สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2564

26/05/2021

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2564

- ผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ (สถานะวันที่ 25 พฤษภาคม 2564) 726,117 คน (เพิ่มขึ้น 3,901 คน)

- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงโตเกียว 542 คน จังหวัดฮอกไกโด 459 คน จังหวัดไอจิ 417 คน จังหวัดโอซากา 327 คนจังหวัดโอกินาวะ 256 คน

- ผู้เสียชีวิตสะสม 12,512 คน (เพิ่มขึ้น 105 คน)

- ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง 1,294 คน

- ผู้ที่รักษาหายสะสม 645,157 คน (5,270 คน)

รายละเอียดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data-all/

รายละเอียดผู้ติดเชื้อรายจังหวัดตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/

พัฒนาการและมาตรการสำคัญ
- ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวและจังหวัดโอซากาจะขอให้รัฐบาลกลางขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. 2564 ในส่วนการขยายถึงวันที่เท่าใดนั้น ขอให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกลางตัดสินใจ ทั้งนี้ คาดว่า นรม.ซูกะ จะแจ้งการตัดสินใจที่จะขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ภายในสัปดาห์นี้ โดยแหล่งข่าวระบุว่า อาจขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับ 9 จังหวัด (กรุงโตเกียว จังหวัดโอซากา เกียวโต เฮียวโกะ ไอจิ ฟูกูโอกะ ฮอกไกโด โอกายามะ และฮิโรขิมะ) จนถึงวันที่ 20 มิ.ย. 2564 ให้เท่ากับ จ.โอกินาวะ แต่บางส่วนระบุว่า อาจขยายระยะเวลาจนถึง 13 มิ.ย. 2564 ในบางจังหวัด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสถานการณ์การติดเชื้อ และการรักษาพยาบาลในแต่ละจังหวัด

- เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า กำลังพิจารณาให้เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน (EMT หรือ Emergency Medical Technician) และเจ้าหน้าเทคนิคที่ในห้องทดลอง (clinical laboratory technicians) ร่วมปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ โดยนาย KATO Katsunobu โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า รัฐบาลเตรียมแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 กลุ่มสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นมี EMT ประมาณ 64,000 คน และเจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องทดลองประมาณ 2 แสนคน

- กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นอาจพิจารณาอนุมัติให้สามารถฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer ให้กับเยาวชนช่วงอายุ 12 – 16 ปีได้ด้วยเช่นกัน จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ที่รับวัคซีนต้องมีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้รับแนวคิดดังกล่าวมาจากสหรัฐฯ และเตรียมพิจารณาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนในวันที่ 28 พ.ค. 2564

- รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจัดตั้งระบบการให้กู้เงินระบบใหม่เพื่อการดำรงชีพตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และไม่สามารถกู้ยืมเงินช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีพจากระบบเก่าได้ ซึ่งน่าจะมีจำนวนกว่า 2 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ ในระบบใหม่ ครัวเรือนที่มีสมาชิก 1 คน สามารถกู้ยืมได้ในวงเงินสูงสุด 6 หมื่นเยน สมาชิก 2 คน วงเงิน 8 หมื่นเยน และสมาชิก 3 คน วงเงิน 1 แสนเยน