




19/10/2009
“ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า
ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาวๆ เรียกว่างวง
มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา มีหูมีตาหางยาว”
คำร้องเพลง “ช้าง” ผู้แต่ง คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง
เมื่อ “อาทิตย์” และ “อุทัย” มาถึงประเทศญี่ปุ่น ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่เย็นกว่าบ้านเกิดมาก อาหารที่แตกต่างจากเดิม และที่สำคัญคือ ภาษา ที่เคยคุ้นเคยก็เปลี่ยนไป ช้างไทยทั้งสองเชือกต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
สถานเอกอัครราชทูตฯ ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามและสัมภาษณ์ “คนเลี้ยงช้าง” ชาวญี่ปุ่น คือ นายโยชิฟุมิ สึรุมิ ซึ่งได้เล่าพัฒนาการของ “อาทิตย์” และ “อุทัย” พร้อมกับความภูมิใจ ความประทับใจ และความผูกพันที่มีกับช้างไทยทั้งสองเชือกได้อย่างน่าฟัง
เมื่อมาถึงญี่ปุ่นใหม่ๆ อาทิตย์และอุทัยเข้าใจแต่ภาษาไทย ทำอย่างไรได้ ผู้ดูแลช้างชาวญี่ปุ่นจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับช้างก่อน โดยหัดพูดภาษาไทย เพื่อสื่อสารกับ “อาทิตย์” และ “อุทัย” จากนั้นก็ค่อยๆ สอนให้ทั้งสองเชือกรู้จักและเข้าใจภาษาญี่ปุ่น
ตอนนี้ทั้งอาทิตย์และอุทัยฟังภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว จนอาจจะลืมภาษาไทยไปแล้วก็ได้
ขณะที่อยู่เมืองไทย “อาทิตย์” และ “อุทัย” กินกล้วยเป็นอาหารหลัก เมื่อมาถึงญี่ปุ่นจึงไม่ยอมกินแอปเปิ้ล เพราะเป็นอาหารไม่คุ้นเคย จนกระทั่งทั้งสองเชือกสังเกตเห็นเห็นช้างเชือกอื่นๆ กินแอปเปิ้ลอย่างเอร็ดอร่อย “อาทิตย์” และ “อุทัย” จึงยอมกินแอปเปิ้ลในที่สุด
อาหารโปรดของ “อาทิตย์” คือ กล้วย และอ้อย สำหรับ “อุทัย” คือ ขนมปัง และกล้วย ซึ่งทางสวนสัตว์อูเอโนะเตรียมอาหารสำหรับ “อาทิตย์” และ “อุทัย” รวมทั้ง ช้างเชือกอื่นๆ ที่อยู่ในสวนสัตว์อย่างพอเพียง “อาทิตย์” ได้กินอาหารปริมาณ 90 กิโลกรัม/วัน และ “อุทัย” กินในปริมาณ 70 กิโลกรัม/วัน
โดยที่สภาพอากาศในประเทศไทยเป็นอากาศร้อน การปล่อยให้ “อาทิตย์” และ “อุทัย” ปรับตัวกับสภาพอากาศโดยลำพังคงเป็นไปได้ยาก ทางสวนสัตว์อุเอะโนะจึงปรับปรุงโรงเลี้ยงช้างและทำพิธีเปิดโรงเลี้ยงช้าง แห่งใหม่ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2547 ที่โรงเลี้ยงช้างภายในสวนสัตว์อุเอะโนะจึงมีอุปกรณ์ทำความอุ่นสำหรับฤดูหนาว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำความอุ่นฝังติดพื้น หรือเครื่องทำความอุ่นโดยรังสีอินฟราเรด ซึ่งช่วยให้“อาทิตย์” และ “อุทัย” ผ่านฤดูหนาวได้อย่างไม่ลำบาก
นิสัยเด่นของ “อาทิตย์”
“อาทิตย์ชอบเดินไปเดินมาที่พื้นที่นอกโรงเลี้ยงช้างและภายในโรงเลี้ยงช้าง ความเป็นช้างพัง (ช้างตัวผู้) บางครั้งมีอุปนิสัยดื้อรั้น บางครั้งชอบแกล้งคนเลี้ยงช้าง หรือพ่นน้ำจากงวงใส่คนเลี้ยงช้างเวลาอารมณ์ไม่ดี คนเลี้ยงช้างเลยต้องแสดงความเกรงใจกับอาทิตย์”
เล่ากันว่าช้างในเมืองไทยชอบเดินเล่น “อาทิตย์” และ ”อุทัย” เมื่อมาถึงญี่ปุ่น ควาญช้างที่มาจากเมืองไทยอยากให้ทั้ง 2 เชือกได้เดินเล่นบ้าง ทางสวนสัตว์อุเอะโนะจึงพาอาทิตย์และอุทัยเดินเล่นรอบๆ สวน ฉับพลัน นกกระเรียนก็ร้องขึ้น ด้วยความตกใจ “อาทิตย์” และ “อุทัย” จึงวิ่งเตลิด จนคนดูแลช้างวิ่งตามไม่ทัน แต่น่าประทับใจที่ “อาทิตย์” และ “อุทัย” เมื่อหายตกใจแล้ว ทั้งสองเชือกเดินกลับมาที่โรงเลี้ยงช้างเอง ทุกคนจึงรู้สึกโล่งอกที่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง
คุณสึรุมิ เล่าว่า กว่าจะทำให้ช้างยอมรับและเชื่อฟังคนเลี้ยงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในช่วงแรกที่ดูแลช้างนั้น ด้วยความไม่คุ้นเคยกันมาก่อน ช้างจะมองคนเลี้ยงในฐานะที่ด้อยกว่า หรือต่ำกว่า เนื่องจากคนเลี้ยงอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาของช้างอยู่แล้ว ช้างจะทดสอบความอดทนของคนเลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง เช่น เอางวงผลักคนเลี้ยง พ่นน้ำจากงวงใส่ คนเลี้ยงช้างต้องใช้เวลาถึง 3-5 ปีเพื่อให้ได้รับการยอมรับและเชื่อฟังจากช้าง เมื่อช้างให้การยอมรับแล้ว ทุกอย่างก็ราบรื่น เรียกเพียงชื่อ ก็เดินเข้ามาหาอย่างช้าๆ และเป็นมิตร เพราะช้างมีความจำดี จดจำคนเลี้ยงได้ไม่ยาก
นิสัยเด่นของ “อุทัย”
“อุทัย” เป็นมิตรกับคน อ่อนโยน ใจดี ไม่ดื้อรั้นเท่ากับ “อาทิตย์” ยอมให้คนสัมผัสตัวช้างโดยดี อาจเป็นเพราะเป็นช้างที่อายุน้อยที่สุดของสวนสัตว์อุเอะโนะ มาญี่ปุ่นตั้งแต่อายุยังน้อย จึงปรับตัวได้ง่ายกว่า “อาทิตย์”
ช้างตัวใหญ่ ไม่น่าจะกลัวอะไรนอกจากควาญช้าง ที่จริงแล้ว ช้างในสวนสัตว์อูเอะโนะกลัวอยู่สิ่งหนึ่ง คือ “สัตวแพทย์” ด้วยความจำที่ดีตามธรรมชาติของช้าง นอกจากจดจำคนเลี้ยงช้างได้แล้ว ยังรวมถึงสัตวแพทย์ด้วย เมื่อสัตวแพทย์เดินทางมาตรวจ ช้างจะรู้ทันที (อาจเป็นเพราะจดจำกลิ่นสัตวแพทย์ หรือกลิ่นยา) และจะเดินหนีไปห่างๆ เพราะไม่อยากถูกตรวจ
“ปัจจุบัน ที่สวนสัตว์มีเจ้าหน้าที่ดูแลช้างทั้งหมด 6 คน ซึ่งไม่เพียงพอและต้องการให้มีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น แต่การจะเป็นผู้ดูแลช้างได้นั้น ต้องใช้เวลาพอสมควร เริ่มจากการทำความคุ้นเคยกับช้าง สร้างความสนิทสนมโดยการให้อาหาร หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ฝึกให้ช้างรู้จักฟังคำสั่ง และสิ่งเหล่านี้ก็มิได้ทำได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลา 3-5 ปีเป็นอย่างน้อย แต่ว่าเวลาที่ได้อยู่และดูแลช้างเป็นช่วงเวลาที่สนุกและมีความสุขสำหรับผู้ ดูแลช้างทุกคน สวนสัตว์อุเอะโนะสร้างโรงเลี้ยงช้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2547 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับป่าตามธรรมชาติแล้ว ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ยังแคบอยู่ทีเดียว
ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ จึงอยากจะให้ช้างได้อยู่ในที่กว้างๆ มีโรงเลี้ยงช้างที่ใหญ่เพียงพอให้ช้างตัวผู้และตัวเมียอยู่อย่างเป็นสัดส่วน และมีพื้นที่สำหรับฝึกช้างด้วย
สุดท้ายนี้ "สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน หากมีเวลา อย่าลืมแวะมาดูความน่ารักของอาทิตย์และอุทัยที่สวนสัตว์อุเอะโนะนะครับ"
เพศ | เมีย |
เกิดเมื่อ | ประมาณปี 2460 |
มาญี่ปุ่นเมื่อ | 4 มิถุนายน 2478
ล้มเมื่อ 11 กันยายน 2486 (อายุ 26 ปี) |
เพศ | เมีย |
เกิดเมื่อ | ประมาณปี 2490 |
มาญี่ปุ่นเมื่อ | 4 กันยายน 2492
ย้ายไปสวนสัตว์อิโนะคะชิระ เมื่อ 5 มีนาคม 2497 |
เพศ | เมีย |
เกิดเมื่อ | ประมาณปี 2487 |
มาญี่ปุ่นเมื่อ | 26 พฤษภาคม 2494
ล้มเมื่อ 28 มิถุนายน 2543 (อายุ 56 ปี) |
เพศ | ผู้ |
เกิดเมื่อ | พฤศจิกายน 2506 |
มาญี่ปุ่นเมื่อ | 16 เมษายน 2548
ล้มเมื่อ 25 ตุลาคม 2545 (อายุ 39 ปี) |