ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น


แผนยุทธศาสตร์พลังงานของญี่ปุ่น ฉบับที่ 4

17/06/2014

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2557 ครม.ญี่ปุ่น มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์พลังงานฉบับที่ 4 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


  1. ปัญหาด้านอุปสงค์/อุปทานด้านพลังงานของญี่ปุ่น

    • อุปทานด้านพลังงานของญี่ปุ่นอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกอย่างมากเนื่องจากพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศสูง
    • การที่จำนวนประชากรในญี่ปุ่นลดลงและนวัตกรรมด้านการรักษาพลังงานของญี่ปุ่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุปสงค์ต่อพลังงานของญี่ปุ่นในระยะกลางและยาว
    • ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ มี.ค. ค.ศ. 2011 ทำให้มีความกังวลต่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในสังคมญี่ปุ่น และความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ทำให้ค่าไฟฟ้าในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น และก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องมีการประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือนและภาคเอกชน

  2. สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์พลังงาน ฉบับที่ 4 และประเด็นที่มีการปรับปรุง

    • ยังคงยึดหลักพื้นฐานของนโยบายพลังงาน 3E+S ซึ่งได้แก่ Energy Security, Economic Efficiency, Environment และ Safety และปรับปรุงนโยบายพลังงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานโลก โดยเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการแข่งขันของญี่ปุ่นและตลาดพลังงานของญี่ปุ่น
    • สร้างโครงสร้างอุปสงค์-อุปทานด้านพลังงานของญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่น และเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานด้วยการพัฒนาและนำทรัพยากรในประเทศมาใช้ เพื่อลดผลกระทบจากต่างประเทศ
    • แหล่งพลังงานที่ญี่ปุ่นเห็นว่าน่าสนใจ ได้แก่ พลังงานทดแทน (แสงอาทิตย์ ลม ใต้พิภพ น้ำ และชีวมวล) พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LP) นอกจากนี้ ในอนาคต ญี่ปุ่นยังพิจารณาที่จะใช้พลังงานแบบผสม (Energy Mix) ซึ่งรวมถึงการพิจารณาเปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน
    • จะพยายามทำให้ดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) กลับมาเกินดุลได้ภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 2020

  3. นโยบายอุปสงค์-อุปทานด้านพลังงานในแผนยุทธศาสตร์ฯ

    3.1 การส่งเสริมนโยบายพลังงานที่ครบวงจรเพื่อรักษาแหล่งพลังงาน เช่น การส่งเสริมการทูตเชิงทรัพยากร (resource diplomacy) ที่หลากหลายกับประเทศส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ประเทศผู้ผลิต LNG รายใหม่ ๆ เช่น ปาปัวนิวกินี (จะเริ่มส่งออก LNG ไปญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้) ออสเตรเลีย รัสเซีย โมซัมบิก สหรัฐฯ และแคนาดา / การสร้างโครงสร้างอุปสงค์-อุปทานต่อ LNG ที่มั่นคงและยืดหยุ่นโดยมียุทธศาสตร์ในระยะยาวที่จะให้ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของตลาด LNG ในเอเชีย / พัฒนาทรัพยากรใต้ทะเลของญี่ปุ่น เช่น methane hydrate และโลหะหายาก
    3.2 สร้างสังคมประหยัดพลังงาน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานในแต่ละสาขา ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การพาณิชย์ ขนส่งและอุตสาหกรรม
    3.3 การเร่งการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในระยะกลางและยาว โดยจะมีการจัดตั้งการประชุม รมต. ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานทดแทน เพื่อหารือเรื่องนโยบาย และส่งเสริมการใช้ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาการใช้ Energy Mix อนาคต ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการทำ R&D โดยมีแผนสำคัญ ได้แก่

    • การส่งเสริมมาตรการเพิ่มการใช้พลังงานลมและใต้พิภพ เช่น การส่งเสริมโครงการใช้เทคโนโลยีกังหันลมแบบลอยน้ำใน จ.ฟุคุชิมะ และ จ.นากาซากิ นำร่อง และนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ. 2018 / ลดความเสี่ยงในการใช้พลังงานใต้พิภพและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
    • ส่งเสริมระบบพลังงานที่ใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้พลังงานชีวมวลไม้ (Woody Biomass) พลังงานน้ำขนาดเล็กและกลาง พลังงานแสดงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนที่ได้จากพลังงานทดแทน
    • ใช้มาตรการ FIT (Feed-in tariff) เพื่อควบคุมการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ และลดภาระค่าใช้จ่าย
    • การให้ จ.ฟุคุชิมะ เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแห่งใหม่ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนในจังหวัดฯ

    3.4 การปรับปรุงนโยบายพลังงานนิวเคลียร์

    • การฟื้นฟู จ.ฟุคุชิมะ เพื่อให้ จ.ฟุคุชิมะ เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงนโยบายพลังงานของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการปัญหาภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะไดอิจิ และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์ R&D เรื่องการลดปริมาณกัมมันตรังสีและการสร้างเขตอุตสาหกรรมด้านการบำรุงรักษาบริเวณโรงไฟฟ้าฯ
    • สร้างระบบความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่มั่นคงด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยตั้งเป้าให้ญี่ปุ่นมีระบบการบริหารจัดการพลังงานนิวเคลียร์ในระดับที่สูงที่สุดในโลก และเมื่อ คกก.ด้านกฎระเบียบนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (Nuclear Regulation Authority: NRA) รับรองความพร้อมในการเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดที่สุดในโลก รัฐบาลญี่ปุ่นก็จะปฏิบัติตามการตัดสินใจของ NRA และดำเนินการเปิดใช้ และพยายามสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน่วยงาน/ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ความช่วยเหลือหน่วยงานท้องถิ่นที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ในการปรับปรุงแผนอพยพและมาตรการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

      ทั้งนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังสามารถใช้งานได้จำนวน 48 เตา แต่อยู่ระหว่างระงับการใช้งานทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ มี 18 เตา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ NRA ให้กลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้ง ได้แก่ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 6 และ 7 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kashiwazaki Kariwa เตาฯ หมายเลข 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้าฯ Ohi เตาฯ หมายเลข 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้าฯ Takahama เตาฯ หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าฯ Genkai เตาฯ หมายเลข 1 และ 2 ของโรงไฟฟ้าฯ Sendai เตาฯ หมายเลข 1 – 3 ของโรงไฟฟ้าฯ Tomari เตาฯ หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าฯ Onagawa เตาฯ ของโรงไฟฟ้าฯ Tokai Daini เตาฯ หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าฯ Hamaoka และเตาฯ หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้าฯ Ikata

    • มีแนวทางการแก้ไขปัญหาพลังงานนิวเคลียร์ที่แน่นอน ได้แก่ แนวทางในการกำจัดขยะทางนิวเคลียร์ เช่น การบริหารจัดการการกำจัด การศึกษาหาสถานที่ในการจัดเก็บขยะฯ การทำ R&D เพื่อลดปริมาณและกัมมันตรังสีในขยะฯ และแนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่มั่นคงและเป็นวงจร โดยร่วมมือกับต่างประเทศและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาปรับปรุงโรงไฟฟ้าฯ Monju ใน จ.ฟุคุอิ ที่ NRA มีมติให้เลิกใช้งานโดยถาวร เป็นศูนย์วิจัยนานาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป
    • สร้างเชื่อมั่นและความเข้าใจกับประชาชน ท้องถิ่นที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ และประชาคมระหว่างประเทศ โดยจัดทำการรับฟังความเห็นและชี้แจงข้อมูลตามข้อเท็จจริงและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กำหนดมาตรการในการสนับสนุนท้องถิ่นที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึงการแนะนำเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์พร้อมคำแนะนำด้านความปลอดภัยโดยใช้ประสบการณ์จากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสถาบันในด้านนี้ให้แก่ประเทศที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

    3.5 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง เช่น การส่งเสริมการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้ถ่านหินและแก๊สที่มีประสิทธิภาพสูง และส่งออกเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศ รวมทั้งการปรับโครงสร้างตลาดและพื้นฐานทางธรกิจสำหรับปิโตรเลียมและก๊าซ LP
    3.6 การส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานด้านพลังงาน เพื่อขจัดอุปสรรคทางการตลาด เช่น การปฏิรูประบบไฟฟ้า ระบบแก๊ส และระบบอุปทานด้านความร้อน
    3.7 การยกระดับความสามารถของเครือข่ายอุปทานด้านพลังงานภายในประเทศ เช่น การเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อภัยพิบัติของสถานีจ่ายพลังงาน การจ่ายพลังงานในรูปแบบปิโตรเลียมอย่างสม่ำเสมอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
    3.8 การสร้างโครงสร้างอุปทานพลังงานทุติยภูมิในอนาคต เช่น การส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วมกับพลังงานความร้อน และการนำแบตเตอรี่ซึ่งเก็บพลังงานได้มาใช้ การส่งเสริมเทคโนโลยีที่สามารถใช้พลังงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในรูปแบบยานพาหนะ เช่น ส่งเสริมการขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในการขับเคลื่อนให้ถึงระดับร้อยละ 50 – 70 ของยอดจำหน่ายยานพาหนะทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 และการสร้างสังคมไฮโดรเจน
    3.9 การจัดทำกลยุทธ์การสร้างความเติบโต (Growth Strategy) ด้านพลังงาน เช่น การก่อตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการสร้างตลาดพลังงานรูปแบบใหม่ในประเทศ และพัฒนาตลาดพลังงานระหว่างประเทศ
    3.10 การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานที่ครบวงจรในระดับนานาชาติ เช่น เพิ่มบทบาทในด้านความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบ IEA และ IAEA การใช้ EAS เป็นกรอบในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานกับ ERIA การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานในระดับทวิภาคี โดยเฉพาะญี่ปุ่น - สหรัฐฯ




Back to the list