สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563

27/05/2020

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563


ผู้ติดเชื้อสะสมในญี่ปุ่น 16,662 คน (เพิ่มขึ้น 30 คนจากวันก่อนหน้า) / เสียชีวิต 862 คน (เพิ่มขึ้น 11 คนจากวันก่อนหน้า) รายละเอียดตามเอกสารแนบ


จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

(1) กรุงโตเกียว 5,170 คน

(2) จังหวัดโอซากา 1,781 คน

(3) จังหวัดคานากาวะ 1,334 คน

(4) จังหวัดฮอกไกโด 1,066 คน

(5) จังหวัดไซตามะ 997 คน


เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 กรุงโตเกียว พบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มเติมมากที่สุดในญี่ปุ่น จำนวน 10 คน ซึ่งจำนวน 6 คน ไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ รวมถึงมีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากสถานพยาบาล ทั้งนี้ นับเป็นวันที่ 12 ติดต่อกันที่กรุงโตเกียวมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 20 คน/วัน


เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เมืองคิตะคิวชู จังหวัดฟูกูโอกะ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจำนวน 2 ราย นับเป็นการพบผู้ติดเชื้อ 4 วันติดต่อกัน รวม 14 คน ซึ่ง 13 คนในจำนวนดังกล่าวไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ ในวันเดียวกัน เมืองคิตะคิวชูจึงได้จัดการประชุมฉุกเฉินและตัดสินใจปิดสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นการชั่วคราว จำนวน 43 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีเมืองคิตะคิวชู ได้กล่าวเตือนประชาชนว่า เมืองฯ กำลังอยู่ปากทางเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 2 แล้ว รวมทั้งขอให้ประชาชนระวังและป้องกันตนเอง


เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 เพื่อใช้สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฉุกเฉิน โดยจัดสรรความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ดังนี้


1. ความช่วยเหลือด้านระบบการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ได้แก่


1) ภาพรวม: เพิ่มงบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพระบบทางการแพทย์ในแต่ละพื้นที่ อาทิ การสำรองเตียงผู้ป่วย การจัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น นอกจากนี้ จะจ่ายเงินรางวัลพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสฯ สูงสุด 200,000 เยน/คน

2) การเพิ่มค่าตอบแทนในการตรวจรักษาผู้ป่วยแก่สถานพยาบาล: สถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยที่มีการอาการหนัก/ปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เท่า

3) การประกันรายได้ของสถานพยาบาล: มีระบบประกันรายได้กรณีสถานพยาบาลมีเตียงว่าง ซึ่งสำรองไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ

4) การสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์: รัฐบาลจะจัดซื้ออุปกรณ์ หน้ากากอนามัย เสื้อคลุมแพทย์ ที่จำเป็นและแจกจ่ายให้แก่สถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน

5) ยารักษาและวัคซีน: รัฐบาลจัดสรรเงินสนับสนุนในการพัฒนาคิดค้นยาและวัคซีนและการเตรียมพร้อมในการผลิตได้โดยเร็ว

6) การตรวจ PCR สำหรับสตรีมีครรภ์: รัฐบาลจะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจ PCR ทั้งหมดสำหรับสตรีมีครรภ์ที่ใกล้กำหนดคลอดและประสงค์จะทำการตรวจทุกคน


2. การขยายความช่วยเหลือเพื่อให้คงการจ้างงานและดำรงชีวิต ได้แก่


1) การเพิ่มเงินสนับสนุนให้คงการจ้างงาน: รัฐบาลจะเพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิมวันละจำนวน 8,330 เยน/คน เป็นสูงสุด 15,000 เยน/คน และขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือจากเดิมที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 เป็นถึงเดือนกันยายน 2563

2) การช่วยเหลือในการหยุดงาน: รัฐบาลจะจัดตั้งระบบการจ่ายช่วยเหลือโดยตรง สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับค่าชดเชยในการหยุดงานเนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางด้านการเงิน สูงสุดจำนวน 330,000 เยน/เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เมษายน-กันยายน 2563

3) การสนับสนุนครัวเรือนที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงดูเพียงคนเดียว: รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนชั่วคราวสำหรับเลี้ยงดูบุตรแก่ครัวเรือนที่ประสบปัญหาทางการเงิน

4) การให้เงินสนับสนุนนักศึกษาสูงสุด 200,000 เยน: นักศึกษาที่มีรายได้ลดลงจากการให้ปิดบริการของสถานที่ต่าง ๆ จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 100,000 เยน และหากนักศึกษามาจากครอบครัวที่ไม่สามารถจ่ายภาษีผู้อยู่อาศัยได้ รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 200,000 เยน ซึ่งจะครอบคลุมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย โรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น ประมาณ 430,000 คน

5) การยกเว้นค่าเรียน: รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่สถาบันการศึกษาซึ่งยกเว้นค่าเล่าเรียนให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา

6) การขยายวงเงินกู้: รัฐบาลจัดเตรียมเงินกู้ยืมฉุกเฉินโดยไม่มีดอกเบี้ยให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาด้านการเงินในการดำรงชีวิต สูงสุด 200,000 เยน/คน


3. การสนับสนุนเพื่อให้คงการดำเนินธุรกิจ ได้แก่


1) การช่วยเหลือค่าเช่าสถานที่: ตั้งระบบช่วยเหลือค่าเช่าสถานที่เป็นจำนวน 2 ใน 3 เป็นระยะเวลาครึ่งปี สูงสุด 500,000 เยน/เดือนแก่บริษัท SMEs และ 250,000 เยนแก่ธุรกิจส่วนตัว หากมีกิจการหลายสาขา บริษัท SMEs จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 1 ล้านเยน และธุรกิจส่วนตัวสูงสุด 500,000 เยน

2) การให้เงินช่วยเหลือเพื่อคงการดำเนินธุรกิจ: รัฐบาลเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือบริษัท SMEs และธุรกิจส่วนตัว สูงสุด 2 ล้านเยนสำหรับธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม-ปลายเดือนมีนาคม 2563 โดยจะพิจารณาจากผลประกอบการ

3) การเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนและบริการการเงิน: รัฐบาลจัดตั้งวงเงินสำหรับการให้กู้ยืมและการลงทุนหมุนเวียน จำนวน 12 ล้านล้านเยน

4) การช่วยเหลือด้านกองทุนสาธารณะ: รัฐบาลจะปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนการบริหารการคลังของสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมได้ และจะเตรียมเงินช่วยเหลือเพื่อรองรับกรณีที่สถานะการเงินของธนาคารขาดเสถียรภาพ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมแก่ภาคธุรกิจ

 


ข้อมูลจากเว็บไซต์ NHK  

https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/

https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/



Tags:   COVID-19