




15/07/2022
T-Pop วัฒนธรรมความบันเทิงที่บ่มเพาะจากคุณภาพของศิลปิน นักแสดง และบุคลากรในวงการบันเทิงไทย ความคิดสร้างสรรค์และความเปิดกว้างของสังคมไทย และได้ก่อกำเนิดวัฒนธรรมทางดนตรี ภาพยนตร์ และซีรีส์ของไทยมากมาย จนทำให้ T-Pop เป็นปรากฏการณ์ความบันเทิงที่กำลังมาแรงในหลาย ๆ มุมโลก รวมทั้งในญี่ปุ่น
ศักยภาพของ T-Pop ประกอบกับปัจจัยโลกาภิวัตน์ การใช้อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และสื่อดิจิทัล รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้คนไทยและทั่วโลกหันมาเสพสื่อบันเทิงออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ผลงาน T-Pop คุณภาพ เป็นที่ประจักษ์ออกสู่สายตาชาวโลก และกลายเป็นธุรกิจทำเงินให้กับประเทศไทยและคู่ค้าในต่างประเทศ
อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยจึงถือเป็นสื่อกลางในการส่งผ่านความเป็นไทยไปยังต่างประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็น Soft Power ที่ปลุกกระแสวัฒนธรรมบันเทิงไทยในหลาย ๆ มุมโลก
และ T-Pop คืออะไร?
T-Pop เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม Pop Culture ของไทยที่มากกว่าดนตรี T-Pop เป็นไลฟ์สไตล์ แฟชั่น ศิลปะ และแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่พัฒนาเปิดกว้างและไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่
T-Pop Music เป็นกระแสวัฒนธรรมทางดนตรีของไทยที่มีความหลากหลาย และไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัว ซึ่งซึมซับอิทธิพลจากดนตรีจากหลายมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น American Pop, J-Pop และ K-Pop และเมื่อศักยภาพทางดนตรีได้รับการพัฒนาผ่านกาลเวลา ประกอบกับดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มาช่วยเปิดโลกและ
เติมเต็มรสนิยมการฟังเพลง ทำให้เพลงไทยพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเอง
แนวเพลง T-POP จึงเป็นปรากฏการณ์ทางดนตรีที่ผู้คนใช้ชีวิตไปกับมัน ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นแนว
ป๊อปที่ร้องตามได้ง่าย ๆ เพลงฟังค์ เพลงร็อค หรือแนวดนตรีสมัยใหม่แบบใดก็ตาม ไม่ได้จำกัดว่านักร้องจะต้องเต้นหรือไม่ หรือไม่ว่าเนื้อเพลงนั้นจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ตราบใดที่ได้รับการสรรค์สร้างโดยคนไทยในยุคปัจจุบัน ก็ล้วนเรียกได้ว่าเป็น T-Pop ทั้งสิ้น
วัฒนธรรม T-Pop ยังรวมไปถึงละครและภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ การเปิดกว้าง และการเป็นพหุชาติพันธุ์ของสังคมไทย ทำให้วงการบันเทิงของไทยสามารถผลงานที่ออกจากกรอบ เช่น ละคร Boys’ Love หรือ BL ที่ได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่น ที่แสดงถึงความเปิดกว้างด้าน LGBTQ และความเท่าเทียมทางเพศ จนทำให้ละคร BL ของไทยติดอันดับต้น 1 ใน 3 ละครต่างชาติที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน แนวเพลง T-Pop ยังแทรกซึมอยู่ในละครและภาพยนตร์ไทยต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมมาก จนทำให้เพลง T-Pop เกาะกระแสความดังของละครไปด้วย
ตัวอย่าง T-Pop ของไทย
จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรม T-Pop ของไทย ที่เป็นที่โด่งดังในญี่ปุ่น เริ่มมาจากละคร BL เป็นหลัก
ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์โควิด-19 คนญี่ปุ่นที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน (Stay Home) ได้หันมาชมละครไทยมากขึ้น โดยเริ่มจากละครเรื่อง “2gether” ที่นำแสดงโดย ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ วิน - เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนุ่มหล่อ (Ikemen) ของไทย
ปรากฏการณ์ 2gether ได้รับความนิยมในหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน ญี่ปุ่น จีน และละตินอเมริกา และทำให้ไบร์ทและวินมีแฟนคลับทั่วโลก โดยไบร์ทมียอด followers ในอินสตาแกรมสูงถึง 15.2 ล้านคน และวิน 13.5 ล้านคน ไบร์ทมียอดแฟนคลับในญี่ปุ่นใน Official Account Fanclub Twitter 144,000 คน และวินมี 104,000 คน ตามลำดับ
เสนห์ของเรื่อง 2gether ที่นำเสนอชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยของไทย ทำให้ผู้ชมชาวญี่ปุ่นสนใจชมละคร BL เรื่องอื่น ๆ ของไทย และเกิดเป็นกระแส tainuma หรือการติดหล่มละครไทย จนไม่สามารถออกมาจากหล่มนั้นได้
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ 2gether ทำให้เพลงไทยที่ใช้ในละครเป็นที่โด่งดังในญี่ปุ่น เช่น เพลงของวง SCRUBB และเพลง “คั่นกู” ที่ใช้ประกอบละคร โดยไบร์ท วชิรวิชญ์ ซึ่งมียอดวิวใน YouTube สูงถึง 43 ล้านวิว และในหลายโอกาส ก็สามารถได้ยินเพลงละครนี้ได้ที่ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น
สำหรับกระแสเพลง T-Pop ในญี่ปุ่นนั้น มีนักร้องไทยที่เป็นที่รู้จักในวงการเพลงญี่ปุ่น และมีผลงานร่วมกับศิลปินญี่ปุ่นอยู่แล้ว เช่น คุณแสตมป์- อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข / คุณซิน - ทศพร อาชวานันทกุล นักร้องนำวง Singular
คุณแสตมป์ได้กล่าวด้วยว่า กระแสละครไทยที่โด่งดังในหมู่คนญี่ปุ่น เป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ผลงานเพลง T-Pop ของศิลปินไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งผู้ที่มีผลงานในญี่ปุ่นอยู่แล้ว หรือศิลปินที่ยังใหม่ในวงการเพลงญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังมีศิลปินที่มีผลงานไปไกล และได้รับรางวัลหรือโชว์ฝีมือในเวทีระดับโลก เพราะผลงานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น มิลลิ - ดนุภา / ภูมิ - วิภูริศ / ทอย The Toys และวิโอเลต วอเทียร์ หรือคนไทยที่มีความสามารถและโด่งดังในต่างประเทศ เช่น ลิซ่า BLACKPINK / แบมแบม Got7 / นิชคุณ และเนเน่ - พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์
T-Pop พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าทั่วโลกชะงักงัน เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและการกักตัว แต่การส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม T-Pop กลับขยายตัวอย่างมาก
ธุรกิจบันเทิงไทยที่ป้อนผลงานผ่าน online platform ในช่วงที่ประชาชนทั่วโลกกักตัวอยู่ที่บ้าน
ทำให้ T-Pop เติบโตแบบก้าวกระโดด อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกลายเป็นสินค้าดิจิทัลที่ทะยานไปได้ไกลเนื่องจากไม่มีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบันเทิงก็ยังสามารถบริโภคได้ทุกที่ทุกเวลา และเรียลไทม์ โดยที่ไม่มีอุปสรรคด้านเวลาและระยะทางเข้ามาขวางกั้น
โอกาสของสื่อดิจิทัลทำให้ละคร BL ของไทยซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลายเป็นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ BL ระดับโลก และถือเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และในระดับโลก BL ของไทยยังได้รับความนิยมในอาเซียน จีน ไต้หวัน และละตินอเมริกา ซึ่งมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 3.7 พันล้านเยน (1 พันล้านบาท)[1]
นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นยังมีละครไทยแนวต่าง ๆ ไม่เพียงเฉพาะ BL ฉายอยู่ในญี่ปุ่นอย่างน้อย 30 เรื่อง และเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ยังได้ออกอากาศละครไทย F4 Thailand ในญี่ปุ่นพร้อมกับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับละครไทยในญี่ปุ่นที่ได้ออกอากาศในต่างประเทศพร้อมกับในประเทศต้นทาง
ในส่วนของดนตรี T-Pop แม้ในช่วงการแพร่ระบาดจะทำให้การแสดงสดห่างหายไป แต่ศิลปินไทยรวมทั้งคนทั่วไปผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของ music platform และ YouTube เป็นโอกาสให้
เด็กรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถได้อย่างเปิดกว้าง ต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยที่มีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดดในยุคดิจิทัล ทำให้ไทยสามารถผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความสามารถทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังหรือเบื้องหน้า
4MIX วงสายเลือด LGBTQ ของไทยวงแรก เป็นตัวอย่างของวง T-Pop ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ digital marketing จนดังไปไกลจนถึงละตินอเมริกา นายภูริต กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัทข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “เบื้องต้นด้วยตัวคอนเซ็ปท์ของวง T-Pop ไม่ว่าจะเป็นบอยกรุ๊ป หรือเกิร์ลกรุ๊ปจะมีความยากมาก โดยเฉพาะต้นแบบอย่างศิลปินวงดัง ๆ ของประเทศเกาหลี เราเลยกลับมามองว่าสิ่งที่เราสามารถทำได้นอกเหนือจากบอยกรุ๊ปและเกิร์ลกรุ๊ป เราเน้นมองถึงอีกทาร์เก็ตที่ผมเชื่อว่า
[1] https://www.facebook.com/prdofficial/photos/a.217147371630954/4527078690637779/
เสน่ห์ของ T-Pop สู่การส่งออกวัฒนธรรมของไทย
พื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การท่องเที่ยว และศิลปวัฒนธรรมอันยาวนาน เมื่อประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ทำให้ผลงานละครและเพลง T-Pop ก้าวข้ามจากกรอบความคิดรูปแบบเดิมได้ จนทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกคอนเท็นท์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นสื่อกลางสร้างความนิยมไทยให้กับชาวต่างชาติ
ละครทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักประเทศไทย และเข้าถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างลึกซึ้ง มากกว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ ด้วยซ้ำ เช่น จากการดูละคร 2gether และ Sotus the Series ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักข้าวกะเพราไข่ดาว ข้าวไข่เจียวหมูสับ นมชมพูเย็น วิธีการรับน้องของมหาวิทยาลัยไทย
การใช้หนังสติ๊กมัดถุงยางเพื่อใส่อาหาร (Panpanbukuro) ถุงหูหิ้วพลาสติกเพื่อใช้ห้อยแก้ว หรือการใส่รองเท้าแตะหนีบของไทย ที่เป็นเรื่องธรรมดาของคนไทย แต่เป็นเรื่องแปลกตาแปลกใจ หรือเป็นนวัตกรรมแบบไทย ๆ ในสายตาของคนญี่ปุ่น เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยเชื่อมโยงให้คนสองประเทศใกล้ชิดและรู้จักกันเพิ่มมากขึ้น
[1] https://lofficielthailand.com/2021/12/4mix-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87-%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3/
ในขณะที่ “ดนตรี” เป็นสื่อกลางที่ไร้พรมแดน ไม่ต้องเข้าใจภาษา ก็สามารถเข้าใจความรู้สึกกันได้ ดนตรีไทยและดนตรีญี่ปุ่นมีความเชื่อมโยงกันอย่างมิได้ตั้งใจ เพราะต่างใช้ pentatonic scale ที่ทำให้คนทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นเมื่อได้ฟังเพลงของอีกประเทศแล้ว รู้สึกฮัมเพลงได้ง่าย ใกล้ชิด และคุ้นเคย เมื่อละครและเพลงไทยเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ก็ทำให้คนญี่ปุ่นอยากเรียนภาษาไทย เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งด้วย
มิวสิกวีดิโอและการแสดงคอนเสิร์ต ก็เป็นการนำเสนอความเป็นไทยให้โลกรู้ เช่น ซิงเกิลเดี่ยวเพลง Lalisa ของ “ลิซ่า” BLACKPINK แม้จะเป็นเพลงเกาหลี แต่ในมิวสิกวีดิโอก็มีนำชุดผ้าไทย รัดเกล้า และปราสาทหินพนมรุ้งของไทยไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก ซึ่งมียอดผู้ชมกว่า 100 ล้านวิว
และในการแสดงคอนเสิร์ตของมิลลิที่เทศกาลดนตรีและศิลปะ Coachella ที่สหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายน 2565 มิลลิได้โชว์การรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที และใส่เนื้อเพลงว่า ประเทศไทยไม่ได้ขี่ช้าง สร้างสีสันให้กับการแสดงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน
จาก Soft Power สู่เศรษฐกิจ
ปรากฏการณ์ Soft Power จากละครและเพลง T-Pop ของไทย เป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยปลุกการค้าและการลงทุนของไทยให้เป็นเหมือนช่วงก่อนยุคโควิด-19
บริษัท PwC คาดการณ์ว่า ปี 2564 รายได้อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทย เติบโตร้อยละ 6.3 มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 5.5 แสนล้านบาท โดยการใช้จ่ายของสื่อและบันเทิงของไทยที่คาดว่ามีอัตราเติบโตที่สุดในปี 2564 ได้แก่ ธุรกิจภาพยนตร์ ซึ่งน่าจะเติบโตร้อยละ 54 จากปีก่อน ประมาณ 7.6 พันล้านบาท และธุรกิจเพลง วิทยุ และ podcast เติบโตร้อยละ 27 จากปีก่อน เป็น 1.23 หมื่นล้านบาท[1]
ตลาดญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของวงการ T-Pop ไทย ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดงานเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์เพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายคอนเทนต์ BL โดยผู้ที่สนใจซื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม สามารถทำรายได้สูงถึง 1.3 พันล้านเยน (360 ล้านบาท) ในช่วง 2 วัน[2]
ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถมีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้ ชาวญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการจัดงาน Fan Meeting กับศิลปินไทย และเกิดเป็น Online Fan Meeting เช่น BRIGHT WIN 1st FAN MEETING IN JAPAN เมื่อเดือนตุลาคม 2564
[1] https://www.pwc.com/th/en/press-room/press-release/2021/press-release-30-07-21-th.html#:~:text=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%2C%2030%20%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%202564%20%E2%80%93%20PwC,%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94
[2] https://www.thaipost.net/main/detail/108545
จำนวนศิลปินไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคธุรกิจจำนวนมากแสดงความสนใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจบันเทิงของไทยในญี่ปุ่น และเกิดการแข่งขันกันในการพัฒนาธุรกิจบันเทิงให้มีคุณภาพและมีความหลากหลาย ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกกลุ่ม
รัฐบาลไทยผลักดัน T-Pop ให้เป็น Soft Power ให้แข็งแกร่ง
การผลักดัน Soft Power ทั้ง 5 ด้าน Food / Film / Fashion / Fighting / Festival สู่ระดับโลก ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
ในช่วงก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวได้จัดงานเทศกาลไทยต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 ปี ที่สวนสาธารณะโยโยงิ ใจกลางกรุงโตเกียว มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักและชื่นชอบประเทศไทยในวงกว้าง จำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในช่วง 3 ปีล่าสุด (2560-2562) มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานประมาณปีละ 300,000 - 350,000 คน และในแต่ละปี ก็มีศิลปินไทยเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นและทั่วโลกตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้แผนการจัดงานเทศกาลไทยปี 2563 ต้องระงับไป และในปี 2564 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ปรับการจัดงานเป็นรูปแบบ hybrid ในหัวข้อ “งานเทศกาลละครไทย” เพื่อให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์กระแสความนิยมละครไทยในญี่ปุ่นที่มีคุณภาพและเสน่ห์เฉพาะตัว แม้จะจัดงานในขนาดที่เล็กลงภายในพื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตฯ แต่ก็ได้จัด Live Online Event ส่งสัญญาณ livestreaming นักแสดงจากค่ายละครไทย 3 ค่าย ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อทำกิจกรรมสดร่วมกับแฟนละครในญี่ปุ่นแบบ exclusive ขณะเดียวกัน ได้มีการแพร่ภาพสดออนไลน์ด้วย และได้รับการตอบรับจากแฟนคลับเป็นอย่างดี
สำหรับในปี 2565 นี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดงานแบบออนไลน์เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ในหัวข้อ
“T-Pop” เพื่อต่อยอดจากหัวข้อละครไทยในปี 2564 โดยนำเสนอกระแสเพลง
T-Pop และไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ของคนไทย บนพื้นฐานเอกลักษณ์ความเป็นคนไทยที่ชอบความร่าเริง ความสนุก ความร่าเริง ความสบาย ๆ ขณะเดียวกัน ก็ได้ใช้ T-Pop ในการส่งเสริมอาหารไทย สินค้าไทยไปด้วย
การจัดงานครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมมือกับรายการ T-Pop Stage Show ของบริษัท Workpoint Entertainment จัดคอนเสิร์ต T-Pop Stage Show: Special Episode with Thai Festival in Japan 2022 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ในงานได้รับความร่วมมือจากศิลปินแนวหน้าของไทย 8 กลุ่ม จัดทำคอนเสิร์ตที่มีแสง สี เสียงที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ทำให้มีผู้ติดตามเข้าชมรวม 1.3 ล้านครั้ง ทั้งไทย ญี่ปุ่น อาเซียน และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ยอดผู้เข้าชมช่วงไลฟ์สดสูงถึง 7.5 หมื่นคน ซึ่งสูงกว่าช่วงการจัดงาน Thai Drama Festival ปีที่แล้ว 3 เท่า และในวันไลฟ์สด #ThaiFestivalinJapan ติดอันดับ 2 trending ในไทย มี 109,000 Tweets
ทั้งนี้ สามารถชมงานเทศกาลไทยในปีนี้ย้อนหลังได้ทาง YouTube: RTETOKYO (Playlist: Thai Festival in Japan 2022)
กระแสตอบรับที่ดีจากทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของศิลปินไทยที่พร้อมจะก้าวไปสู่ระดับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระดับประชาชน และเผยแพร่ T-Pop ให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มใหม่ ๆ ในวงกว้าง
ก้าวต่อไปกับ T-Pop
บทสรุปความสำเร็จของงานเทศกาลไทยในปีนี้ กล่าวได้สั้น ๆ ว่าเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น ทำให้สามารถผลักดันให้โลกเห็นศักยภาพของ T-Pop ได้ไกลยิ่งขึ้น
และจากการจัดงานออนไลน์ในหัวข้อ T-Pop เป็นครั้งแรก ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ยังมีภาคเอกชนไทยสนใจที่จะขยายตลาดในต่างประเทศอีกจำนวนมาก แต่มีอุปสรรคในการหาหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ ในทางกลับกัน ภาคเอกชนในญี่ปุ่นก็พยายามหาช่องทางในการติดต่ออุตสาหกรรมบันเทิงของไทยเช่นกัน
สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงตั้งใจที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่นที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับการผลักดันผลงานของศิลปินและนักแสดงไทยในต่างประเทศ
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมิใช่กำแพง แต่กลับเป็นเสน่ห์ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้คนทั่วโลกอยากค้นหา T-Pop มากขึ้นเรื่อย ๆ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงจะเป็นผู้ป้อนกระแสความนิยมไทยในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไทยทั้งในรูปแบบดั้งเดิม และความทันสมัยของไทยในยุคดิจิทัล
ในปีหน้า สถานเอกอัครราชทูตฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถกลับมาจัดงานเทศกาลไทยได้ที่สวนโยโยงิอีกครั้ง และจัดงานออนไลน์ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ T-Pop เข้าไปอยู่ในใจคนญี่ปุ่น และต่อยอดอุตสาหกรรม T-Pop ของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และสินค้าไทยให้ได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก
********************
มิถุนายน 2565