สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2564
19/05/2021
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2564
- ผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ (สถานะวันที่ 18 พฤษภาคม 2564) 693,688 คน (เพิ่มขึ้น 5,230 คน)
- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงโตเกียว 732 คน จังหวัดไอจิ 539 คน จังหวัดฮอกไกโด 533 คน จังหวัดโอซากา 509 คน จังหวัดฟูกูโอกะ 346 คน
- ผู้เสียชีวิตสะสม 11,862 คน (เพิ่มขึ้น 216 คน)
- ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง 1,235 คน
- ผู้ที่รักษาหายสะสม 602,356 คน (7,179 คน)
รายละเอียดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data-all/
รายละเอียดผู้ติดเชื้อรายจังหวัดตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/
พัฒนาการและมาตรการสำคัญ
- เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ยกระดับคำเตือนการเดินทางไป 7 ประเทศ จากระดับ 2 (ไม่เดินทางไปหากไม่มีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วน) เป็นระดับ 3 (แนะนำไม่ให้เดินทางไป) ได้แก่ กัมพูชา ศรีลังกา ไทย ติมอร์ตะวันออก มองโกเลีย เซนต์ลูเซีย และเซเชลส์ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยเพิ่มเติมจากรายชื่อเดิมที่มี 153 ประเทศที่อยู่ในระดับ 3 อยู่แล้ว ทำให้ปัจจุบันมีรายชื่อประเทศที่อยู่ในระดับ 3 รวมทั้งสิ้น 160 ประเทศ รวมประเทศไทย
- สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย การยกระดับคำเตือนการเดินทางดังกล่าวมิได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางจากไทยเข้าญี่ปุ่น กล่าวคือ ในหลักการยังคงห้ามมิให้ผู้ที่เดินทางจากไทยเข้าญี่ปุ่น (รวมถึงนักท่องเที่ยว) ยกเว้นผู้ที่ได้รับยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นยังต้องแสดงผลการตรวจเชื้อเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าญี่ปุ่น ตรวจเชื้อที่สนามบินเมื่อเดินทางถึงญี่ปุ่น กักตัวเป็นเวลา 14 วัน และไม่เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ
- นาย KONO Taro รัฐมนตรีดูแลด้านการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของญี่ปุ่น แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า จากการสำรวจพบว่า มีจังหวัดและรัฐบาลท้องถิ่นกว่า 30 แห่งที่พร้อมให้ความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน และหลายแห่งสามารถเริ่มจัดตั้งศูนย์ภายในเดือน พ.ค. 64 ได้โดยทันที ซึ่งจะช่วยเร่งกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในประเทศได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องสรรหาบุคลากรที่จะมาช่วยปฏิบัติงานเพิ่มเติม เช่น พยาบาลที่ปัจจุบันไม่ได้ประกอบวิชาชีพ และทันตแพทย์ และหากไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากเภสัชกรเพิ่มเติมด้วย