ช้างไทย คู่ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

09/11/2021

วันนี้พวกเราอยากขอให้ท่านทูตช่วยเล่าเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่เป็นความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นให้ฟังสักนิดค่ะ

สัญลักษณ์ของไทยที่อยากจะแนะนำให้คนญี่ปุ่นรู้จักในวันนี้ คือ ช้างไทย

ช้างเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ 3 ประการของไทย นอกเหนือไปจากเรือนทรงไทย และดอกราชพฤกษ์ โดยช้างไทยมีบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี 2478 เรื่อยมา

ตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ช้างไทยเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย ช้างเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ ในเวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงออกรบ ก็จะทรงช้างในการนำทัพรบเพื่อปกป้องประเทศ ช้างจึงเป็นขุนพลร่วมรบและเป็นกำลังสำคัญในสมรภูมิเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหาร เพื่อกอบกู้และรักษาเอกราชให้แผ่นดินไทยเสมอมา

นอกจากนี้ ชาวไทยยังเชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงสีแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง เป็นธงไทย เนื่องจากธงแดงที่เคยใช้อยู่เดิมนั้นซ้ำกับชาติอื่น และกลายเป็นธงชาติของไทยมาจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์

          

   ภาพซ้าย :   ช้างเผือก (ที่มา : panthinp.com)     

ภาพขวา : ธงชาติไทย (ธงช้างเผือก) (ที่มา : th.wikipedia.org)


เนื่องจากช้างเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นที่มาของธงราชทูต ซึ่งมีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ของไทย และมีช้างทรงเครื่องอยู่ตรงกลางของธง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า เอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์ และปกป้องประเทศ

ภาพ : ธงราชทูต  (ที่มา : th.wikipedia.org)


สำหรับคนไทย ก็มีความผูกพันใกล้ชิดกับช้าง ในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเท่ากับในปัจจุบัน ช้างเป็นพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความเฉลียวฉลาดและมีพละกำลังมหาศาล ช้างจึงสามารถขนส่งสิ่งของ ลากซุงในปริมาณมากได้อย่างเข้มแข็งและอดทน คนที่มีช้างในครอบครองก็จะเลี้ยงช้างเสมือนกับเป็นสมาชิกในครอบครัว

ขอให้ท่านทูตช่วยเล่าประวัติของช้างไทยในญี่ปุ่นได้ไหมคะ

เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่น่ารัก แม้จะตัวใหญ่ มีพละกำลังมาก แต่จิตใจโอบอ้อมอารี และฉลาดมาก ๆ
เมื่อชาวญี่ปุ่นได้พบเห็นช้าง จึงชื่นชอบช้างเป็นอย่างมาก จนทำให้ช้างเป็นทูตสันถวไมตรีในการสานสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2478 เรื่อยมา

ช้างไทยคู่แรกที่เดินทางมาถึงญี่ปุ่นคือ ช้างวันดีกับช้างลำพูน ซึ่งสมาคมลูกเสือไทยได้รวบรวมเงินบริจาคให้แก่สมาคมลูกเสือญี่ปุ่น ช้างทั้งสองเชือกเดินทางมาถึงญี่ปุ่นในปี 2478 ที่เมืองโกเบ โดยช้างวันดีอยู่ที่สวนสัตว์ Ueno กรุงโตเกียว และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Hanako ส่วนช้างลำพูนอยู่ที่สวนสัตว์ Tennoji ที่จังหวัดโอซากา ความทรงจำของช้างไทยตัวแรกมีบันทึกไว้ในตอนหนึ่งของการ์ตูนโดราเอมอนที่เขียนถึง
ความผูกพันของคนโตเกียวกับช้างไทยฮานาโกะยุคก่อนสงครามโลกด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดและอาหารไม่เพียงพอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ช้างทั้งสองล้มลง[1]



[1] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีนโยบายฆ่าสัตว์ใหญ่ โดยสวนสัตว์ป้อนอาหารใส่ยาพิษให้แก่ช้างวันดี แต่ช้างวันดีฉลาดมาก และไม่ยอมกินอาหาร จนล้มลงไปเอง น่าจะเนื่องจากการไม่ได้กินอาหารเลย ส่วนช้างลำพูนล้มลงเนื่องจากสวนสัตว์ไม่มีอาหารเลี้ยงพอ


     

    ภาพซ้าย : พังวันดี หรือ Hanako“花子 (ที่มา: exblog.jp)  

ภาพขวา : พลายลำพูน (ที่มา : mofa.go.jp)


ภาพ : การ์ตูนโดราเอมอนกล่าวถึงช้างไทย  (ที่มา : j.people.com)


ช้างเชือกต่อมาที่ไทยส่งมายังญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ ช้างคชาในปี 2492 เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับเด็ก ๆ ญี่ปุ่น หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อช้างคชามาอยู่ที่สวนสัตว์ Ueno คนญี่ปุ่นก็ได้ตั้งชื่อญี่ปุ่นให้ว่า Hanako เพื่อรำลึกถึงช้าง Hanako (วันดี) ที่ล้มไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นขวัญใจของคนญี่ปุ่น ทั้งนี้ ต่อมาช้าง Hanako ได้ย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์ Inokashira และได้ล้มไปเมื่ออายุ 69 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นช้างที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่นตอนนั้น

ภาพ : พังคชา หรือ Hanako “はな ตอนมาถึงญี่ปุ่น  (ที่มา : Japanese Associations of Zoos and Aquariums)


หลังจากนั้น เมื่อครั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเสด็จฯ เยือนไทยในปี 2507 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายอะกิฮิโตะ สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นฯ น้อมเกล้าถวายช้างแม่น้ำ โดยเดินทางถึงญี่ปุ่นในปี 2508 และอยู่ที่สวนสัตว์ Ueno เรื่อยมา

หลังจากนั้นในปี 2545 จังหวัดสุรินทร์ของไทยก็ได้มอบพลายอาทิตย์และพังอุทัย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและของขวัญชิ้นใหญ่ ในโอกาสการเฉลิมฉลองประสูติกาลของเจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาในมกุฎราชกุมารนารูฮิโตะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) และเป็นการขอบคุณต่อองค์การ OISCA ซึ่งเป็น NGO ของญี่ปุ่นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าในจังหวัดสุรินทร์ครบรอบ 20 ปี ทั้งนี้ หลังจากที่พลายอาทิตย์และพังอุทัยได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่นไม่นานในปีเดียวกันช้างแม่น้ำก็ได้ล้มลง

ภาพ : พลายอาทิตย์ และ พังอุทัย (ที่มา : Japanese Associations of Zoos and Aquariums)


เมื่อปีที่แล้ว (2563) เป็นที่น่าเศร้าที่พลายอาทิตย์ได้ด่วนจากไปด้วยวัณโรค รวมเวลาที่ได้อยู่กับชาวญี่ปุ่นทั้งสิ้นเกือบ 18 ปีเท่านั้น แต่หลังจากที่พลายอาทิตย์สิ้นลงไม่นาน พังอุทัยก็ได้คลอดพลายอรุณ ซึ่งเพิ่งอายุครบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมตั้งชื่อกับสวนสัตว์ Ueno ด้วย ขณะนี้ พลายอรุณก็จะสืบสานหน้าที่กระชับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นแทนพ่อ (พลายอาทิตย์) ต่อไป

ภาพ : พลายอรุณ (ที่มา : Tokyo Zoo Net)


ในปีหน้า (2565) ซึ่งจะเป็นโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตฯ จะดำเนินโครงการการมอบรูปปั้น “ช้างเชียงราย” 2 ตัวซึ่งทำจากไฟเบอร์กลาสวาดลวดลายโดยศิลปินไทย ให้แก่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว ช้างเชียงรายยังจะเป็นสัญลักษณ์แทนคำขอบคุณ สำหรับมิตรภาพที่ชาวญี่ปุ่น/องค์กรญี่ปุ่นมีต่อประเทศไทย รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นให้ได้รู้จักช้างไทย และศิลปะของไทยผ่านลวดลายบนตัวช้างเชียงรายมากขึ้นด้วย

ท่านทูตเคยมีประสบการณ์ตรงในการต้อนรับช้างไทยในญี่ปุ่นด้วยใช่ไหมคะ

ตอนที่ผมได้มาประจำการที่ญี่ปุ่น ก็เป็นช่วงที่ช้าง Hanako อายุมากแล้ว คนก็เรียกกันว่า คุณป้า Hanako สวนสัตว์ Inokashira จะจัดงานวันเกิดให้ทุกปี สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ได้รับเชิญให้ร่วมงานวันเกิดของคุณป้า Hanako ด้วย และมีการมอบเค้กให้ Hanako ซึ่งเป็นเค้กวันเกิดที่ทำจากขนมปัง มันเทศ แครอตและ สตรอเบอรีให้คุณป้า Hanako แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ช้าง Hanako ล้มไปแล้ว จึงไม่มีงานวันเกิดช้างไทยแล้ว

     

ภาพ : พัง Hanako และเค้กวันเกิดครบรอบอายุ 68 ปี ที่สวนสัตว์ Inokashira

(ที่มา : Japanese Associations of Zoos and Aquariums)


ผมได้มีโอกาสต้อนรับพลายอาทิตย์และพังอุทัยที่สวนสัตว์ Ueno ตอนที่เพิ่งมาถึงญี่ปุ่นด้วย ตอนนั้น การขนส่งช้างทั้งสองเชือกได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสายการบินซึ่งขนส่งช้างให้ฟรี แต่เมื่อมาถึงที่ญี่ปุ่น ช้างไม่ยอมออกจากกรง เพราะมีประตูด้านเดียว ตอนเข้า ช้างก็เดินเข้า แต่ตอนออกมา ช้างต้องเดินถอยหลังออก ผมกับควาญช้างก็ช่วยกันเกลี้ยกล่อมให้ช้างถอยหลังออกมา ช้างอุทัยไม่ค่อยดื้อ เอาผลไม้ไปให้ก็ยอมถอยมากิน แต่ช้างอาทิตย์ค่อนข้างดื้อ ใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะออกมาได้ โดยต้องเอาทั้งอ้อยไทย ทั้งแอปเปิ้ลญี่ปุ่นไปล่อ

เมื่อสัปดาห์ก่อน (27 ตุลาคม 2564) ผมก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมพังอุทัยและพลายอรุณ ซึ่งเพิ่งครบรอบวันเกิด 1 ปีไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา และได้นำกล้วยและแอปเปิ้ล ซึ่งพลายอรุณชื่นชอบ ไปมอบเพื่อร่วมอวยพรวันเกิดให้แก่พลายอรุณด้วย ตอนนี้ พลายอรุณสุขภาพแข็งแรง ขี้เล่น เข้ากับช้างรุ่นพี่เชือกอื่น ๆ ได้ และเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่น