ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


ยุทธศาสตร์การเติบโตฉบับใหม่ (New Growth Strategy) ของรัฐบาลญี่ปุ่น

03/07/2014

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2557 ครม.ญี่ปุ่น ได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การเติบโตฉบับใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกศร 3 ดอก ภายใต้ Abenomics โดย นรม.อาเบะ กล่าวว่าหากดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวสำเร็จ ก็จะสร้างวงจรการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว และนำไปสู่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนญี่ปุ่น โดยแผนดังกล่าวได้รับการปรับปรุงจากแผนยุทธศาสตร์การเติบโตที่ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 ผ่านการหารืออย่างเข้มข้นในเชิงนโยบายในการประชุมพิเศษต่าง ๆ ภายในรัฐบาล ได้แก่ การประชุมส่งเสริมการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม การประชุม คกก. ด้านเศรษฐกิจและการคลัง การประชุมปฏิรูปกฎระเบียบ การประชุม คกก. เรื่องเขตยุทธศาสตร์พิเศษแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้


  1. มาตรการด้านการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

    1.1 การใช้ประโยชน์จากแรงงานสตรีและชาวต่างชาติ เพื่อเตรียมพร้อมการลดลงของประชากรญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น

    • การเพิ่มสัดส่วนประชากรผู้หญิงในประชากรแรงงานให้อยู่ที่ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยขอรับความร่วมมือจากสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (JCCI)
    • การทบทวนระบบประกันสังคมและระบบภาษีเพิ่มส่งเสริมการทำงานของประชากรสตรี ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2014
    • การสร้างอาชีพ "ผู้ช่วยเหลือรับเลี้ยงดูบุตร" สำหรับกลุ่มแม่บ้านที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูบุตร โดยจะกำหนดมาตรฐานการรับรองใบประกาศวิชาชีพดังกล่าว ภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 2015
    • กำหนดข้อบังคับสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐให้เพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารสตรีมากขึ้น และจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ทราบ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ ค.ศ. 2014
    • สนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นรับนักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นที่มีผลการเรียนและทักษะสูงเข้าทำงานมากขึ้น
    • ขยายขอบเขตระยะเวลาสูงสุดในการรับผู้ฝึกงานด้านเทคนิคจากต่างชาติ เช่น ในสาขาการดูแลผู้สูงอายุ สาขาพยาบาลและสาขาบริการที่สำคัญ จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี โดยจะใช้บังคับภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 2015
    • กำหนดระบบการใช้แรงงานต่างชาติในสาขาการก่อสร้างและการต่อเรือ ซึ่งมีอุปสงค์ที่สูงในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกของกรุงโตเกียว ค.ศ. 2020 และขยายระยะเวลาการรับแรงงานเป็น 5 - 6 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ค.ศ. 2015

    1.2 การเสริมสร้างสามารถในการสร้างผลกำไร

    • การจัดตั้งการประชุม คกก.ส่งเสริมการร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการแนะนำการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทกิจการการค้าร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2014
    • การจัดทำแผนการสนับสนุนด้านการลงทุนแก่บริษัทญี่ปุ่น ภายในกลางปี ค.ศ. 2015
    • การปฎิรูปการบริหารงานของกองทุนบริหารเงินบำนาญของรัฐบาล (Government Pension Investment Fund: GPIF) โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นให้มากขึ้นได้ จากที่ปัจจุบันถือครองพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ภายในเดือน ก.ย. - ต.ค. ค.ศ. 2014 และจะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลที่ดี โดยปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการกองทุนที่ปัจจุบันมีหน้าที่เบ็ดเสร็จในการตัดสินแนวทางการบริหาร เป็นการจัดตั้งคณะทำงานและให้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนช่วยตรวจสอบ

    1.3 การสร้างฟันเฟืองสำหรับการเติบโต

    • การจัดงานโอลิมปิกหุ่นยนต์ในปี ค.ศ. 2020
    • การจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมการส่งออกรายประเภทสินค้า เช่น เนื้อวัว และใบชา ตั้งแต่ปีงบประมาณ ค.ศ. 2015
    • การสร้างระบบสำหรับบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นให้แก่นิติบุคคลด้านการแพทย์ เพื่อให้เกิดการแบ่งงานกันทำด้านการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 2015

    1.4 การเสริมสร้างสามารถในการสร้างผลกำไร

    • การนำเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยแล้วกลับมาใช้ใหม่
    • การแยกองค์กรการผลิตไฟฟ้าและการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าออกจากกัน
    • การลดภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการนำพลังงานทางเลือกมาใช้

  2. มาตรการด้านเศรษฐกิจและการคลัง

    • การลดภาษีนิติบุคคลเพื่อสร้างเสริมบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศในญี่ปุ่น จากระดับปัจจุบัน (เช่น ร้อยละ 35.64 ในกรุงโตเกียว) ตั้งแต่ปีงบประมาณ ค.ศ. 2015 เป็นระยะ ๆ จนลงมาเหลือต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยเริ่มแรกจะลดระดับลงมาเหลือประมาณร้อยละ 29 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเยอรมนี (ซึ่งมีอัตราภาษีนิติบุคคลเฉลี่ยที่ร้อยละ 29.59) และจะไม่ลดระดับจนต่ำเกินไปเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของเอกชนญี่ปุ่น
    • จัดทำแผนนโยบาย (blueprint) ด้านเศรษฐกิจและการคลังโดยละเอียด
    • พิจารณาใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อรับมือการหดตัวของการบริโภคจากการลดลงของประชาการ และพยายามรักษาระดับจำนวนประชากรให้เกินระดับ 100 ล้านคนให้ได้ในช่วง 50 ปี ต่อจากนี้
    • จะพยายามทำให้ดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) กลับมาเกินดุลได้ภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 2020

  3. มาตรการเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎระเบียบ

    3.1 การจ้างงาน

    • การปรับรูปแบบการประเมินเงินเดือนของผู้ประกอบวิชาชีพที่ใช้ความเชี่ยวชาญและได้รับเงินเดือนสูงเกินกว่า 10 ล้านเยน (ประมาณ 3.2 ล้านบาท) ต่อปี จากการประเมินโดยระยะเวลา (จำนวนชั่วโมง) ในการทำงาน เป็นการประเมินตามคุณภาพผลงานเป็นหลัก โดยจะหารือกันระหว่างหน่วยงานด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอกฎหมายให้ที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญพิจารณาในปี ค.ศ. 2015

    3.2 การเกษตร

    • การปฏิรูปสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น โดยการลดอำนาจของสหภาพการเกษตรและสหกรณ์ญี่ปุ่น (Central Union of Agricultural Co-operatives: JA Zenchu) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลภาพรวมด้านนโยบายและการบริหารสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นทั่วประเทศ และเปลี่ยนรูปแบบองค์กรของสมาพันธ์การเกษตรและสหกรณ์แห่งชาติ (National Federation of Agricultural Co-operative Associations: JA Zenno) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการตลาดและการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นบริษัทมหาชน เพื่อให้สหกรณ์การเกษตรท้องถิ่นของญี่ปุ่นสามารถดำเนินกิจการในรูปแบบใหม่ ๆ ได้สะดวกขึ้น ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะเสนอร่างกฎหมายในที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญในปีงบประมาณ ค.ศ. 2015
    • พิจารณาผ่อนปรนข้อบังคับในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินการทำเกษตรของภาคเอกชน ในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ โดยจะเสนอร่างกฎหมายในที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญในปีงบประมาณ ค.ศ. 2015
    • เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าด้านการเกษตรของญี่ปุ่นให้ถึงระดับ 5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ภายในปี ค.ศ. 2030

    3.3 การแพทย์

    • การสร้างระบบนิติบุคคลในรูปแบบ Holdings Company ที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อบริหารโรงพยาบาลและสถานพยาบาลหลายแห่งได้ในคราวเดียว
    • การสร้างระบบการแพทย์แบบผสมผสาน ที่สามารถเลือกได้ระหว่างการรักษาโดยการใช้ประกันสุขภาพและไม่ใช้ประกันสุขภาพได้มากขึ้น ในช่วงปีงบประมาณ ค.ศ. 2016

    3.4 การท่องเที่ยว

    • การให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่ครบวงจร โดยมีคาสิโนรวมอยู่ด้วย
    • การพิจารณาผ่อนปรนกฎระเบียบการออกการตรวจลงตราให้แก่คนในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น และเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนการเข้า-ออกประเทศญี่ปุ่น

  4. มาตรการภายในเขตยุทธศาสตร์พิเศษแห่งชาติ ซึ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในญี่ปุ่น

    • การเปิดรับชาวต่างชาติให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทและทำงานในอาชีพคนรับใช้ภายในบ้าน โดยจะจัดทำร่างกฎหมายหลังช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2014
    • การจัดตั้งศูนย์บริการ one-stop service ที่ดูแลเรื่องการลงทะเบียนและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งบริษัท ภายในเขตยุทธศาสตร์พิเศษแห่งชาติ ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2014
    • การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบในการจูงใจสถาบันการเงินต่างชาติให้เข้ามาในญี่ปุ่น โดยจะจัดทำร่างกฎหมายหลังช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2014


ข้อสังเกต

  1. ภายหลังการประกาศแผนยุทธศาสตร์การเติบโตดังกล่าว ภาคเอกชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้การตอบรับในทางที่ดี โดยชื่นชมที่มีการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์เดิมให้ดีขึ้น โดยมีแนวนโยบายที่ดีและแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของ นรม.อาเบะ ทำธุรกิจเป็น แต่มาตรการพื้นฐานที่ประกาศออกมาเป็นมาตรการที่ได้ประกาศมาเป็นระยะ ๆ ในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีความแปลกใจเท่าใดนัก
  2. ประเด็นที่ยังมีการถกเถียงคือ เรื่องการลดภาษีนิติบุคคลตามนัยข้อ 2 ว่าอัตราร้อยละ 29 จะมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะแม้ว่าการลดอัตราภาษีฯ จะมีผลดีให้บริษัทต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น แต่การลดภาษีนิติบุคคลลงทุกร้อยละ 1 จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีที่ลดลงประมาณ 470,000 ล้านเยน ซึ่งการลดภาษีนิติบุคคลจนถึงร้อยละ 29 จะทำให้มีรายได้จากภาษีลดลง 3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 0.96 ล้านล้านบาท) และหากจะลดถึงร้อยละ 25 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับจีนและเกาหลีใต้ ก็จะทำให้รายได้จากภาษีลดลง 5 ล้านล้านเยน ในขณะที่ ก.ศก.การค้า และ อก.ญี่ปุ่น (METI) ได้เปิดเผยผลการศึกษาว่าหากญี่ปุ่นลดภาษีนิติบุคคลลงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าประเทศในเอเชีย จะทำให้มีบริษัทจากต่างชาติมาลงทุนมากขึ้นและบริษัทญี่ปุ่นส่วนหนึ่งกลับมาลงทุนและดำเนินกิจการในญี่ปุ่นดังเดิม ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ GDP ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 7 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) ในช่วง 3 – 5 ปี และกลับทำให้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านเยน (จากจำนวนบริษัทที่เข้ามาลงทุนมากขึ้น) แต่หากยังคงอัตราภาษีนิติบุคคลในระดับปัจจุบัน จะทำให้ GDP ญี่ปุ่นลดลง 17 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) และรายได้จากภาษีลดลง 4.1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) จากการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มากขึ้นของบริษัทญี่ปุ่น




Back to the list