ช้างไทยในญี่ปุ่น ตอนที่ 17 : "ฮารุโกะ" ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ นครโอซากา (2)

07/06/2010

ตอนที่ 17 "ฮารุโกะ" ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ นครโอซากา (2)

สุขภาพของ "ฮารุโกะ"

ปัจจุบัน “ฮารุโกะ” มีอายุ 61 ปี แต่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงนัก นอกจากตาข้างขวาที่เป็นต้อ คาดว่ามาจากความชรา

“ฮารุโกะ” เริ่มมีอาการเป็นต้อที่ตาข้างขวาเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตาข้างขวาของ “ฮารุโกะ” จึงบอดสนิท การมองเห็นด้วยตาซ้ายแค่เพียงข้างเดียว อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ฮารุโกะ” เป็นช้างที่ระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และ “ฮารุโกะ” ไม่ชอบเล่นน้ำในบ่อเหมือนช้างทั่วๆ ไป อาจเป็นเพราะกลัวล้มก็เป็นได้


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ      ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

ปัญหาสุขภาพอื่นๆ คือ แผลฉีกขาดที่ปลายงวง มีสาเหตุจากการต่อสู้กับช้างอีกเชือกหนึ่ง เพราะ “ฮารุโกะ” เป็นช้างที่อยู่ก่อนช้างเชือกอื่นจึงถือว่าเป็นใหญ่กว่า ขณะที่ช้างอีกเชือกนั้นเป็นช้างอายุน้อยมีกำลังมากกว่า จึงทำเกิดการต่อสู้ตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ทางผู้ดูแลช้างบอกว่าถ้าไม่ปล่อยให้ทั้งสองตัวได้ปะทะกันบ้าง จะทำให้ช้างเกิดความเครียดและส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพได้ จึงสร้างรั้วกั้นระหว่างกลางไว้ไม่สูงมากนักและแน่นหนาพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากการต่อสู้กัน เพียงให้ช้างสามารถยื่นงวงออกไปถึงกันได้ และผู้ดูแลสวนสัตว์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด



"ฮารุโกะ" กับอาหารประจำวัน


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

“ฮารุโกะ” จะกินอาหารวันละประมาณ 80-90 กิโลกรัมต่อวัน อาหารประจำวันของ “ฮารุโกะ” ประกอบด้วย หญ้าสด หญ้าแห้ง มันฝรั่ง มันเทศ ขนมปังและผลไม้ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ผู้ดูแลช้างจะเตรียมอาหารในแต่ละวันสำหรับ “ฮารุโกะ” เป็น 3 ส่วน สำหรับมื้อเช้า กลางวัน และเย็น โดยมื้อเย็นจะมีปริมาณมากที่สุด คือ ประมาณ 60 กิโลกรัม บางครั้งผู้ดูแลช้างจะไม่วางอาหารไว้ที่เดิม แต่จะเปลี่ยนที่วางอาหารไปเรื่อยๆ เพื่อให้ “ฮารุโกะ” เดินหา เป็นการออกกำลังกายไปในตัว


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

อาหารที่ “ฮารุโกะ” ชอบกินเป็นพิเศษส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิ้ล แตงโม เกรฟฟรุต ส้ม ฯลฯ แต่ “ฮารุโกะ” มีอายุมากแล้ว ทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ดีนัก ขณะนี้ “ฮารุโกะ” จะใช้ฟันด้านขวาเคี้ยวอาหาร ทางสวนสัตว์จึงต้องคอยดูแลการจัดเตรียมอาหารและปริมาณให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของ “ฮารุโกะ”



คุยกับผู้ดูแลช้าง


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

ขอขอบคุณคุณโทชิฮิโร นิชิดะ ผู้ดูแลช้างประจำสวนสัตว์เทนโนจิ ที่กรุณาสละเวลามาแนะนำและพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการดูแล “ฮารุโกะ” อย่างเป็นกันเอง

ก่อนที่คุณนิชิดะมารับหน้าที่เป็นผู้ดูแลช้างนั้น คุณนิชิดะเคยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ และเคยมีประสบการณ์ในการดูแลสัตว์อื่นๆ มาก่อน คุณนิชิดะต้องใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อทำให้ “ฮารุโกะ” ยอมรับและยอมให้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ตอนนี้ “ฮารุโกะ” เชื่อฟังคุณนิชิดะมาก และคอยมองหาเป็นนิสัย และเมื่อเรียกชื่อ “ฮารุโกะ” ก็จะรีบเดินเข้ามาใกล้ๆ ทันที

คุณนิชิดะบอกว่าวิธีเลี้ยงช้างนั้นมีหลายวิธี เช่น วิธีเลี้ยงแบบไทย แบบอินเดีย หรือแบบศรีลังกา แต่คุณนิชิดะเห็นว่าวิธีการเลี้ยงและฝึกหัดช้างแบบไทยนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นการดูแลแบบใกล้ชิด สังเกตได้จากอุปกรณ์ที่ใช้จะเห็นได้ว่า ตะขอที่ควาญช้างไทยใช้นั้นจะมีขนาดเล็กและสั้นกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในประเทศอื่นๆ การดูแลช้างโดยวิธีแบบไทยๆ นี้เป็นวิธีที่สามารถสื่อสารกับช้างได้ดี และบังคับช้างได้ดี ทำให้ฝึกช้างได้ดีและมีประสิทธิภาพ วิธีฝึกช้างแบบไทยใช้ได้ผลดีไม่เพียงแต่กับช้างเอเชียเท่านั้น สามารถนำไปใช้ได้ผลดีกับช้างแอฟริกันด้วย


ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ      ฮารุโกะ ช้างไทยที่สวนสัตว์เทนโนจิ

คุณนิชิดะกล่าวว่า อยากจะให้ “ฮารุโกะ” มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนจนสามารถทำลายสถิติของญี่ปุ่นได้ เพื่อเป็นการบอกให้ทุกคนรวมทั้งคนไทยทราบว่า ช้างไทยที่อยู่ที่นี่นั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี และอยากให้ “ฮารุโกะ” เป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เช่น ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักเมืองไทยมากขึ้นโดยผ่าน “ฮารุโกะ” และอยากให้ “ฮารุโกะ” เป็นแรงบันดาลใจให้มีการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย หรือศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น คุณนิชิดะกล่าวว่า ในฐานะผู้ดูแลช้างจะทำหน้าที่ดูแลช้างให้ดีที่สุด และใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในการเผยแพร่และถ่ายทอดให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจำลองธรรมชาติป่าของไทยให้เหมือนจริงมากที่สุด หรือการทำป้ายแสดงประวัติความเป็นมาและเนื้อหาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับช้างและธรรมชาติให้กับผู้เยี่ยมชมสวนสัตว์ได้รับความรู้ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้หันมา เรียนรู้และใส่ใจเรื่องการรักษาธรรมชาติ การอยู่และพึ่งพาอาศัยกันของมนุษย์และสัตว์มากขึ้น

บทความด้านบนจัดทำขึ้นเมื่อปี 2552 ทั้งนี้ "ฮารุโกะ" ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ด้วยความชราภาพ รวมอายุได้ 66 ปี "ฮารุโกะ" ได้เดินทางจากประเทศไทยทางเรือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอาศัยอยู่ที่โอซากาเป็นเวลากว่า 60 ปี และได้รับความนิยมจากผู้มาเยี่ยมชมสวนสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ผู้คนจำนวนมากได้วางดอกไม้อำลาอาลัยต่อการจากไปในครั้งนี้