สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 10 กรกฏาคม 2563

10/07/2020

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 10 กรกฏาคม 2563


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 กรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อจำนวน 243 คน ซึ่งเป็นวันที่สองที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 คนติดต่อกันสองวัน โดยกรุงโตเกียวได้ขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกเที่ยวกลางคืน และผู้มีอาการป่วยไม่ออกจากบ้าน


สถานะวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ผู้ติดเชื้อสะสมในญี่ปุ่น 20,768 คน (เพิ่มขึ้น 355 คนจากวันก่อนหน้า) / ผู้ป่วยอาการรุนแรง 38 คน / เสียชีวิต 982 คน (เท่ากับวันก่อนหน้า) รายละเอียดตามเอกสารแนบ


จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุด ได้แก่ 

(1) กรุงโตเกียว 227 คน 

(2) จังหวัดโอซากา 30 คน 

(3) จังหวัดคานากาวะ 25 คน 

(4) จังหวัดไซตามะ และ 

(5)จังหวัดชิบะ จังหวัดละ 22 คน 


❖ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

(1) กรุงโตเกียว 7,272 คน 

(2) จังหวัดโอซากา 1,945 คน 

(3) จังหวัดคานากาวะ 1,651 คน 

(4) จังหวัด ไซตามะ 1,349 คน 

(5) จังหวัด ฮอกไกโด 1,283 คน 


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 กรุงโตเกียวมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 224 ราย มีรายละเอียด ดังนี้
-- ผู้ติดเชื้อในช่วงกลุ่มอายุ 20-29 ปี 109 คน ช่วงกลุ่มอายุ 30-39 ปี 60 คน รวมเป็น 169 คนหรือเท่ากับร้อยละ 75 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด
-- ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อจำนวน 120 คน และไม่ทราบช่องทางการติดเชื้อจำนวน 104 คน
-- เป็นพนักงานและลูกค้าของสถานบันเทิงยามค่ำคืน 74 ราย (ย่านชินจูกุ 52 ราย และย่านอิเคะบุคุโระ 4 ราย) ติดจากสมาชิกภายในบ้าน 20 ราย จากที่ทำงานหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ 14 ราย และจากสถานรับเลี้ยงเด็กอีก 5 ราย
-- เป็นผู้ป่วยไม่แสดงอาการ 24 ราย 
-- จากการตรวจ PCR ทั้งหมด 3,400 คน พบผู้ติดเชื้อ 224 ราย นับเป็นสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อเท่ากับร้อยละ 5.8 เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 1


กรุงโตเกียวแถลงว่า กลุ่มผู้มีอายุในกลุ่มวัย 20-39 ปี ยังเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุด โดยติดเชื้อจากสถานบันเทิงยามค่ำคืนมากที่สุด และพบการติดเชื้อจากการกินเลี้ยงสังสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะเป็นผลจากการตรวจ PCR เชิงรุกมากขึ้น แต่กรุงโตเกียวยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยจะเร่งหารือมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อจากกลุ่มวัยรุ่นไปยังกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวต่อไป และขอให้ประชาชนใช้ชีวิตแบบ New Normal


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 กรุงโตเกียวได้จัดการประชุมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ โดยอาศัยการประเมินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 - 8 กรกฎาคม 2563) สรุปผลได้ ดังนี้
1) กรุงโตเกียวได้ประกาศความรุนแรงของสถานการณ์การติดเชื้ออยู่ระดับที่ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ (ระดับ 1 รุนแรงที่สุด) ได้แก่ “เริ่มมีการแพร่ระบาด” เนื่องจากกรุงโตเกียวมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นเท่ากับ 108 คน และมีจำนวนผู้ไม่ทราบช่องทางการติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นเช่นกัน จำนวน 43.7 คน/วัน 
2) ยกระดับความจำเป็นในการเพิ่มความสามารถในการให้บริการด้านการแพทย์ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 ระดับ เป็นระดับที่ 2 (จากทั้งหมด 4 ระดับ โดยระดับ 1 รุนแรงที่สุด) เป็น “จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ระบบการให้บริการด้านการแพทย์” 
3) กรุงโตเกียวจะสำรองจำนวนเตียงผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 3 พันเตียง และเตรียมจัดสถานที่พักกักตัวสำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะเพิ่มความสามารถในการตรวจเชื้อไวรัส 1 หมื่นรายต่อวัน (จำนวนที่ตรวจในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เท่ากับ 3,400 ราย) รวมทั่วประเทศ 2 หมื่นรายต่อวัน


นาย SUGA Yoshihide เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งในขณะนี้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และสถานพยาบาลยังอยู่ในสถานะที่ให้บริการได้ตามปกติ โดยสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาใน รพ. ต่อจำนวนเตียงทั้งหมดเท่ากับ 444/3,300 เตียง นอกจากนี้ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุจากการที่มีผู้เข้ารับการตรวจมากขึ้นด้วยถึงประมาณ 3,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังยืนยันที่จะเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดในการจัดกิจกรรมอีเว้นท์กลางแจ้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานได้มากที่สุด 5 พันคนได้ตามกำหนดเดิม 


นาย NISHIMURA Yasutoshi รัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังยืนยันว่า ยังไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งเช่นกัน แต่จะเตรียมเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและเร่งหาต้นตอของผู้ติดเชื้อไม่ทราบช่องทาง รวมทั้งเตรียมหารือความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการจำกัดกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนที่ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม (จากเดิมที่รัฐบาลทำได้เพียง
ขอความร่วมมือเท่านั้น) นอกจากนี้ จะพิจารณาเกณฑ์ใหม่ที่จะกำหนดว่า จะต้องเริ่มใช้มาตรการควบคุมเมื่อใด และใช้มาตรการใดบ้าง เช่น การขอให้ประชาชนงดออกจากบ้าน การขอให้ภาคธุรกิจปิดบริการ และการจัดตั้งสถานพยาบาลเฉพาะกิจ


ผู้ว่าราชการจังหวัดชิบะ เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่กลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้ง เป็นเรื่องยากที่จะประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนในจังหวัดออกจากบ้าน อย่างไรก็ดี ขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง 3Cs และไม่ใช้บริการสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่พนักงานเสิร์ฟให้บริการอย่างใกล้ชิดในกรุงโตเกียว


ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ แสดงความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วของกรุงโตเกียว เนื่องจากจังหวัดไซตามะอยู่ติดกับกรุงโตเกียว ปัจจุบันจังหวัดยังเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดกับการฟื้นฟูสภาพสังคมและเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติก่อน แต่หากมาตรการปัจจุบันที่เน้นกลุ่มสถานบันเทิงยามค่ำคืนเป็นกลุ่มเป้าหมายไม่สัมฤทธิ์ผล อาจพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรอบที่ 2 ในจังหวัดอีกครั้ง 


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และแรงงานญี่ปุ่น ได้ประกาศให้พนักงานที่ทำงานให้กับ SMEs และไม่ได้รับเงินค่าจ้างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ สามารถขอรับเงินสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาล จำนวนไม่เกิน 330,000 เยน/ราย ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารที่จำเป็นในการขอรับเงินสนับสนุนดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขฯ และสามารถยื่นใบสมัครทางไปรษณีย์ ได้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม เป็นต้นไป

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ NHK  

https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/

https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/



Tags:   COVID-19