การแก้ไขปัญหาการสืบทอดกิจการของประเทศญี่ปุ่น
19/01/2021
สังคมผู้สูงอายุนำไปสู่ปัญหาไร้คนสืบทอดกิจการ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่าง ๆ ตามมา เช่น การขาดแคลนแรงงาน ภาระของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาการไม่มีผู้สืบทอดกิจการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการเลิกกิจการจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานกว่า 6.5 ล้านตำแหน่ง และจะทำให้ GDP ของญี่ปุ่นสูญไปกว่า 22 ล้านล้านเยน
Tokyo Shoko Research ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ในญี่ปุ่นประมาณ 3.81 ล้านราย พบว่าในปี 2568 ร้อยละ 64 ของผู้ประกอบการฯ จะมีอายุมากกว่า 70 ปี และคาดการณ์ว่า กว่า 1.27 ล้านราย ยังไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจ SMEs เลิกกิจการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากผลสำรวจของ The Small and Medium Enterprise Agency, Japan (SME Agency) ในปี 2559 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอายุของผู้บริหารกับยอดขายในรอบ 3 ปี พบว่า ยิ่งผู้บริหารอายุมากขึ้น อัตราการเพิ่มของยอดขายจะลดลงเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกัน เนื่องจากการขยายธุรกิจหรือสร้างนวัตกรรมบริหารจัดการใหม่ ๆ จะทำได้ยากขึ้น โดยธุรกิจของผู้บริหารที่อายุระหว่าง 30-40 ปี จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของยอดขายมากที่สุด นอกจากนี้ ผลสำรวจของ SME Agency ในปี 2558 พบว่า ผู้ประกอบการฯ ร้อยละ 37.1 ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการคัดเลือกผู้สืบทอดกิจการไปจนถึงการตอบรับในการสืบทอดธุรกิจ โดยจะเกิดปัญหาระยะเวลาการเตรียมการไม่เพียงพอ (ร้อยละ 22) และปัญหาการสืบทอดเทคโนโลยีและ know-how (ร้อยละ 18.2)
การจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการสืบทอดกิจการ
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมมาตรการรองรับปัญหาการสืบทอดกิจการ SME ของญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการสืบทอดกิจการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. กรณีที่มีผู้สืบทอดธุรกิจแล้ว รัฐบาลจะสนับสนุนมาตรการทางภาษีและการเงิน โดยผู้ประกอบการสามารถเลื่อนชำระภาษีเงินได้ที่เกิดจากการสืบทอดหุ้นและทรัพย์สินของกิจการเป็นเวลา 10 ปีภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และได้รับพิจารณาการยกเว้นการใช้หลักทรัพย์ส่วนบุคคลมาค้ำประกันหากกิจการมีระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน
2. กรณีที่ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ รัฐบาลจะผลักดันให้ผู้ประกอบการพิจารณาเตรียมความพร้อมในการสืบทอดกิจการ และสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจกับบุคคลที่สาม โดยมีศูนย์สนับสนุนการสืบทอดธุรกิจ จำนวน 48 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation, JAPAN (SMRJ) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน โดยในปี 2562 ศูนย์ดังกล่าวได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ 11,514 ราย และประสบความสำเร็จในการสืบทอดกิจการ 1,176 ราย และตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 SMRJ ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประสงค์จะรับสืบทอดธุรกิจ และจับคู่ธุรกิจกับกิจการที่ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ข้อสังเกต
เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีข้อจำกัดสัดส่วนหุ้นต่างชาติในการลงทุนทุกสาขา (ยกเว้นภาคบริการ) จึงอาจเป็นโอกาสให้เอกชนไทยที่มีความพร้อมสามารถซื้อและสืบทอดกิจการ SME ของญี่ปุ่นได้ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ และสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม ประจำกรุงโตเกียว พร้อมช่วยเป็นช่องทางประสานงานกับ SMRJ อีกทางหนึ่ง
*****************************
ข้อมูลจาก สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม ประจำกรุงโตเกียว
สรุปโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
15 มกราคม 2564