่า 11,000 ตัน ซึ่งหากรั่วไหลจะกลายเป็นมลพิษในทะเล บริษัทแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งท่อแช่แข็งเพื่อให้น้ำปนเปื้อนรังสีแข็งตัว และมีการใช้น้ำแข็งและน้ำแข็งแห้งกว่า 400 ตัน แต่ยังไม่สามารถแช่แข็งน้ำปนเปื้อนได้อย่างสมบูรณ์ด้วยอากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนปีนี้ นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสี ALPS เพิ่มเติมเพื่อให้บำบัดน้ำได้มากขึ้นจาก 750 ตันต่อวันเป็น 2,000 ตันต่อวัน




Back to the list