ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายการส่งออกระบบโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่น
09/03/2016
1.
การดำเนินนโยบายการส่งออกระบบโครงสร้างพื้นฐานของ รบ.ญี่ปุ่น
- ในการแถลงข่าวครั้งแรกของปี 2559 เมื่อ 4 ม.ค. 59 นรม. Abe ได้กล่าวถึงการฟื้นฟู ศก.ญี่ปุ่น ของ รบ. ว่า ยังอยู่ระหว่างครึ่งทางของการดำเนินการ แต่ ศก. ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดแล้ว และยังกล่าวถึงความสำคัญของความไม่ย่อท้อของ SME ญี่ปุ่น ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีคุณภาพสูงมาโดยตลอด ซึ่งมีส่วนช่วยนำพาความมั่งคั่งมาสู่ญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการส่งออกระบบโครงสร้างพื้นฐานใน ตปท. เช่น ระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟแบบปกติ ท่าเรือ อวกาศ การถ่ายทอดสัญญาณและสื่อสาร รวมไปถึงธุรกิจที่น่าจับตามองและญี่ปุ่นน่าจะมีศักยภาพ ได้แก่ บริการด้านการแพทย์ ไปรษณีย์ และระบบการประมวลผล
- Key Persons ของญี่ปุ่นในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ได้แก่ ตัวของ นรม. Abe เอง รวมทั้ง นาย Yoshihide Suga ลขธ.ครม.ญี่ปุ่น / นาย Hiroto Izumi ทปษ.พิเศษ นรม. โดย นรม. หรือ ผู้แทนระดับสูงใน
ครม. ญี่ปุ่น จะทำหน้าที่โน้มน้าวบุคคลสำคัญของประเทศนั้น ๆ และนาย Izumi จะทำหน้าที่ประสานกับ JICA และ JBIC และทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของ นรม. ในการเดินทางไปยังประเทศนั้น ๆ เพื่อทำการเจรจา/โน้มน้าว โดย นรม. Abe ทราบข้อมูลมูลค่าของกิจการระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกตามการคาดการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศว่า จะมีมูลค่าการลงทุนทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 2000 – 2030 ประมาณ 71 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเอเชียในช่วงปี ค.ศ. 2010 – 2020 ประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งญี่ปุ่นจะตกขบวนไม่ได้
- แม้กระนั้น ในปี 2558 ญี่ปุ่นกลับพลาดโอกาสในโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซียให้กับจีน เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองต่อเงื่อนไขของ ปธน.อินโดนีเซีย ที่ต้องการลดภาระด้านการเงินของภาครัฐในโครงการดังกล่าวให้น้อยที่สุด และยังมีข่าวลือว่า ข้อมูลการศึกษาและการสำรวจเส้นทางและสถานีรถไฟในโครงการดังกล่าวที่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นคนจัดทำ มีการรั่วไหลไปสู่ฝ่ายจีน ซึ่งคนรอบตัวของ นรม. Abe กล่าวว่า นรม. Abe มีความไม่พอใจที่พลาดโครงการนี้เป็นอย่างมาก
- อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ผลงานที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอินเดีย ซึ่ง นรม. Abe ได้ติดต่อกับ นรม.อินเดีย อย่างสม่ำเสมอจนสามารถบรรลุเงื่อนไขการลงทุน นอกจากนี้ ยังได้เห็นพ้องในความตกลงการส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์และอุปกรณ์ด้านกลาโหมระหว่างการหารือร่วมกันเมื่อเดือน ธ.ค. 58 ด้วย
- ความเคลื่อนไหวในการดำเนินโครงการพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของจีนและญี่ปุ่นมีความเด่นชัดและเห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และได้เปิดทำการแล้วเมื่อ 16 ม.ค. 59 รวมทั้งเทคนิคการต่อรองและการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ของจีน ซึ่งใช้ประเด็นทางการเมืองเข้ามาเป็นข้อต่อรองด้วย ซึ่งแกนนำพรรค LDP ของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่า เคยได้รับการบอกกล่าวจากฝ่ายเมียนมาว่า เกรงกลัวการกลั่นแกล้งของจีนหากปฏิเสธข้อเสนอ
2.
การแก้ไขกฎหมายของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC)
- เมื่อ 7 ม.ค. 59 กค.ญี่ปุ่น ได้เปิดเผยเนื้อหาการแก้ไขร่างกฎหมายของ JBIC เพื่อรองรับกรอบการลงทุนใหม่ให้ JBIC สามารถให้เงินกู้ระยะยาวมากกว่า 1 ปี แก่ข้อเสนอโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานใน ตปท. ในสกุลเงินท้องถิ่น ให้แก่โครงการที่ได้รับการประเมินว่าน่าจะมีผลประกอบการที่ดีแม้จะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม
- ที่ผ่านมา JBIC สามารถให้เงินกู้ได้เฉพาะข้อเสนอโครงการที่ประเมินว่าจะได้ผลกำไรเท่านั้น ซึ่งโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ที่ JBIC สามารถปล่อยกู้ได้ในช่วงที่ผ่านมาจะกระจุกตัวอยู่ในโครงการด้านพลังงาน
- วัตถุประสงค์ในการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้บริษัทญี่ปุ่นในเอเชียสามารถจัดหาเงินทุนในสกุลเงินท้องถิ่นได้สะดวกขึ้น และแบ่งเบาภาระความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน อันจะช่วยกระตุ้นการลงทุน ตลอดจนมุ่งหวังคานอำนาจกับจีนที่กำลังเพิ่มบทบาทในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียมากขึ้น โดย กค.ญี่ปุ่น จะจัดสรร งปม. ให้แก่ JBIC ในกรอบการลงทุนดังกล่าว มูลค่า 3.3 หมื่นล้านเยน ซึ่ง บริษัทที่จะได้รับผลประโยชน์จากการผ่อนปรนเงื่อนไขของ JBIC ไม่ได้จำกัดเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนิติบุคคลญี่ปุ่นที่จำหน่ายสินค้า การช่วยเหลือด้านการเงินด้วยวิธีของอิสลาม หรือกิจการให้เช่าอุปกรณ์ที่ผลิตในญี่ปุ่นอีกด้วย
3.
ความเคลื่อนไหวในการส่งออกระบบรถไฟความเร็วสูงที่สำคัญของญี่ปุ่นในต่างประเทศ (เพิ่มเติมจากที่ได้รายงานในโทรเลขที่อ้างถึง ข้อ 2.2) ดังนี้
(1) เส้นทางวอชิงตัน – บัลติมอร์ ระยะทาง 70 กม. ซึ่ง รบ.สหรัฐฯ ได้ตัดสินให้เงินช่วยเหลือมลรัฐแมรี่แลนด์ในการสำรวจข้อมูลโครงการแล้ว และ JR Central กำลังเริ่มพิจารณากำหนดเส้นทาง โดยจะนำขบวนรถไฟแบบ Linear Motor Car มาใช้
(2) เส้นทางดัลลาส – ฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส ระยะทาง 390 กม. วงเงินก่อสร้าง 1.8 ล้านล้านเยน ซึ่งขณะนี้บริษัทท้องถิ่นของสหรัฐฯ ได้แก่ บริษัท Texas Central Partners ได้ดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีของ JR Central ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต่อจากนี้ในการวางแผนโครงการและกำหนดเส้นทางในรายละเอียด และคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานได้ในปี ค.ศ. 2022 อย่างไรก็ดียังมีประเด็นเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนของโครงการซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ล่าสุด โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติเงินทุนสนับสนุนจาก Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (JOIN) จำนวน 4.8 พันล้านเยน เมื่อเดือน พ.ย. 58
(3) โครงการรถไฟความเร็วสูง HS2 ของสหราชอาณาจักร ระยะทาง 530 กม. ซึ่งบริษัท Hitachi Ltd. มีความสนใจเข้าร่วม และกำลังพัฒนารถไฟความเร็วสูง AT-400 ตามมาตรฐานของยุโรป มีความเร็วมากกว่า 360 กม./ชม. และใช้เทคโนโลยีด้าน Internet of Things (IoT) และ Artificial Intelligence (AI) ในการประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การคาดการณ์ความชำรุดอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ราวร้อยละ 10 โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว ในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าโครงการประมาณ 55,700 ล้านปอนด์ (9.3 ล้านล้านเยน) โดยคู่แข่งของ Hitachi ในโครงการนี้ ได้แก่ จีน รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านรถไฟความเร็วสูงของโลก 3 แห่ง ได้แก่ Alstom ของฝรั่งเศส / Siemens ของเยอรมนี / Bombardier ของแคนาดา ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Hitachi เคยได้รับสัมปทานการผลิตขบวนรถไฟของสหราชอาณาจักร จำนวน 866 ตู้
(4) อื่น ๆ บริษัท Kawazaki Heavy Industries กำลังพัฒนารถไฟความเร็วสูง 350 กม./ชม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันโครงการประมูลการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงใน ตปท.