




21/12/2009
วันขึ้นปีใหม่เกี่ยวข้องกับการนับวันในรอบปี ซึ่งแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม และความเชื่อในสมัยนั้นๆ คำอธิบายการนับวันเดือนปีในแต่ละสมัยเป็นความรู้ที่สั่งสมมานานนับตั้งแต่การสังเกตความเคลื่อนไหวของโลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว มีความซับซ้อนทางด้านดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก แต่ก็สามารถเล่าโดยสังเขปได้ว่า การนับวันเดือนปีในขณะนี้ อาจจำแนกเป็นการนับตามสุริยคติ* และจันทรคติ* ซึ่งเป็นการคำนวณทางดาราศาสตร์
*หมายเหตุ การนับวันตามสุริยคติ ได้แก่ การนับวันตามระยะเวลาโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ส่วนการนับวันแบบจันทรคติ จะตรงกันข้ามกับแบบสุริยคติ กล่าวคือ นับวันโดยใช้การโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นเกณฑ์ (รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ “ประทีปความรู้คู่ไทย” โดย อาจารย์สมบัติ จำปาเงิน)
การนับวันขึ้นปีใหม่ของไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยเช่นกัน ตามข้อมูลที่สำรวจได้ ระบุว่าประเทศไทยปรับเปลี่ยนการนับวันขึ้นปีใหม่มาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยทรงอธิบายว่า แต่เดิมไทยจะถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศตะวันตกสมัยนั้น ซึ่งถือว่าฤดูหนาวเป็นเวลาเริ่มต้นปีใหม่ ด้วยเหตุผลว่า
“ฤดูหนาวสว่างเหมือนเวลาเช้า ฤดูร้อนสว่างจ้าเหมือนเวลากลางวัน
และฤดูฝนมืดครื้มเหมือนเวลากลางคืน
จึงเปรียบว่าฤดูหนาวเป็นช่วงต้นปี
ฤดูร้อนเป็นกลางปีและฤดูฝนเป็นปลายปี”
ในช่วงลัทธิพราหมณ์จากอินเดียแพร่ขยายเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย (หรือสยามในขณะนั้น) ได้รับอิทธิพลแนวความคิดความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์ ก็นับวันตามแบบจันทรคติ ประเทศไทยขณะนั้นจึงนับวันขึ้นปีใหม่ 2 ครั้ง คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า และวันสงกรานต์ในเดือนเมษายน ซึ่งเลื่อนไปมาไม่แน่นอนในแต่ละปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความยุ่งยากในการนับวันขึ้นปีใหม่ จึงทรงมีพระบรมราชโองการในปี พ.ศ 2432 ให้วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย
คำอธิบายในการนับวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยในอดีตเป็นการนับวันแบบจันทรคติ
ประกอบกับอิทธิพลคติความเชื่อของลัทธิพราหมณ์จากอินเดียตอนเหนือ
จึงใช้วันในเดือนเมษายน
อันเป็นช่วงที่ลมฟ้าอากาศดีที่สุดเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่
ดังนั้น ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทยในอดีตจึงถือวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง) ตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับวันตามจันทรคติเป็นหลัก จนกระทั่งในปี พ.ศ 2483 การนับวันปีใหม่ของไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นสากล โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม รับสนองพระบรมราชโองการให้วัน 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เพื่อตามแบบตะวันตกที่นิยมนับวันตามแบบสุริยคติ แต่ก็ยังเป็นการนับวันที่สอดคล้องกับจารีตประเพณีไทยแต่เดิมที่ใช้ฤดูหนาวเป็นช่วงเริ่มต้นปีใหม่ ประเทศไทยจึงเริ่มต้นวันปีใหม่สากลครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 และถือเป็นแนวปฏิบัติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าการนับวันขึ้นปีใหม่ของไทยใช้ข้อพิจารณาหลายประการ และปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติตามกาลเวลา โดยนำการนับวันทางสุริยคติ หรือทางโหราศาสตร์ มาประกอบการคำนวณวันที่พระอาทิตย์โคจรขึ้นสูง อันเป็นช่วงของการเปลี่ยนย้ายราศีมีนไปราศีเมษตามวิธีทางโหราศาสตร์ ซึ่งตรงกับวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า อยู่ในช่วง 13-15 เมษายน กลายเป็นธรรมเนียมให้ช่วงดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นปีใหม่หรือ “สงกรานต์” นั่นเอง
“สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ว่า สํ-กรานต หมายถึง ก้าวขึ้น ย่างขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ หมายถึงพระอาทิตย์เคลื่อนที่สู่ราศีใหม่ คำเรียกวันในช่วง 13-15 เมษายนนี้ มีความหมายในแต่ละวันที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ
ในช่วงดังกล่าว จึงถือเป็นช่วงการเริ่มต้นปีใหม่ของไทย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาวและกัมพูชา มีวัฒนธรรมการกำหนดขึ้นปีใหม่ในช่วงดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งมีลักษณะของพิธีกรรม กิจกรรม และการละเล่นตามอย่างวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ
วันสงกรานต์ ตามลักษณะภูมิอากาศแล้ว จะเป็นช่วงหลังฤดูเกี่ยวเกี่ยวผลผลิตการเกษตร คนสมัยก่อนจึงจัดกิจกรรมเพื่อพักผ่อนหลังการทำงาน ในอดีตถือว่าเป็นกิจกรรมสำหรับครัวเรือน หรือชุมชน ต่อมามีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายและเป็นงานประเพณีในสังคมไทยปัจจุบัน โดยใช้น้ำเป็นส่วนสำคัญในวันสงกรานต์ โดยเฉพาะในพิธีรดน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอพรปีใหม่ และเป็นส่วนสำคัญในการละเล่นวันสงกรานต์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ซึ่งอาจมีคำอธิบายว่า ช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงอากาศที่ร้อนที่สุดของปีทำให้การเล่นน้ำในวันสงกรานต์เป็นการละเล่นเพื่อคลายร้อน งานประเพณีสงกรานต์ในทุกวันนี้มีกิจกรรมและการละเล่นอย่างหลากหลาย แตกต่างกันตามลักษณะวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย และกลายเป็นงานประเพณีขึ้นปีใหม่ที่สำคัญงานหนึ่งของประเทศไทย
ข้อมูลอ้างอิง