




19/10/2009
"ฮานาโกะ" ไม่ใช่ช้างที่กิน เล่นน้ำ และนอน แต่เป็นช้างที่มีงานทำโดยเฉพาะการแสดงตัวพร้อมกับเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ Inokashira Shizen Bunkaen มาดูกันว่าใน 1 วัน "ฮานาโกะ" และผู้ดูแลช้างต้องทำอะไรกันบ้าง
ปัจจุบัน มีผู้ดูแล “ฮานาโกะ” ที่สวนสัตว์ Inokashira Shizen Bunkaen ทั้งหมด 4 คน ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล “ฮานาโกะ” อย่างใกล้ชิด ในเรื่องอาหารและการดูแลสุขภาพทั่วไป ที่พิเศษ คือ การดูแลเท้าของ “ฮานาโกะ” เช่น ตัดเล็บ และทาน้ำมันที่เท้าเพื่อให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งมีสัตวแพทย์คอยตรวจสุขภาพของ “ฮานาโกะ” เป็นระยะด้วย
สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณสึเนะโอะ คิซะกิ ผู้ดูแลช้างคนปัจจุบันของ “ฮานาโกะ” และเป็นผู้ให้ความดูแล “ฮานาโกะ” มานานถึง 8 ปี หรือตั้งแต่ พ.ศ 2544 ทำให้เราได้ทราบถึงความผูกพันระหว่างคนและช้าง รวมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับอุปนิสัยเฉพาะและความน่ารักของ “ฮานาโกะ” ในแง่มุมที่น้อยคนจะได้ทราบ จึงขอเล่าสู่กันฟังในที่นี้ด้วย
“ฮานาโกะ” มีนิสัยที่ตกใจง่ายตามธรรมชาติของช้าง แม้ว่าจะมีอาการตกใจน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ “ฮานาโกะ” ก็ยังตกใจเมื่อได้ยินเสียงดังๆ เช่น เสียงรถพยาบาล หรือเสียงฟ้าร้อง และจะวิ่งไปรอบๆ ลานกลางแจ้งเมื่อตกใจ
“ฮานาโกะ” มีวิธีแสดงความรู้สึกให้คนรอบข้างเข้าใจอารมณ์ได้ดี เวลาที่ถูกผู้ดูแลช้างดุและตำหนิ “ฮานาโกะ” จะแสดงให้คนเข้าใจถึงความรู้สึกผิดได้ และมีบางครั้งที่ “ฮานาโกะ” จะแสดงอาการส่งเสียงฟึดฟัดเพื่อสื่อสารให้ผู้อยู่ใกล้เข้าใจถึงอารมณ์ไม่พอใจของ “ฮานาโกะ”
“ฮานาโกะ” เป็นช้างที่มีความรู้สึกคล้ายกับคน เช่น หากมีคนที่ “ฮานาโกะ” ไม่ชอบมาอยู่ใกล้ๆ “ฮานาโกะ” จะไม่แสดงกริยาหรืออารมณ์ไม่พอใจต่อหน้าคนดังกล่าว จนเมื่อคนดังกล่าวกลับไปแล้ว “ฮานาโกะ” จะใช้งวงคุ้ยเขี่ยขยะ หรือปาข้าวของเพื่อแสดงความรู้สึกไม่ชอบหน้าคนๆ นั้น
พฤติกรรมของ “ฮานาโกะ” บางอย่างก็ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ เช่น “ฮานาโกะ” จะเหลืออาหารชิ้นสุดท้ายไว้ทุกครั้ง คาดว่าคงเก็บไว้กินทีหลัง หรือ “ฮานาโกะ” จะไม่ยอมเดินผ่านประตูด้านในที่เชื่อมระหว่างที่นอนกับลานกลางแจ้ง และจะเดินเข้า-ออกทางประตูด้านนอกเท่านั้น ซึ่งผู้ดูแลช้างไม่สามารถให้คำอธิบายสาเหตุได้
สิ่งที่ คุณคิซะกิ กังวลมากที่สุด คือ สุขภาพของ “ฮานาโกะ” เพราะอายุมากและไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร บางครั้งมีอาการท้องผูก จึงต้องดูแลเอาใจใส่อาหารการกินเป็นอย่างดี ที่สำคัญ คือ เท้าของ “ฮานาโกะ” เคยมีอาการติดเชื้อ ทำให้ผู้ดูแลช้างทุกคนนอกจากให้ความรักแล้ว ยังต้องเอาใจใส่ในรายละเอียดการดูแล “ฮานาโกะ” เป็นพิเศษ เพื่อให้ “ฮานาโกะ” มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ และมีอายุยืนยาวให้คนญี่ปุ่นได้ชื่นชมความเป็น “ช้างพิเศษ” จนถึงทุกวันนี้
ท้ายนี้ คุณคิซะกิ ได้ฝากถึงท่านผู้อ่านว่า “ฮานาโกะ”เป็นช้างตัวแรกที่เดินทางมาญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ถึงแม้ว่าช้าง “อินทิรา” จากอินเดีย ที่เดินทางมาหลัง “ฮานาโกะ” อาจจะเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่ “ฮานาโกะ” ก็เป็นช้างที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นยาวนานที่สุด ตอนนี้ “ฮานาโกะ” หน้าตาแก่ลงไปตามวัย และเป็นช้างที่อายุยืนที่สุด เท่ากันกับช้าง “อุเมะโกะ” ที่ Odawara Joshi Koen
การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเมืองไทย อาจทำให้ “ฮานาโกะ” ต้องพบกับความยากลำบากหลายอย่างตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ผมรู้สึกได้ว่า “ฮานาโกะ” ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีความสุข และด้วยความที่ตั้งแต่ “ฮานาโกะ” ย้ายมาอยู่ที่สวนสัตว์อิโนะคะชิระ ก็อยู่ตัวเดียวมาตลอด จึงอาจรู้สึกว่าผู้ดูแลช้างทุกคนเป็นพวกเดียวกับตน เวลาที่ผู้ดูแลช้างคุยกัน “ฮานาโกะ” ก็จะคอยเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เหมือนอยากจะบอกว่า “อย่าทิ้งให้ฉันอยู่คนเดียวสิ”
“ฮานาโกะ” เป็นดาราของสวนสัตว์อิโนะคะชิระตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ที่นี่เป็นสวนสัตว์เล็กๆ แต่ก็มีหลายครอบครัวที่เดินทางมาไกล เพื่อมาเจอกับ “ฮานาโกะ” ซึ่งตัวผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่มีมายาวนานผ่านทาง “ฮานาโกะ” ช้างไทยเชือกนี้ต่อไปครับ