สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเดือน มี.ค. 58 - พ.ค. 59
08/06/2016
1.
การเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภค
- เมื่อ 2 มิ.ย. 59 นรม.อาเบะ ได้ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคของญี่ปุ่นจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 จากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน เม.ย. 60 ออกไปอีก 2 ปีครึ่ง ไปเป็น
ในเดือน ต.ค. 62 เนื่องจากที่ประชุมสุดยอด G7 ที่ จ.มิเอะ ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 59 ได้เห็นพ้องกันว่า ศก.โลก กำลังประสบความเสี่ยงในระดับที่สูง ซึ่งจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องใช้มาตรการการเงินและการคลังที่เหมาะสมในการรับมือ ซึ่ง รบ.ญี่ปุ่น เห็นว่า หากดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด อาจทำให้เกิดวิกฤติในระดับที่เทียบเท่ากับ Lehman Shock เมื่อปี 2551 กอปรกับการที่ญี่ปุ่นเพิ่งประสบเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ จ.คุมะโมโตะ ทำให้จำเป็นต้องรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
- นรม.อาเบะ เคยเลื่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคเป็นร้อยละ 10 มาแล้วครั้งหนึ่งจากเดือน ต.ค. 58 เป็นเดือน เม.ย. 60
- แม้ว่าจะมีการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภค แต่ นรม.อาเบะ ยังตั้งเป้าที่จะให้ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ของญี่ปุ่น
เกินดุลให้ได้ภายในปี งปม. 2563 และจะยังคงความตั้งใจที่ใช้นโยบายการไม่ปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคในสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในช่วงที่ปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคในเดือน ต.ค. 62 อีกด้วย
2.
แผนยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโต GDP สู่ 600 ล้านล้านเยน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 59 รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโต GDP ญี่ปุ่นสู่ 600 ล้านล้านเยน ภายในปี งปม. 2564 จากระดับประมาณ 500 ล้านล้านเยน ในปี งปม. 2558 เพื่อให้ ศก.ญี่ปุ่น หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดได้โดยสมบูรณ์ โดยมีสาระสำคัญสอดคล้องกับลูกศร 3 ดอกใหม่ของนโยบาย Abenomics ได้แก่
2.1
การทำให้ GDP สู่ระดับ 600 ล้านล้านเยน
2.1.1
การสร้างตลาดใหม่โดยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ - เอกชน
(1)
การปฏิรูปอุตสาหกรรมที่ 4 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ประยุกต์ใช้ Internet of Things (IoT) / Artificial Intelligence (AI) และ Big Data ในอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Smart Factory การสร้างระบบการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเพื่อบรรเทาปัญหารถติด ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 30 ล้านล้านเยน ภายในปี 2063
(2)
การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ เช่น การนำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในการรักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 26 ล้านล้านเยน ภายในปี 2063
(3)
การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยแบตเตอร์รี่ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 28 ล้านล้านเยน ภายในปี 2073
(4)
การสร้างอุตสาหกรรมกีฬา เช่น การสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาให้สามารถใช้ประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 15 ล้านล้านเยน ภายในปี 2068
(5)
การสร้างตลาดซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสอง โดยการสร้างกลไกและระบบการประเมินสินทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 20 ล้านล้านเยน ภายในปี 2068
(6)
การเสริมสร้างอุตสาหกรรมภาคบริการ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 410 ล้านล้านเยน ภายในปี 2063
(7)
การปฏิรูป SMEs เช่น การสนับสนุนเงินทุนในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ
(8)
การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เช่น การลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทาง ศก. 10 ล้านล้านเยน ภายในปี 2063
(9)
การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว โดยการตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นเป็น 40 ล้านคน ในปี 2563 และ 60 ล้านคน ในปี 2573 จากในปี 2558 ที่มีจำนวน 19.73 ล้านคน ซึ่ง รบ.ญี่ปุ่น เร่งให้มีการเพิ่มที่พักอาศัยในจังหวัดต่าง ๆ ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 130 ล้านคน ภายในปี 2573
(5 เท่าจากระดับปี 2558) และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางกลับมาอีกครั้ง (repeaters) ให้อยู่ที่ 36 ล้านคน ภายในปี 2573 (3 เท่าจากระดับปี 2558) โดยตั้งเป้ามูลค่าการบริโภคโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นอยู่ที่
8 ล้านล้านเยน ภายในปี 2563 (2 เท่าจากระดับปี 2558) และ 15 ล้านล้านเยน ภายในปี 2573
(10)
การกระตุ้นการใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น การส่งเสริมให้มีจัดเทศกาลการลดราคาสินค้าให้มากขึ้น
2.1.2
การพัฒนาและรวบรวมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งรวมถึงบุคลากรจากต่างประเทศ โดยตั้งเป้าให้มีบุคลากรด้านเทคนิคจากต่างประเทศทำงานในญี่ปุ่น 5,000 คน ภายในปลายปี งปม. 2560 โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับลดเกณฑ์การให้สถานภาพอยู่อาศัยถาวร จากเดิมที่ต้องพำนักในญี่ปุ่นติดต่อกัน 5 ปี เป็น 3 ปี การสร้างสภาพแวดล้อมด้านการอยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติ และการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติในญี่ปุ่นมากขึ้น
2.1.3
การส่งเสริมการกระตุ้น ศก.ภูมิภาค และการสร้างเขตยุทธศาสตร์พิเศษแห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่ นรม.อาเบะ ประกาศมาตั้งแต่ปี 2557 โดยกำหนดเขตยุทธศาสตร์พิเศษ 6 เขต ได้แก่ กรุงโตเกียว (ศูนย์กลางนวัตกรรมและธุรกิจสากล) / เขตคันไซ (ศูนย์กลางการแพทย์ระดับโลก) / จ.นีกาตะ (เขตจัดการพื้นที่การเกษตร) / เมืองฟุกุโอกะ (เขตจัดการระบบการจ้างงานและการส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่) / จ.โอกินาวา (ศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยว) และเขตพิเศษเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 3 เขต ได้แก่ เมืองเซมโบคุ จ.อาคิตะ / เมืองเซนได จ.มิยากิ และ จ.ไอจิ
2.2
การเพิ่มอัตราการเกิดให้อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ภายในปี งปม. 2568 จากร้อยละ 1.42 ในปี 2557 โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การเพิ่มเงินเดือนให้ผู้ดูแลเด็กโดยเฉลี่ย 6,000 เยน การเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กให้สามารถรองรับเด็กได้ 500,000 คน ภายในปี งปม. 2560 การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับเด็ก เช่น การเด็กเล็กศึกษาเล่าเรียนฟรี การให้ทุนการศึกษาโดยไม่มีดอกเบี้ย
2.3
การทำให้อัตราคนที่ลาออกจากงานเพื่อดูแลผู้สูงอายุเป็นศูนย์ ภายในปี งปม. 2568 จากระดับปัจจุบันที่อยู่ที่ 100,000 คนต่อปี โดยการเพิ่มจำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุให้สามารถรองรับผู้สูงอายุได้ 500,000 คน ภายในต้นปี 2563 / การเพิ่มเงินเดือนผู้ดูแลผู้สูงอายุ 10,000 เยน ภายในปี งปม. 2560 / การเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการ
2.4
มาตรการอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการส่งออกของสินค้าญี่ปุ่น (Japanese Brand) และการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่น โดยการใช้ประโยชน์จาก TPP / การสร้างตลาดใหม่ ๆ จากการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ค.ศ. 2020 / การปฏิรูประบบราชการให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น / การปฏิรูประบบการเงินและการคลังของท้องถิ่นญี่ปุ่น / การฟื้นฟูและปฏิรูปพื้นที่แผ่นดินไหว
3.
การประกาศอัตราการเติบโตทาง ศก.ญี่ปุ่น ประจำงวดเดือน ม.ค. - มี.ค. 59
- เมื่อ 18 พ.ค. 59 รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ
Real GDP ญี่ปุ่น ประจำงวดเดือน
ม.ค. - มี.ค. 59 ว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส โดยมีสาเหตุหลักจากการบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 QoQ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 QoQ และการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 0.5 QoQ อย่างไรก็ดี การลงทุนของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.4 QoQ ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากการชะลอตัวของ ศก. โลก ซึ่งทำให้มียอดการสั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง ทำให้ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ดังรายละเอียดตามเอกสารแนบ 1
- นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ประเมินว่า ตัวเลข ศก. ประจำไตรมาสสุดท้ายของปี งปม. 2558 (ม.ค. – มี.ค. 59) ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความน่าห่วงกังวลเกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากการชะลอตัวของ ศก. โลก และค่าเงินเยนที่เพิ่มสูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือน กอปรกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ จ.คุมะโมโตะ เมื่อเดือน เม.ย. 59 ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ ศก.ญี่ปุ่น ค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะส่งผลให้ Real GDP ประจำงวดเดือน เม.ย. - มิ.ย. 59 กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งหนึ่ง
- รบ.ญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ
Real GDP ประจำปี งปม. 2558 (เม.ย. 58 - มี.ค. 59) ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนในที่พักอาศัย ในขณะที่ การบริโภคส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 0.3
- นาย Nobuteru Ishihara รมว.ประจำ สนง.ครม.ญี่ปุ่น (ดูแลการฟื้นฟู ศก.) แถลงข่าวว่า ศก.ญี่ปุ่น ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยสภาพแวดล้อมของการจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนค่อย ๆ ดีขึ้น
4.
ความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของ ศก.ญี่ปุ่น ในระยะที่ผ่านมา
4.1
การประเมินมาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารชาติญี่ปุ่น เมื่อ 19 พ.ค. 59 สถาบันวิจัย Teigoku Data Bank ประกาศผลการสอบถามบริษัทญี่ปุ่นทั่วประเทศ 23,432 บริษัท เกี่ยวกับการใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งร้อยละ 10.9 (ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) ตอบว่าได้รับผลกระทบในเชิงบวก เนื่องจากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงทำให้มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 10.5 (ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในธุรกิจด้านการเงิน) ตอบว่าได้รับผลกระทบในเชิงลบ ขณะที่ร้อยละ 78.6 ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบ และยังไม่สามารถประเมินผลได้
4.2
การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ TPP รบ.ญี่ปุ่น ได้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ TPP เนื่องจาก รบ.มีภารกิจในการฟื้นฟูผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ จ.คุมะโมโตะ ออกไปเป็นช่วงประชุมรัฐสภาสมัยพิเศษ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มขึ้นเมื่อใด (บางส่วนใน LDP ประสงค์ ให้เปิดประชุมในช่วง
ต้น - กลาง เดือน ส.ค. 59 ภายหลังการเลือกตั้งวุฒิสภา และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการให้เปิดประชุมในช่วงปลายเดือน ก.ย. 59)
4.3
แนวโน้มการลงทุนในอาเซียนของบริษัทญี่ปุ่น เมื่อ 17 พ.ค. 59 สถาบันวิจัย Teigoku Data Bank ได้ประกาศผลสำรวจการไปลงทุนในอาเซียนของบริษัทญี่ปุ่น โดยผลการสำรวจระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในอาเซียนทั้งหมด 11,328 บริษัท โดย
ไทยเป็นประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นไปลงทุนมากที่สุด 4,788 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 30 แม้ว่าไทยจะมีปัญหาเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่มีการรวมตัวกันของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในระดับสูง และเป็นประเทศที่รองรับการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในจีนได้ดีที่สุด ในขณะที่
อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นไปลงทุนร้อยละ 18 ของบริษัททั้งหมดที่ลงทุนในอาเซียน
อันดับที่ 3 ได้แก่ เวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16 ในขณะที่ เมียนมา ซึ่งเป็นที่คาดหวังการเติบโตทาง ศก. ในระดับสูงในระยะต่อจากนี้ ยังมีบริษัทญี่ปุ่นไปลงทุนเพียงร้อยละ 2 แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะบริษัทในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า และคมนาคม
4.4
การฟื้นฟูผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ จ.คุมะโมโตะ เมื่อ 31 พ.ค. 59 รบ.ญี่ปุ่น ประกาศว่า กำลังพิจารณาเงิน งปม. สำหรับการฟื้นฟูเยียวยาบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวใน จ.คุมะโมโตะ จำนวน 102,300 ล้านเยน จาก งปม.เพิ่มเติม ประจำปี งปม. 2559 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 700,000 ล้านเยน โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ จะใช้ งปม.บางส่วนในการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและอุโมงค์ที่ได้รับความเสียหายด้วย