30/06/2020
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2563
❖ มีผู้ติดเชื้อสะสมในญี่ปุ่น 18,631 คน (เพิ่มขึ้น 110 คนจากวันก่อนหน้า) / เสียชีวิต 972 คน (ไม่เปลี่ยนแปลง) (เอกสารแนบ)
❖ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
(1) กรุงโตเกียว 6,171 คน
(2) จังหวัดโอซากา 1,828 คน
(3) จังหวัดคานากาวะ 1,469 คน
(4) จังหวัดฮอกไกโด 1,250 คน
(5) จังหวัดไซตามะ 1,119 คน
❖ ผู้ติดเชื้อทั่วญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลักร้อย และการแพร่ระบาดขยายวงกว้างจากกรุงโตเกียวไปยังจังหวัดโดยรอบ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สถานบันเทิงยามค่ำคืน นอกจากนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในสถานสงเคราะห์คนชรา
❖ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 กรุงโตเกียวมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 58 คน โดยถือเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 คน ทั้งนี้ ร้อยละ 79 ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดอยู่ในช่วงอายุ 20–39 ปี / 34 คนเป็นผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ / 24 คนเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ทราบช่องทางการติดเชื้อ / 32 รายเป็นพนักงานหรือลูกค้าที่ใช้บริการสถานบันเทิงยามค่ำคืน เช่น โฮสต์คลับ เป็นต้น / 4 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากสถานสงเคราะห์คนชรา
❖ นอกจากกรุงโตเกียวแล้ว ยังพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในเขตสถานบันเทิงยามค่ำคืนในเมืองโอมิยะ จังหวัดไซตามะ จำนวน 12 คน และในเมืองอุทสึโนมิยะ จังหวัดโทชิกิ จำนวน 10 คน
❖ ในช่วง 1 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายน 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียว รวมทั้งหมด 334 คน แบ่งเป็น
• ผู้ติดเชื้อแบบไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ 177 คน (ร้อยละ 53) และผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ 157 คน (ร้อยละ 47)
• ผู้ติดเชื้อที่มีอายุระหว่างในช่วงอายุ 20-29 ปี มีจำนวน 165 คน และอายุ 30 – 39 ปี จำนวน 71 คน โดยทั้ง 2 กลุ่มช่วงอายุนับเป็นร้อยละ 71 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด
• ผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงยามค่ำคืนมีจำนวน 135 คน (ร้อยละ 40)
❖ ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า แม้ว่ากรุงโตเกียวมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 50 คนต่อวัน ซึ่งคล้ายกับช่วงก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สถานการณ์แตกต่างกันอยู่มาก เนื่องจากในช่วงก่อนนั้น ผู้ติดเชื้อเป็นผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ ในขณะที่ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 20-30 ปี ซึ่งแสดงอาการป่วยไม่รุนแรงและติดเชื้อจากสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่า หลังจากนี้ จะมีการผ่อนคลายความเข้มงวดมาตรการเข้าเมืองของญี่ปุ่น จึงควรเตรียมความพร้อมด้านการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสฯ และสถานพยาบาลมากยิ่งขึ้น ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกไปเที่ยวกลางคืน และผู้มีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็น แม้จะไม่ได้อาศัยในกรุงโตเกียวก็ตาม
❖ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ศูนย์รับมือ COVID-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น ตัดสินใจว่า จะยังคงต่ออายุมาตรการระงับวีซ่าและการยกเว้นวีซ่าสำหรับการเดินทางเข้าญี่ปุ่นออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ขยายเป็นจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งรวมถึงมาตรการวีซ่าสำหรับคนไทย
❖ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการออก Certificate of Eligibility ให้แก่ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะพำนักอยู่ในญี่ปุ่นอีกครั้ง ตลอดจนให้บริการขยายอายุของ Certificate ดังกล่าวด้วย ภายหลังจากที่ได้ระงับไปเมื่อกุมภาพันธ์ 2563
❖ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 นาย OHNO Motohiro ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้านและการเดินทางไปยังพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีคนพลุกพล่านในกรุงโตเกียว ตลอดจนขอให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว งดเดินทางไปยังกรุงโตเกียวหากไม่จำเป็น
❖ เพื่อป้องกันการระบาดระลอก 2 กรุงโตเกียวจะจัดตั้งเงื่อนไขใหม่ในการติดตามดูแลสถานการณ์การติดเชื้อของกรุงโตเกียวในช่วงเย็นของวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อย่างไรก็ดี คาดว่ากรุงโตเกียวจะไม่ใช้ตัวชี้วัดในลักษณะตัวเลข สำหรับเป็นเงื่อนไขที่จะขอความร่วมมือบริษัทเอกชนให้ปิดทำการ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ NHK
https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/
https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/