สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเดือน ต.ค. 58 - ก.พ. 59
09/03/2016
1.
การประกาศอัตราการเติบโตทาง ศก.ญี่ปุ่น ประจำงวดเดือน ต.ค. - ธ.ค. 58
- เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 59 รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ Real GDP ญี่ปุ่น ประจำงวดเดือน ต.ค. - ธ.ค. 58 ว่า หดตัวลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (QoQ) และหดตัวลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส
- ปัจจัยหลักที่ทำให้ Real GDP หดตัว ได้แก่ (1) การบริโภคส่วนบุคคลลดลง ร้อยละ 0.8 QoQ เช่น ยอดจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มฤดูหนาวตกต่ำเนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่น แนวโน้มการออมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอันจะเห็นได้จากยอดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ลดลง เนื่องจากอัตราขยายตัวของรายได้ต่อหัวยังคงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ขณะที่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) การลงทุนในที่พักอาศัย ลดลงร้อยละ 1.2 QoQ เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส / การลงทุนของภาครัฐ ลดลงร้อยละ 2.7 และ (3) การส่งออก ลดลง ร้อยละ 0.9 QoQ จากการชะลงตัวของ ศก. จีนและ ปท. กำลังพัฒนา ขณะที่ ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อ Real GDP ได้แก่ การลงทุนของภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 QoQการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 1.4 และการบริโภคจากนักท่องเที่ยว ตปท. ในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถแข็งแรงพอที่จะทำให้อัตราการเติบโต GDP เป็นบวกได้
- อนึ่ง ในวันเดียวกัน รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ Real GDP ประจำปี 2558 ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมูลค่า GDP ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 499.4 ล้านล้านเยน ซึ่งยังค่อนข้างห่างไกลจากเป้าหมายของ นรม.อาเบะ ที่ตั้งเป้าให้อัตราการเติบโตของ Real GDP อยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นถึง 600 ล้านล้านเยน ภายในปี 2563 อยู่พอสมควร
- นรม. Abe แถลงว่า ศก. ญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดแล้ว และพื้นฐาน ศก. ยังคงมั่นคง แม้ว่าทุกครั้งที่ ศก.โลกชะลอตัว ศก.ญี่ปุ่น จะแสดงสัญญาณของการหดตัวอยู่บ้าง แต่ รบ. มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความผิดพลาดของการดำเนินนโยบาย Abenomics แต่ที่ผ่านมา รบ.ก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
- นาย Yoshihide Suga เลขาธิการ ครม.ญี่ปุ่น กล่าวว่า พื้นฐาน ศก. ของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ดี โดยการลงทุนด้านอุปกรณ์สิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น ผลประกอบการของบริษัทและอัตราการจ้างงานอยู่ในมาตรฐานสูง
- ด้านนาย Nobuteru Ishihara รมว.ประจำ สนง.ครม.ญี่ปุ่น (ดูแลการฟื้นฟู ศก.) (ซึ่งรับตำแหน่งแทนนาย Akira Amari ที่ลาออกไป) ได้แถลงว่า ศก. ญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะจับตาดูทิศทางของประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน และความเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม
2.
ความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของ ศก.ญี่ปุ่น ในระยะที่ผ่านมา
- ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) ใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบตั้งแต่ 16 ก.พ. 59 ปรากฏว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งแสดงถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากการถือพันธบัตร รบ. ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลงไปต่ำสุดที่ร้อยละ -0.065 ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 59
- ขณะที่ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ลงไปต่ำสุดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 59 ที่ 14,952.61 เยน โดยเคลื่อนไหวในช่วง 16,000 – 17,000 เยน ในปัจจุบัน และค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากที่แข็งค่าที่ระดับประมาณ 110 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงวันที่ 12 ก.พ. 59 โดยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 112 - 114 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดการเงินคาดหวังผลบวกจากการใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ว่าจะสามารถช่วยกระตุ้น ศก. ญี่ปุ่น ได้ แม้ว่าตัวเลข ศก. ประจำงวดเดือน ต.ค. – ธ.ค. 58 จะไม่สดใส
3.
มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต่อ ศก.ญี่ปุ่น
- Fujitsu Research Institute ให้ความเห็นว่า ศก.ญี่ปุ่นยังอยู่ในสภาวะที่น่าพึงพอใจ โดยมีการผลักดันมาตรการทาง ศก. อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง แต่แนวโน้มของ ศก. ญี่ปุ่น จะขึ้นอยู่กับทิศทางของ ศก.โลก ด้วย และคาดว่าคงจะมีกระแสกดดันเพิ่มขึ้นให้ รบ. เสนอร่างแนวทางการปฏิรูป ศก. อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ด้านนักลงทุนดูไม่ให้ความสำคัญกับการหดตัวของ GDP เท่าใดนัก เนื่องจากดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ไม่ได้หดตัวลดลง
- นาย Rupert Wingfield-Hayes ผู้สื่อข่าว BBC ประจำกรุงโตเกียว วิเคราะห์ว่า ธนู 3 ดอกของ Abenomics ประสบความสำเร็จทำให้เงินเยนอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา โดยนรม.อาเบะ และเหล่าที่ปรึกษาทราบดีว่า การผลักดันการเติบโตทาง ศก. ที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นและจะช่วยฟื้นฟู ศก. ญี่ปุ่นได้โดยง่าย คือ การขยายการส่งออก
- Japan Macro Advisors กล่าวว่า ผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งไม่มั่นใจต่อ ศก.ญี่ปุ่น ในระยะยาว โดยกังวลว่าเมื่อแรงกระตุ้นจากนโยบาย Abenomics หมดลง ภาวะ ศก. เงินฝืดจะกลับคืนมา และการที่จำนวนประชากรแรงงานในญี่ปุ่นลดลงทั้งในระยะกลางและระยะยาว จะทำให้ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าจ้างและเพิ่มการจ้างงานได้ นอกจากนี้ รบ. Abe กว่าครึ่งเป็นฝ่ายขวา จึงไม่ยอมรับแรงงานชาวต่างชาติทั้งที่มีความจำเป็น
- นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ Real GDP งวดเดือน ม.ค. - มี.ค. 59 น่าจะกลับมาเป็นบวกโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 QoQ เนื่องจากการบริโภคส่วนบุคคลที่น่าจะเพิ่มขึ้น จากยอดจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัวจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและราคาต้นทุนวัตถุดิบลดลงจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงิน การบริโภคของนักท่องเที่ยวที่อาจลดลงจากการแข็งค่าของเงินเยน ตลอดจนการลดลงของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะส่งผลด้านลบทางจิตวิทยาของผู้บริโภคทำให้การบริโภคของชนชั้นรายได้สูงชะลอตัว
- เป้าหมายของ รบ. ในการเพิ่มอัตราการเติบโตทาง ศก. ให้ถึงร้อยละ 2 ต่อปี คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก Potential Growth Rate ของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ และไม่สามารถหลุดพ้นจากโครงสร้างทาง ศก. ที่จะเห็นความอ่อนแอเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น การชะลอตัวของ ศก. ใน ตปท. หรือการผันผวนของตลาด
- จากการที่ประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกลุ่มประเทศ G20 ที่กรุงปักกิ่ง ได้ออกแถลงการณ์ด้านนโยบาย ได้ส่งผลในเชิงบวกในด้านจิตวิทยาของนัดลงทุนในระดับหนึ่ง โดยในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่คาดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 14,500 - 18,000 เยน และค่าเงินเยนน่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 108 – 117 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
4.
ความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย ศก. ของ รบ.ญี่ปุ่น
- รบ.ญี่ปุ่น ได้จัดทำการสำรวจผลการดำเนินงานของยุทธศาสตร์การเติบโต (ซึ่งเป็นลูกศรดอกที่ 3 ของนโยบาย Abenomics ระยะแรก) ประจำปี 2556 – 2557 พบว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวของ รบ. กว่าร้อยละ 30 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
|
เป้าหมาย
|
สถานะ
|
ระดับความสำเร็จ
|
การลงทุนอุปกรณ์/สิ่งก่อสร้าง
|
70 ล้านล้านเยน ในปี งปม. 2558
|
68.4 ล้านล้านเยน ในปี งปม. 2557
|
○
|
SME ที่มีผลประกอบการได้ดุล
|
1.4 ล้านบริษัท ในปี งปม. 2563
|
8.06 แสนบริษัท ในปี งปม. 2556
|
○
|
ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
|
ภายใน 3 อันดับในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี งปม. 2563
|
อันดับที่ 24 ในปี 2559
|
×
|
การรองรับการเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน
|
2 แสนคน ในปี งปม. 2556-2557
|
2.19 แสนคน ในปี งปม. 2556-2557
|
○
|
นักท่องเที่ยวต่างชาติ
|
20 ล้านคน ในปี 2563
|
19.74 ล้านคน ในปี 2558
|
○
|
บทบาทของสตรี
|
สัดส่วนของสตรีที่มีหน้าที่ระดับผู้บริหาร ร้อยละ 30 ภายในปี 2563
|
ร้อยละ 8.3 ในปี 2557
|
×
|
การจัดตั้งนิติบุคคลการเกษตร
|
50,000 แห่ง ภายในปี 2566
|
15,300 แห่ง ในปี 2557
|
×
|
ทั้งนี้ รบ. ญี่ปุ่นมีกำหนดสรุปยุทธศาสตร์การเติบโตครั้งที่ 4 ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 59 โดยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างธุรกิจใหม่โดยใช้ประโยชน์จาก Internet of Things / Artificial Intelligence (AI) / หุ่นยนต์ ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รบ. ควรให้ความสำคัญกับการยกเลิกข้อกำหนดที่กีดขวางการขยายตัวของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากกว่าการกำหนดนโยบายที่สวยหรูเท่านั้น
- รบ.ญี่ปุ่น ได้เสนอร่าง งปม. ประจำปี งปม. 2559 มูลค่า 96.7218 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อสภาผู้แทนราษฎร และได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 59 และต่อไปจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบ และมีผลใช้บังคับได้ทันภายในสิ้นเดือน มี.ค. 59 โดยในร่าง งปม. ดังกล่าว จะให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟู ศก. โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ TPP และการป้องกันประเทศ
- นรม. Abe ยังคงยืนยันใน ทปช.คกก.งปม.ของวุฒิสภาเมื่อ 3 มี.ค. 59 ว่า จะยังคงแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือน เม.ย. 60 ตราบใดที่ไม่เกิดวิกฤติ ศก.โลก หรือภัยพิบัติครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้พื้นฐานทาง ศก.เปลี่ยนแปลงไป โดยจนถึงเดือน เม.ย. 60 จะพยายามดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง เพื่อสร้างวงจรในเชิงบวกของ ศก.ต่อไป อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จับตามองและคาดว่า นรม. Abe น่าจะตัดสินใจเรื่องนี้ในขั้นสุดท้ายในช่วงเดือน พ.ค. 59 เนื่องจากจะมีการประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกลุ่ม G7 ในวันที่ 20 – 21 พ.ค. 59 และการประชุมสุดยอด G7 ในวันที่ 26 – 27 พ.ค. 59 ที่ญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นหลักในการหารือ ได้แก่ สถานการณ์ ศก. โลก ซึ่ง นรม. Abe จะได้มีโอกาสรับฟังข้อคิดเห็นและมุมมองต่อทิศทางของ ศก.โลก ในระยะต่อจากนี้จากประเทศสำคัญ ๆ ของโลก และจะต้องรอดูการประกาศอัตราการเติบโต Real GDP ของญี่ปุ่น ประจำงวดเดือน ม.ค. – มี.ค. 59 ซึ่งจะประกาศในวันที่ 18 พ.ค. 59 ด้วย
- รบ.ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่อัตราภาษีผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ในเดือน เม.ย. 60 จะยังคงไม่ปรับเพิ่มอัตราภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ ในช่วงปี งปม. 2560 เป็นเวลา 1 ปี ในอัตราไม่เกิน 100,000 เยน เพื่อลดผลกระทบต่อการบริโภครถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรการลดผลกระทบต่อผู้บริโภคเพิ่มเติมจากที่ได้พิจารณาว่าจะไม่ปรับเพิ่มอัตราภาษีของสินค้าอาหารสดและอาหารแปรรูป และ นสพ. มาก่อนหน้านี้
- เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 59 นาย Yoshihide Suga เลขาธิการ ครม.ญี่ปุ่น แถลงว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับระดับสูงของ ก.คลัง และ BOJ เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดเงินและตลาดทุน และได้ข้อสรุปว่า จะใช้มาตรการที่เหมาะสมเมื่อมีความจำเป็น และจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด และโดยที่ในระยะนี้ เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก จึงกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในลักษณะนี้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง