❖ วันที่ 23 กันยายน เวลา 20.00 น. มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ในญี่ปุ่นจำนวน 216 คน มีรายละเอียดผู้ติดเชื้อในจังหวัดที่สำคัญ ดังนี้
- กรุงโตเกียวมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 59 คน (สถิติ ณ เวลา 15.00 น.) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในช่วงเกือบ 3 เดือน (นับจากวันที่ 30 มิถุนายน) ที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 60 คน และเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 100 คนต่อวัน
- จังหวัดโอซากา 39 คน
- จังหวัดชิบะ 20 คน
- จังหวัดไอจิ 14 คน
- จังหวัดโอกินาวะ 13 คน
- จังหวัดไซตามะ 12 คน
- จังหวัดคานากาวะ 11 คน
อย่างไรก็ตาม อาจต้องติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อต่อไป เนื่องจากในช่วงวันหยุดยาว 4 วันที่ผ่านมา (19-22 กันยายน) น่าจะมีอัตราการตรวจเชื้อที่ต่ำกว่าวันทำการปกติ และมีประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดจำนวนมาก
❖ ในวันที่ 22 กันยายน มีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศ ญี่ปุ่น 331 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมในญี่ปุ่น 79,902 คน / ผู้ป่วยอาการรุนแรง 164 คน / ผู้เสียชีวิต 1,519 คน เพิ่มขึ้น 5 คนจากวันก่อนหน้า จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากที่สุด ได้แก่
(1) กรุงโตเกียว 88 คน
(2) จังหวัดโอซากา 67 คน
(3) จังหวัดคานากาวะ 38 คน
(4) จังหวัดชิบะ 18 คน
(5) จังหวัดไซตามะ 14 คน
❖ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
- กรุงโตเกียว (จากสถิติวันที่ 22 กันยายน)
• มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 88 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้ออายุระหว่าง 20-39 ปี 40 คน หรือประมาณร้อยละ 45 / 40-59 ปี จำนวน 29 คน หรือประมาณร้อยละ 33 และอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 คน
• ร้อยละ 47 จากจำนวนทั้งหมด (41 คน) ไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ และร้อยละ 53 (47 คน) ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ติดจากสมาชิกในครอบครัว 17 คน จากงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อน 8 คน จากที่ทำงาน 7 คน จากสถานพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 5 คน และจากสถานบันเทิงยามค่ำคืน 2 คน
• ผู้ป่วยอาการรุนแรง 30 คน เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 3 คน
• มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 คน จากการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่สถานดูแลผู้สูงอายุในเขต Edogawa
• เมื่อวันที่ 18 กันยายน มีผู้ติดเชื้อ 2 คน ที่เกาะ Ogasawara เป็นครั้งแรก โดยเป็นสามีวัย 70 ปี และภรรยาวัย 60 ปี ซึ่งมีไข้ขึ้นหลังจากการเดินทางกลับมาจากนอกเกาะ ทั้งนี้ เกาะดังกล่าวห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 1,000 กม. และไม่มีโรงพยาบาลที่สามารถรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสฯ ได้ กรุงโตเกียวจึงขอความร่วมมือกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลในการขนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรุงโตเกียว
- จังหวัดโอซากา (จากสถิติวันที่ 22 กันยายน) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 67 คน นับเป็นวันที่ 11 ติดต่อกันที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 100 คน โดยร้อยละ 70 จากจำนวนทั้งหมด (47 คน) ไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ ทั้งนี้ จังหวัดโอซากาขอความร่วมมือจากประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อนกลุ่มใหญ่จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม ซึ่งขยายระยะเวลาขอความร่วมมือจากเดิมที่กำหนดถึงวันที่ 18 กันยายน
- จังหวัดคานากาวะ (จากสถิติวันที่ 22 กันยายน) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 38 คน โดยร้อยละ 40 จากจำนวนทั้งหมด (15 คน) ไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อ / เมืองโยโกฮามา มีผู้ติดเชื้อใหม่ 21 คน โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 10 คนจากการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่โรงพยาบาลในเมืองโยโกฮามา
- จังหวัดเฮียวโกะ (จากสถิติ เมื่อ 22 กันยายน) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 27 คน โดย 23 คนติดเชื้อจากการแพร่ระบาดที่โรงเรียนประถมศึกษาของเมืองโกเบ โดยทุกคนอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบเส้นทางการติดเชื้อและกำลังตรวจหาสาเหตุการแพร่ระบาด เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ เป็นอย่างดี และไม่มีสถานการณ์ 3Cs ในช่วงการเรียนการสอน
❖ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 สถาบันค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยโกเบได้ประกาศผลการจำลองสถานการณ์การแพร่กระจายของละอองฝอยน้ำลายของมนุษย์ กรณีสวมหน้ากากอนามัยชนิด non-woven และกรณีสวม Face Shield โดยการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “ฟูกาคุ” ดังนี้
- การสวมหน้ากากอนามัย พบการรั่วไหลของ Aerosol ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ประมาณร้อยละ 30 แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการฟุ้งกระจายของละอองน้ำลายแบบ droplets ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่า 50 ไมครอนได้เกือบทั้งหมด
- ในทางกลับกัน การสวม Face Shield มีประสิทธิภาพในการป้องกันการฟุ้งกระจายของ Aerosol ได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ และพบการรั่วไหลของละอองน้ำลายแบบ droplets เกือบครึ่งหนึ่ง
- อย่างไรก็ดี การติดเชื้อไวรัสฯ โดยส่วนใหญ่จะผ่านทางละอองน้ำลายแบบ droplets มากกว่า หัวหน้าทีมนักวิจัยจึงกล่าวว่า หากคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการฟุ้งกระจายของ droplets นั้น หน้ากากอนามัยน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่า