สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2564

20/05/2021

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2564

- ผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ (สถานะวันที่ 19 พฤษภาคม 2564) 699,503 คน (เพิ่มขึ้น 5,819 คน)

- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงโตเกียว 766 คน จังหวัดไอจิ 666 คน จังหวัดฮอกไกโด 604 คน จังหวัดฟูกูโอกะ 500 คน จังหวัดโอซากา 477 คน

- ผู้เสียชีวิตสะสม 11,959 คน (เพิ่มขึ้น 97 คน)

- ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง 1,293 คน

- ผู้ที่รักษาหายสะสม 609,086 คน (6,730 คน)

รายละเอียดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data-all/

รายละเอียดผู้ติดเชื้อรายจังหวัดตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/

พัฒนาการและมาตรการสำคัญ
- เมื่อ 19 พ.ค. 2564 ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น เห็นว่ามีความเป็นไปได้ยากที่จะสามารถยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินภายในสิ้นเดือน พ.ค. 64 นี้ เนื่องจากถึงแม้สถานการณ์การติดเชื้อจะปรับตัวดีขึ้น แต่สถานการณ์การให้บริการด้านการแพทย์ในหลายพื้นที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตไม่เปลี่ยนแปลง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

o มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในปัจจุบันไม่มีประสิทธิผลมากพอที่จะป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากไวรัสโควิดกลายพันธุ์มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานกว่าครั้งที่ผ่านมาก่อนจำนวนผู้ติดเชื้อจะมีแนวโน้มลดลง
o สถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ในภาพรวม จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าประชาชนเริ่มออกจากบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
o จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันในกรุงโตเกียว จังหวัดไซตามะ ชิบะ และคานากาวะ จากเดิมที่เคยคงที่ ระยะหลังเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนจังหวัดโอซากาและเฮียวโกะ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง
o ปัจจุบัน ญี่ปุ่นและต่างประเทศยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ที่ระบาดในอินเดีย แต่เชื่อว่า สามารถแพร่เชื้อระหว่างคนได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษที่กำลังระบาดในญี่ปุ่น จึงเห็นควรเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดียในญี่ปุ่นให้เข้มงวดมากขึ้น