สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น ประจำวันที่ 5 มกราคม 2564

05/01/2021


- ผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ (สถานะวันที่ 4 ม.ค. 64) 248,534 คน (เพิ่มขึ้น 3,325 คน)
- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงโตเกียว 884 คน จังหวัดคานากาวะ 412 คน จังหวัดโอซากา 286 คน จังหวัดไซตามะ 243 คน จังหวัดชิบะ 195 คน
- ผู้เสียชีวิตสะสม 3,680 คน (เพิ่มขึ้น 48 คน)
- ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง 731 คน
- ผู้ที่รักษาหายสะสม 200,676 คน (เพิ่มขึ้น 2,190 คน)
รายละเอียดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data-all/
รายละเอียดผู้ติดเชื้อรายจังหวัดตาม link สำนักข่าว NHK https://www3.nhk.or.jp/news/special/coronavirus/data/


มาตรการสำคัญ
- ในช่วงเย็นของ 4 ม.ค. 64 ภายหลังการประชุมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เนื่องจากวันที่ 1-3 ม.ค. เป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียวและ 3 จังหวัดโดยรอบ (คานากาวะ ไซตามะ และชิบะ) มีจำนวนรวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนรวมผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ รัฐบาลจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์ จึงกำลังพิจารณาจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับกรุงโตเกียวและ 3 จังหวัดโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 63 เป็นต้นไปเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามควบคุมให้เกิดผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้น้อยที่สุด และกำลังเตรียมให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ให้ความร่วมมือในการปิดให้บริการ นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือภาคเอกชนจัดให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากขึ้น และเพิ่มความเข้มงวดเงื่อนไขในการจัดงานอีเว้นท์ประเภทต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแผนที่จะสั่งปิดสถานศึกษา

- เมื่อช่วงค่ำของ 4 ม.ค. 64 ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว จ.คานากาวะ จ.ไซตามะ และ จ. ชิบะ ได้ประกาศมาตรการระดับท้องถิ่น และขอให้ประชาชนดำเนินการตั้งแต่ 8 ม.ค. 64 เป็นต้นไป ในช่วงที่รัฐบาลกลางยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเมื่อมีประกาศจากรัฐบาลกลางแล้วขอให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการของรัฐบาลกลาง โดยมาตรการระดับท้องถิ่นมีรายละเอียด ดังนี้

o มาตรการรวมของ 4 จังหวัด
1) ไม่ออกจากบ้าน หากไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน หลัง 20.00 น.
2) ขอความร่วมมือร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปิดให้บริการภายใน 20.00 น.
3) ขอให้ทำงานจากที่บ้าน
4) เพิ่มการเรียนออนไลน์ ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน และยกเลิกกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงดังในโรงเรียน เช่น การร้องเพลงประสานเสียง

o มาตรการเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับกรุงโตเกียว
1) ระหว่าง 8-11 ม.ค. 64 ขอความร่วมมือร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปิดให้บริการภายใน 20.00 น. ส่วนร้านอาหารประเภทอื่นขอให้ปิดบริการภายใน 22.00 น. ทั้งนี้ หลังจาก 12 ม.ค. 64 เป็นต้นไป ขอให้ร้านอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ปิดบริการภายใน 20.00 น.
2) หลีกเลี่ยงสถานที่ 3Cs
3) ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่น การซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภค และเดินทางไป รพ. แต่ขอให้รีบปฏิบัติภารกิจให้เสร็จโดยเร็ว
4) ไม่เดินทางข้ามจังหวัด หากไม่มีเหตุจำเป็น
5) ขอให้บริษัทและองค์กรอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป อย่างน้อย 3 วันใน 1 สัปดาห์

o มาตรการเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับ จ.คานากาวะ
1) เฉพาะในเมืองโยโกฮามะและคาวาซากิ ระหว่าง 8-11 ม.ค. 64 ขอความร่วมมือร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปิดให้บริการภายใน 20.00 น. ส่วนร้านอาหารประเภทอื่นขอให้ปิดบริการภายใน 22.00 น. ทั้งนี้ หลังจาก 12 ม.ค. 64 เป็นต้นไป ขอให้ร้านอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ปิดบริการภายใน 20.00 น. โดย จ.คานากาวะจะให้เงินสนับสนุนร้านที่ให้ความร่วมมือ ร้านละ 40,000 เยน/วัน
2) ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน หากไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะไม่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านหลัง 20.00 น.
3) ไม่จัดกิจกรรม/อีเว้นท์ ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5,000 คน
4) หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะมีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล เช่น แยกกันรับประทานอาหารและพักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบถในที่ทำงาน
5) ขอให้บริษัทและองค์กรอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป

o มาตรการเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับ จ.ไซตามะ
1) เฉพาะในเมืองคาวากุจิ เมืองโอมิยะ และเมืองโคชิกายะ ระหว่าง 8-11 ม.ค. 64 ขอความร่วมมือร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปิดให้บริการภายใน 20.00 น. ส่วนร้านอาหารประเภทอื่นขอให้ปิดบริการภายใน 22.00 น. ทั้งนี้ ตั้งแต่ 12 ม.ค. 64 เป็นต้นไป ขอให้ร้านอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ปิดบริการภายใน 20.00 น.
2) ตั้งแต่ 8-31 ม.ค. 64 ขอให้
• ไม่ออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
• ขอให้บริษัทและองค์กรส่งเสริมให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน
• ขอให้สำนักงานและหอพักต่าง ๆ เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด