




21/12/2009
นายกษิต ภิรมย์ (อดีต)เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เมื่อได้เริ่มมารับหน้าที่ที่กรุงโตเกียวในเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้พบกับเศียรพระพุทธรูปอยู่ในห้องเก็บสัมภาระของสถานเอกอัครราชทูตฯ บังเกิดความสลดใจว่า "อันเศียรพระพุทธรูปนี้นอกจากจะเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนคนไทยและพุทธบริษัททั่วไปแล้ว ยังเป็นศิลปที่งดงามวิจิตรพิสดาร แสดงออกถึงความสามารถในงานศิลปกรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษไทย จึงเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะเก็บไว้ในห้องเก็บสัมภาระ" จึงมีจิตศรัทธาที่จะบูรณะให้เป็นองค์พระพุธรูปที่สมบูรณ์เพื่อไว้สักการะบูชา เป็นพระประธาน ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ สืบไป สำหรับความเป็นมาของการที่เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวไปอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ นั้น ทราบจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่อยู่มานานเพียงว่า ได้มีชาวญี่ปุ่นจากต่างจังหวัดซึ่งทราบว่า เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นสมบัติของประเทศไทย จึงได้นำไปมอบให้สถานเอกอัครราชทูตฯ
(อดีต)เอกอัครราชทูตนายกษิต ภิรมย์ จึงได้ปรึกษาหารือนายอรัญ สุวรรณบุปผา เพื่อนสนิท ซึ่งเป็นพุทธมามะกะถึงความคิดความเหมาะสมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการบูรณะเศียรพรุทธรูปให้เป็นองค์สมบูรณ์ นายอรัญฯ ได้นำความไปปรึกษาหารือพลอากาศเอก เอนก สุวรรณบุปผา พี่ชายซึ่งมีความยึดมั่นในพุทธศาสนา และสันทัดในเรื่องพระพุทธรูป ซึ่งพลอากาศเอกเอนกฯ ก็ได้แสดงความกระตือรือร้นและความพร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ โดยได้แจ้งว่า การสร้างพระพุทธรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณะพระพุทธรูปนั้น เป็นการสืบต่อพระศาสนา กล่าวคือ พระพุทธรูป เป็นบ่อเกิดแห่งพุททธานุสติแก่ผู้ที่ได้พบเห็น ดังนั้น จึงเป็นการสืบต่อความเจริญในทุกๆทาง
เศียรพระพุทธรูปองค์นี้ โดยญาณวิถีพบเพียงว่า องค์เดิมเป็นพระพุทธรูปยืน แต่เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนานได้ชำรุดทรุดโทรมลง ซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมุทธเจ้าว่า ทุกๆสิ่งในโลกนี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา เหตุที่พระเศียรยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก เพราะมีเทวดา เทพ และพรหม ปกปักรักษาอยู่ แต่เพื่อความเหมาะสมที่จะอาราธนาไปเป็นพระประธาน ประดิษฐาน ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้สร้างองค์ขึ้นใหม่เป็นปางมารวิชัย และอาราธนาถวายพระนามว่า พระพุทธอนาวรณญาณ ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แปลว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีญาณอันวิเศษ หยั่งรู้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งปวง โดยไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นได้
(อดีต)เอกอัครราชทูตนายกษิต ภิรมย์ จึงได้ขอให้นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ นำเศียรพระพุทธรูปไปมอบให้นายอรัญฯ เพื่อดำเนินการต่อไป พิธีเททองหล่อ พระพุทธอนาวรณญาณ มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2545 (ตรงกับวันวิสาขบูชา) เวลา 10.09 น. ณ โรงหล่อ อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยมีพลอากาศเอก เอนก สุวรรณบุบผา เป็นผู้นำสวดพระคาถาชุมนุมเทวดา และกล่าวคำอธิษฐานจิตในพิธีบวงสรวง และในโอกาสดังกล่าว นางจินตนา ภิรมย์ ภริยาเอกอัครราชทูต ได้เดินทางไปธุระที่กรุงเทพฯ ก็ได้เข้าร่วมในพิธีโดยเป็นผู้เททองร่วมกับผู้เข้าร่วมพิธีอื่นๆ ส่วนพิธีเบิกเนตรและฉลององค์พระ พระพุทธอนาวรณญาณ มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2545 เวลา 10.00น. ณ วัดเพลงวิปัสสนา ธนบุรี โดยมีพระสงฆ์ 23 รูปเข้าร่วมพิธี และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯอันได้แก่ นายกษิต ภิรมย์ และ นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์และนายกาจฐิติ วิวัธวานนท์ ได้เข้าร่วมด้วย หลังจากนั้น พระพุทธอนาวรณญาณ ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดเพลงวิปัสสนาตลอดพรรษา และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 นางจินตนา ภิรมย์ ได้อัญเชิญ พระพุทธอนาวรณญาณ มายังกรุงโตเกียว โดยได้รับความร่วมมือในการขนส่งทางอากาศจากบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)
พิธีประดิษฐาน พระพุทธอนาวรณญาณ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2545 เวลา 10.00 น.
ขอให้ พระพุทธอนาวรณญาณ ซึ่งเป็นเครื่องหมายหนึ่งแห่งพระรัตนตรัย จงเป็นองค์ที่พึ่งอันศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครอง ปกปักรักษา คนไทยทุกผู้ทุกนามที่อยุ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ประพฤติดี มีศีล มีธรรม ตลอดจนผู้ประกอบสัมมาอาชีพทั้งหลาย จงปราศจากภยันตรายทั้งมวล มีความสุช ความเจริญ ในวิถีทางแห่งตนโดยทั่วทุกท่าน และตลอดกาลนานเทอญ