สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
24/05/2021
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
- ผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ (สถานะวันที่ 23 พฤษภาคม 2564) 719,556 คน (เพิ่มขึ้น 4,048 คน)
- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดฮอกไกโด 605 คน กรุงโตเกียว 535 คน จังหวัดไอจิ 431 คน จังหวัดโอซากา 274 คน จังหวัดคานากาวะ 266 คน
- ผู้เสียชีวิตสะสม 12,322 คน (เพิ่มขึ้น 62 คน)
- ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง 1,304 คน
- ผู้ที่รักษาหายสะสม 63,4103 คน (18,779 คน)
รายละเอียดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data-all/
รายละเอียดผู้ติดเชื้อรายจังหวัดตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/
พัฒนาการและมาตรการสำคัญ
- นาย KATO Katsunobu เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ เมื่อ 24 พ.ค. 2564 ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงโตเกียว จังหวัดฮอกไกโด ไอจิ โอซากา เกียวโต เฮียวโก โอกายามะ ฮิโรชิมะ และฟูกูโอกะ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ดีขึ้น โดยจะพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อ สัดส่วนจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น และอาจขยายจนถึงวันที่ 20 มิ.ย. 64 จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค. 2564 เพื่อให้สิ้นสุดพร้อมกับจังหวัดโอกินาวาที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นจังหวัดใหม่เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา
- นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะหารือเกี่ยวกับแนวทางการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ควรจะลดระดับเป็นมาตรการกึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) หรือควรจะขยายช่วงเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกลับสู่สถานการณ์ปกติ หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก
- เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2564 รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศมาตรการกึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ในจังหวัดเอฮิเมะ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. 2564 เนื่องจากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นมาก ทำให้จังหวัดที่อยู่ภายใต้สถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) มีจำนวนทั้งสิ้น 8 จังหวัด ได้แก่ ไซตามะ ชิบะ คานากาวะ กิฟุ มิเอะ กุมมะ อิชิคาวะ คุมาโมโตะ
- ตั้งแต่วันนี้ (24 พ.ค.) ศูนย์ฉีดวัคซีนในกรุงโตเกียวและจังหวัดโอซากาที่ดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นได้เริ่มบริการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปแล้ว โดยในวันแรกนี้ มีกำหนดฉีดวัคซีนให้ประชานชนรวมจำนวน 7,500 คน (กรุงโตเกียว 5,000 คนและจังหวัดโอซากา 2,500 คน) ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าให้ศูนย์ดังกล่าวสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้รวม 15,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนของกรุงโตเกียวและจังหวัดโอซากา รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีนซึ่งจัดตั้งขึ้นเองโดยจังหวัดมิยากิ กุมมะ และไอจิ จะใช้วัคซีนของบริษัท Moderna (เว้นระยะ 4 สัปดาห์ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2) ในขณะที่ สถานอนามัยท้องถิ่นต่าง ๆ จะใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer (เว้นระยะ 3 สัปดาห์ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2)