ช้างไทยในญี่ปุ่น ตอนที่ 16 : "ฮารุโกะ" ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ นครโอซากา (1)

05/03/2010

ตอนที่ 16 "ฮารุโกะ" ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ นครโอซากา (1)

หลังจากแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักช้างไทยในญี่ปุ่นมาถึงตอนที่ 15 ซึ่งล้วนเป็นช้างไทยในกรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง ในตอนที่ 16 นี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ขอแนะนำช้างไทยอีกเชือกหนึ่งที่อยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น ชื่อ “ฮารุโกะ” ที่สวนสัตว์เทนโนจิ นครโอซากา ให้ทุกท่านรู้จัก


มารู้จัก “ฮารุโกะ” กันเถอะ

ที่สวนสัตว์เทนโนจิ มีช้างทั้งหมด 2 เชือก หนึ่งในนั้นเป็นช้างไทยชื่อ “ฮารุโกะ” เกิดในปี พ.ศ 2491 ปัจจุบันอายุ 61 ปี เดินทางมาถึงญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ 2493 ขณะมีอายุ 2 ปี “ฮารุโกะ” จึงเป็นช้างไทยที่อาศัยอยู่ในนครโอซากามานานถึง 61 ปี และเป็นสัญลักษณ์ของสวนสัตว์เทนโนจิ


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ นครโอซากา

"ฮารุโกะ"

มาญี่ปุ่นเมื่อ 14 เมษายน 2493
วันเดือนปีเกิด ปี 2491
เพศ เมีย
ความยาวของลำตัว 400 ซม.
ส่วนสูง 295 ซม.
น้ำหนัก ประมาณ 4,000 กก.
งา ไม่มี


ป่าไทยจำลอง บ้านของ "ฮารุโกะ"

บริเวณด้านหน้าโรงช้างหรือบ้านของ “ฮารุโกะ” ในสวนสัตว์เทนโนจิ จะเห็นป้ายภาษาไทยชัดเจนเขียนว่า “ป่าของช้าง” และ “สวนอุทยานแห่งชาติเขาช้างใหญ่” เพราะว่าโรงช้างแห่งนี้มีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่น กล่าวคือ เป็นการจำลองสภาพป่าธรรมชาติของเมืองไทย เพื่อให้คนที่มาชมได้สัมผัสกับป่าและสภาพความเป็นอยู่ของช้างตามธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เหตุผลที่สวนสัตว์เทนโนจิจำลองบ้านของช้างให้เป็นสภาพป่าของไทยก็เพราะว่า “ฮารุโกะ” เป็นช้างที่มาจากประเทศไทยนั่นเอง


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ      ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

เมื่อเข้าไปใน “ป่าของช้าง” จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศป่าที่เป็นป่าธรรมชาติ มีต้นไม้หนาแน่จน ไม่เห็นอาคารด้านนอกได้เลย ต้นไม้ในบริเวณป่าแห่งนี้เป็นพันธุ์ไม้เขตเมืองร้อน ซึ่งสวนสัตว์เทนโนจิพยายามใช้พันธุ์ไม้ที่ใกล้เคียงกับป่าของไทยให้มากที่สุด รวมทั้งจำลองรอยเท้าของช้าง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไว้ตามทางเดินและบริเวณรอบๆ เพื่อให้ผู้ชมสวนสัตว์รู้สึกเหมือนอยู่ในป่าที่มีช้างอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ      ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ      ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

การจัดทำป่าจำลองเช่นนี้ทำให้ผู้มาชมสวนสัตว์ โดยเฉพาะเด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ เพราะตลอดทางเดินในป่าของช้าง นอกจากจำลองสภาพธรรมชาติแล้ว ยังจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นจริงด้วย เช่น การอยู่เวรเฝ้าสวนกล้วยเพื่อไม่ให้ช้างมาทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยสร้างกระท่อมสำหรับคนเฝ้ายาม เป็นต้น ทำให้ผู้ที่มาชมได้เรียนรู้และเข้าใจสภาพธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ