ตอนที่ 1 มะม่วงไทยหลากพันธุ์

07/06/2010

มะม่วงเป็นผลไม้ที่คนไทย นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย โดยจะบริโภคสด ทั้งมะม่วงดิบ และมะม่วงสุก มะม่วงมีปลูกตามบ้านเพื่อเก็บบริโภคเอง และปลูกเป็นการค้า อีกทั้งปลูกเพื่อส่งออกต่างประเทศ ด้วย มะม่วงเป็นไม้ที่ปลูกเพื่อนำผลมาบริโภค ใบอ่อนสามารถบริโภคได้ ต้นมะม่วงให้ร่มเงาและความร่มย็นแก่บ้านจึงเป็นที่นิยมปลูกทั่วไป ไม้มะม่วงยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย

มะม่วงพันธุ์บริโภคสด ที่เป็นที่นิยมทานเป็นมะม่วงสุกได้แก่ มะม่วงอกร่อง มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงมหาชนก มะม่วงหนังกลางวัน มะม่วงทองดำ ส่วนมะม่วงพันธุ์ที่นิยมบริโภคดิบได้แก่ เขียวเสวย แรด โชคอนันต์ แก้ว ฟ้าลั่น มะม่วงแก้ว และมะม่วงเบา มะม่วงที่ส่งออกมากได้แก่ น้ำดอกไม้ มหาชนก แก้ว เขียวเสวย เป็นต้น

ปัจจุบันผลผลิตมะม่วงของไทยสูงถึง 2.46 ล้านตัน ต่อปี พื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 308,026 เฮคแตร์ จังหวัดที่มีผลผลิตมะม่วงมาก ได้แก่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา อุดรธานี อุทัยธานี


     

     

มะม่วงให้ผลได้ทั้งปี แต่ปริมาณออกผลมากน้อย และต่างช่วงเวลาบ้างตามสายพันธุ์ ในปัจจุบัน มีการกระจายพื้นที่ปลูกเกือบทั่วประเทศ และมีการพัฒนาการผลิตมะม่วงนอกฤดู ทำให้มีผลผลิตมะม่วงสม่ำเสมอทั้งปี เหมาะสมกับการพัฒนาตลาดและการส่งออกมากขึ้น (ตารางผลผลิตมะม่วงของไทย)






มะม่วงพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นที่นิยม

มะม่วงน้ำดอกไม้

มะม่วงไทยจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ และมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ “Golden mongo” “Yellow mango” มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นที่รู้จักและนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะน้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้เบอร์ 4 มีรูปทรงไข่แบน น้ำหนักผล 300-500 กรัม เปลือกบาง ผิวและเนื้อสีเหลือง มีจุดเด่นที่ สีผิวเหลืองนวลสวยงาม เนื้อแน่น นุ่มเป็นเสี้ยนเล็กน้อย มีเนื้อมาก เมล็ดบาง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย และหวานหอมเมื่อแก่จัด เหมาะการรับประทานสุก แต่มีผิวบาง ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ผลดิบจะมีรสเปรี้ยวมาก รับประทานเป็นมะม่วงดิบ หรือทำสลัดได้

มะม่วงมหาชนก

มหาชนกเป็นมะม่วงพันธุ์ผสมระหว่างมะม่วงหนังกลางวัน และมะม่วงซันเซท ผลมะม่วงมหาชนกมีรูปร่างยาวเรียวรี เหมือนงาช้าง เปลือกค่อนข้างหนา น้ำหนักผลประมาณ 300 – 600 กรัม/ผล เมื่อสุกมีกลิ่นหอมจัด เนื้อสีส้มอมเหลือง มีกลิ่นขี้ไต้ ผลสุก รสหวานหอม มีกลิ่นหอมฉุนขี้ไต้เล็กน้อย และกลิ่นฉุนเพิ่มขึ้นเมื่อสุกแก่จัด รสหวานอ่อนกว่าน้ำดอกไม้และไม่อมเปรี้ยว เนื้ออ่อนนุ่ม ปริมาณเนื้อมาก เมล็ดบาง เหมาะกับการรับประทานสุก และนำทำน้ำมะม่วง ขนมหวาน และไอสครีม ผลดิบมีรสเปรี้ยว

มะม่วงหนังกลางวัน

เป็นมะม่วงพันธุ์หนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมผลิตส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ ลักษณะของผลมีรูปร่างยาวพอๆ กับมะม่วงน้ำดอกไม้ หัวท้ายของผลงอน แต่ส่วนปลายจะแหลมและงอนเล็กน้อย ผิวของผลเมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวหม่น ผิวเรียบ เนื้อสีขาวนวลละเอียด กรอบ มีเสี้ยนค่อนข้างน้อย รสเปรี้ยว ผลสุกจะมีผิวสีเหลืองทอง เนื้อสีเหลือง ลักษณะของเนื้อละเอียดมีเสี้ยนน้อย รสหวานหอม เมล็ดบาง เปลือกของผลหนาทำให้ขนส่งได้ดี ภาคเหนือเรียกว่า มะม่วงงา บางแห่งเรียกมะม่วงแขนอ่อน

มะม่วงแรด

ผลรูปไข่กลม ปลายงอนแหลมมน ตรงใกล้ขั้วจะมีติ่งยื่นออกมาคล้ายนอแรด ผิวเปลือกสีเขียวเข้ม เปลือกหนาเหียว เมื่อดิบมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อสีเหลืองอมเขียว เนื้อหยาบ มีเสี้ยน ผลดิบมีรสเปรี้ยว ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว เหมาะสำหรับการรับประทานดิบ ทำสลัด ยำมะม่วง

มะม่วงเขียวเสวย

เป็นมะม่วงที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน ผลใช้รับประทานดิบคุณภาพดีมาก รสชาติหวานตรงกับความต้องการของคนไทย ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมเรียวยาวงอนเล็กน้อย โดยมีส่วนหัวใหญ่หนาและเรียวลงสู่ส่วนปลาย ผลสีเขียวเข้ม เนื้อภายในมีสีขาวละเอียด กรอบ มีเนื้อมาก เสี้ยนค่อนข้างน้อย น้ำหนักของผลประมาณ 350 กรัม เมื่ออ่อนจะมีรสเปรี้ยว เปลือกหนาและเหนียว เมื่อแก่จัดจะมีรสหวานมัน เมื่อสุกเปลือกจะมีสีเขียวปนเหลือง ลักษณะของเนื้อภายในเหลือง รสหวานชืด

มะม่วงอกร่องทอง

เป็นพันธุ์มะม่วงที่เก่าแก่รู้จักกันทั่วไป ใช้สำหรับรับประทานสุกกับข้าวเหนียว ขนาดผลค่อนข้างเล็ก ลักษณะของผลค่อนข้างแบน ตรงส่วนท้องเป็นทางยาวจนเห็นได้ชัด ผลดิบเนื้อละเอียดสีขาวนวล มีเสี้ยนน้อย รสเปรี้ยวจัดจนกระทั่งแก่ เมื่อสุกผิวของเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองละเอียด รสหวานจัด เมล็ดมีลักษณะยาวแบน

มะม่วงโชคอนันต์

เป็นมะม่วงรับประทานสุก มีผลผลิตลอดทั้งปีแม้กระทั่งในฤดูฝน ลักษณะของผลคล้ายมะม่วงพิมเสนมัน เปลือกผลหนา เนื้อแข็ง เมื่อสุกเนื้อแน่นละเอียดไม่มีเสี้ยน เนื้อสีเหลืองทอง มีกลิ่นคล้ายมะม่วงสามปี รสชาติหวาน เมล็ดลีบหรือเมล็ดบาง น้ำหนักผลประมาณ 300-400 กรัม ผลสุกแล้วสามารถเก็บไว้ได้นาน 5-7 วัน โดยที่เนื้อยังไม่เละ ผลแก่เก็บทิ้งไว้ 15 วันก็ยังทานได้

มะม่วงทองดำ

ผลมีขนาดโตปานกลาง ลักษณะของผลจะหนา ป้อมปลายผลแหลมคล้ายรูปไข่ เมื่อดิบเปลือกสีเขียวเข้ม เนื้อสีขาวปนเหลือง เนื้อละเอียดกรอบ ผลเมื่อยังอ่อนอยู่จะมีรสเปรี้ยว แก่จัดรสมันอมเปรี้ยว ผลสุกผิวเปลือกสีเหลืองปนเขียว เนื้อสีเหลืองละเอียดมีเสี้ยนน้อย รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย น้ำหนักต่อผลประมาณ 350 กรัม

มะม่วงแก้ว

เป็นมะม่วงใช้รับประทานดิบ และใช้แปรรูป ได้หลากหลาย ผลมีลักษณะอ้วนป้อม ขั้วผลอูมใหญ่ เปลือกเหนียว เมื่อดิบผิวมีสีเขียวอ่อน เนื้อมีสีขาวรสเปรี้ยว เมื่อแก่เปลือกมีสีเขียวเข้ม และอมเหลืองส้มเมื่อแก่จัด เนื้อเป็นสีเหลือง เมื่อสุกรสจะหวาน หอม

มะม่วงฟ้าลั่น

เป็นมะม่วงที่นิยมรับประทานดิบ ในกลุ่มมะม่วงมัน รสมัน และไม่อมหวาน เนื้อขาวอมเขียว เวลาปอกจะมีเสียงแตก เป็นที่มาของชื่อฟ้าลั่น นอกจากนี้ยังมีมะม่วงอีกหลากหลายชนิด ที่ปลูกเพื่อบริโภคเองตามบ้าน หรือจำหน่ายในท้องถิ่น เช่น มะม่วงเบาลูกขนาดเล็กกว่าไข่ สำหรับทานสด มะม่วงขายตึก แก้วลืมรัง สำหรับทานสุก เป็นต้น


     

     

มะม่วงน้ำดอกไม้ และมหาชนก มีจำหน่ายแพร่หลายในญี่ปุ่น



มะม่วงหลากหลายของจังหวัดฉะเชิงเทรา



ทานมะม่วงให้อร่อย

สำหรับคนไทย จะทานมะม่วงต้องปอกเปลือกออกก่อน โดยเฉพาะมะม่วงดิบ มีดปอกมะม่วงต้องคม อาจใช้ที่ปอกเปลือก (peeler) ซึ่งเดี๋ยวนี้มีหลายรูปแบบให้เลือกถ้าคมจะปอกเปลือกได้ดีทั้งมะม่วงดิบและมะม่วงสุก มะม่วงสุกมัก จะปอกยากเพราะเนื้ออ่อน ผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆ มักจะบอกผู้หญิงสาวว่าถ้าปอกมะม่วงสุกแล้วน้ำไหลย้อย หรือปอกแล้วผิวไม่เรียบจะไม่มีใครมาขอแต่งงาน เพราะฉะนั้นต้องใช้มีดคมๆ แต่ก็มีวิธีรับประทานได้ง่าย โดยผ่าฝานครึ่งลูก ตามยาว แล้วกรีดเนื้อตามทางยาวและขวาง จะสามารถใช้ส้อมจิ้ม หรือช้อนตักทานได้โดยง่าย



การรับประทานหากเป็นมะม่วงดิบ จะมีรสเปรี้ยว ต้องทานกับเครื่องจิ้ม เช่น น้ำปลาหวาน กะปิหวาน หรืออาจทานเป็นกับข้าว เช่น หลนเต้าเจี้ยว หรือใช้จิ้มน้ำพริก หรืออาจนำมาเสริมรสเปรี้ยวในอาหาร เช่น ใส่ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย หมี่กะทิ และข้าวคลุกกะปิ หรือใช้ปรุงอาหาร เช่น น้ำพริกมะม่วง ยำมะม่วง ส้มตำมะม่วง เป็นต้น



น้ำมะม่วงเป็นที่นิยมมากขึ้น เช่นกัน สามารถใช้มะม่วงน้ำดอกไม้ มหาชนก แก้ว และ มะม่วงดิบ ปั่นทั้งเนื้อมะม่วง ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย ให้รสกลมกล่อม หรือปั่นกับโยเกริตทานเป็นอาหารเช้า ก็ได้

มะม่วงแปรรูป ซึ่งนิยมนำมะม่วงแก้ว มาแปรรูปเป็นน้ำมะม่วง มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงเค็ม มะม่วงแผ่น ตลอดจนแช่แข็งส่งออกต่างประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับทำแยม โยเกริต และขนมต่างๆ ด้วย


ขนมหวานจากมะม่วง โดย โรงแรมดุสิตรีสอร์ทพัทยา



มะม่วงไทยในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นอนุญาตการนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยเมื่อปี 2530 นี้เอง กรมวิชาการเกษตรบันทึกไว้ว่าได้เริ่มขอให้ญี่ปุ่นอนุญาตการนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยในปี 2521 โดย JICA ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญการกำจัดแมลงวันผลไม้โดยการอบไอน้ำ และเครื่องอบไอน้ำผลไม้สำหรับพัฒนาการการกำจัดแมลงในมะม่วง นักวิจัยไทยและญี่ปุ่นประสบผลสำเร็จในการพัฒนาวิธีการอบไอน้ำมะม่วงเพื่อกำจัดแมลงวันสีทอง แมลงวันแตงโม สำหรับมะม่วงหนังกลางวัน สำเร็จในปี 2529 ญี่ปุ่นจึงอนุญาตการนำเข้าเฉพาะพันธุ์หนังกลางวันที่ผ่านการอบไอน้ำ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2530 จากนั้นในปี 2536 ได้มีการเพิ่มชนิดมะม่วงที่อนุญาตให้นำเข้า อีก 3 พันธุ์ ได้แก่ แรด พิมเสนแดง น้ำดอกไม้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น อนุญาตการนำเข้ามะม่วงมหาชนก ปัจจุบันมะม่วงหนังกลางวัน และ พิมเสนแดงมีปลูกน้อยมาก จึงไม่ค่อยมีการส่งออก มะม่วงสดจากไทยที่จำหน่ายในญี่ปุ่นปัจจุบันเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ถึงร้อยละ 85 มะม่วงอื่นๆ ได้แก่มหาชนก และแรด เพียงร้อยละ 15 การนำเข้ามะม่วงจากไทยมีปริมาณเพียง 1,300 ตันต่อปี อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็เป็นตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญด้านมูลค่าของไทย ที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก




การอบไอน้ำมะม่วงส่งออกสู่ญี่ปุ่น

การนำเข้ามะม่วงสดจากไทยมีปริมาณ 1,000 ตัน/ ปี และเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งปริมาณและมูลค่า ในแต่ละปี การนำเข้ามะม่วงจากไทยจะเริ่มต้นฤดูกาลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป และช่วงที่มีการนำเข้าสูงสุดจะเป็นเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มะม่วงมีรสชาตอร่อยที่สุด ในบางปีผลผลิตมีมาก ฤดูกาลจะยาวไปถึงเดือนกรกฎาคม ช่วงมิถุนายน-สิงหาคม เป็นฤดูร้อนในญี่ปุ่น การบริโภคมะม่วงเป็นที่นิยมสูงสุด แต่ในช่วงดังกล่าวผลไม้ฤดูร้อนของญี่ปุ่นออกวางจำหน่ายมากด้วย ปัจจุบันนี้ เกษตรกรในหลายภาค และจังหวัดของไทยได้รวมกลุ่มเป็นสมาพันธ์ผู้ผลิตมะม่วงแห่งประเทศไทย เพื่อจัดการผล ผลิตเพื่อให้สามารถส่งออกได้ตลอดปี ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2552 -2553 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสำหรับการส่งออกสู่ญี่ปุ่น ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดการให้มีการเกษตรแบบมีสัญญา สำหรับการส่งออกมะม่วงระหว่างเกษตรกร กับผู้ส่งออกกว่า 20 ราย เพื่อให้การผลิตและการส่งออกมีผลผลิตที่เพียงพอ สม่ำเสมอ ได้คุณภาพมาตรฐาน และสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร และ ดำเนินมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีในมะม่วงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของญี่ปุ่น โดยการร่วมมือการควบคุมการใช้สารเคมีและการตกค้างระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออก กับกรมวิชาการเกษตร โดยควบคุมให้แหล่งผลิตเป็นสวน GAP มีการตรวจติดตามการใช้ และการตกค้างของสารเคมี ตั้งแต่สวนจนถึงการส่ง ออกทุกรุ่นมีการตรวจสารเคมีตกค้าง เพื่อให้ผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

ในญี่ปุ่น มะม่วงเป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากโดยเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน ในปี 2549 มูลค่าการนำเข้ามะม่วงของญี่ปุ่นสูงมากเป็นประวัติการณ์ มีมูลค่า 4.93 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปีที่ผ่านมา (สำนักงานศุลกากรโตเกียว 2549) ในขณะที่ ปริมาณการนำเข้ามีการขยายตัวเพียงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2550 (จาก 12,140 ตันในปี 2548 เป็น 12,383 ตันในปี 2549) โดยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ร้อยละ 44 และจากเม็กซิโก ร้อยละ 35 และไทยร้อยละ 30 ปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดนำเข้ามะม่วงของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น คือ การขยายตัวของยอดจำหน่ายของหวานและน้ำผลไม้ ผู้บริโภคชอบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง




หาซึ้อมะม่วงไทยได้ที่ไหน

มะม่วงไทยมีขายทั่วไปในซุปเปอร์มาร์เกต ร้านผลไม้ ตลอดจนห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่างๆ เกือบทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่ ซัปโปโร ฮอกไกโด โตเกียว โอซากา ฟุกุโอกะ จรดใต้ ไปถึง นาฮา โอกินาวา นอกจากนี้ยังสามารถสั่งซื้อทาง internet ได้ด้วย หรือจะสั่งซื้อทางทีวีจาก Shop Chanel ก็ยังได้




การประชาสัมพันธ์มะม่วงไทยในญี่ปุ่น