ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์130 ปี ไทย - ญี่ปุ่น
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนานหลายศตวรรษ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายและราชอาณาจักรริวกิวหรือประมาณ ๖๐๐ ปีก่อน และมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๓๐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้สองประเทศจะไม่ได้มีเขตแดนอยู่ใกล้กัน แต่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทุกระดับและเกื้อหนุนกันในฐานะมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่มีความใกล้ชิดต่อกันและกัน เริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสองซึ่งเป็นดั่งเสาหลักของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ในระดับการเมือง เศรษฐกิจ และประชาชนมีความใกล้ชิดตามไปด้วย
โดยตลอดปี ๒๕๖๐ ในโอกาสที่ครบ ๑๓๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ภาคส่วนต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศได้จัดกิจกรรมพิเศษอย่างแพร่หลาย
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ในทุกแง่มุมเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาโดยนำเนื้อหาส่วนใหญ่จากนิทรรศการวิเทศไมตรี ๑๓๐ ปี ไทย – ญี่ปุ่นมาบันทึกไว้ พร้อมเนื้อหาเพิ่มเติม เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบ ๑๓๐ ปี การสถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น เมื่อปี ๒๕๖๐
ด้วยความรักและความรู้สึกที่ดีต่อกันของสองประเทศที่ต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้ความผูกพันของทั้งสองประเทศลึกซึ้ง และเปรียบดั่งสายนํ้าทิพย์ที่เชื่อมสองแผ่นดินไว้ด้วยมิตรภาพที่ดีต่อกันจวบจนปัจจุบัน
“สายนํ้าแห่งมิตรภาพ.....สหายสองแผ่นดิน”
นํ้า = จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์
นํ้า = นํ้าใจที่สองประเทศมีให้กัน
นํ้า = สายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทย – ญี่ปุ่น
จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดนิทรรศการ “วิเทศไมตรี ๑๓๐ ปี ไทย – ญี่ปุ่น” จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและเจแปนฟาวน์เดชั่น ในโอกาสครบ ๑๓๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ซึ่งได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๖ กันยายน ถึง ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยได้รับความสนใจจากประชาชนไทย ญี่ปุ่นและต่างชาติที่อยู่ในไทยเข้าชมมากกว่า ๓,๓๐๐ คน โดยในนิทรรศการดังกล่าวได้นำวัฒนธรรมที่เป็นศิลปหัตถกรรมที่โดดเด่นของไทยและญี่ปุ่นมาเป็นแนวความคิดหลักของการออกแบบ โดยรูปแบบของโครงสร้างจะเป็นการผสมผสานรูปแบบของงานสานของไทยและงานพับโอริกามิของญี่ปุ่นเป็นโครงสร้างหลักและใช้ปลาและสายนํ้าเป็นสัญลักษณ์ในการเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและดำเนินมายาวนานกันมาถึงปีที่ ๑๓๐ ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี ๒๕๖๐ เห็นได้จากความสัมพันธ์ทั้งในด้านพระราชวงศ์ การเมือง เศรษฐกิจและระหว่างประชาชน ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไทยและญี่ปุ่นได้เริ่มติดต่อสัมพันธ์ทางด้านการค้าขายกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอาณาจักรริวกิวของญี่ปุ่น จึงกล่าวได้ว่าจริง ๆ แล้ว ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมากว่า ๖๐๐ ปีก่อนแล้ว
เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สมัยเมจิ ซึ่งเป็นยุคแห่งการปฏิรูปสมัยใหม่และตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทังสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๓๐ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ได้ลงพระนามในหนังสือ “ปฏิญญาณว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในรหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น” ร่วมกับนายชูโซ อะโอกิ รองเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเปิดศักราชแห่งความสัมพันธ์สมัยใหม่ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกัน ความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นได้พัฒนาก้าวหน้าและ แน่นแฟ้นเพิ่มขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ในระดับพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นดั่งรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น โดยทั้งสองพระราชวงศ์มีการแลกเปลียนการเสด็จเยือนอย่างสมํ่าเสมอ และจากรากฐานที่แน่นแฟ้นของสองประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ในด้านอื่น ๆ มีความใกล้ชิดและผูกพันมาโดยตลอดในด้านการเมือง ที่ผ่านมาผู้นำและผู้แทนระดับสูงของทั้งสองประเทศมีการพบปะหารือกันอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้ง ซึ่งขับเคลื่อนให้ความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่น เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกันและกัน มีความร่วมมือที่หลากหลายมิติ ทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาคและระดับโลก
ในด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าในลำดับต้นและเป็นนักลงทุนอันดับที่ ๑ ของไทยมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิต และห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทยกว่า ๕ พันบริษัท และมีชุมชนนักธุรกิจของญี่ปุ่นในไทยมีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นของเอเชีย ในปัจจุบัน สองประเทศได้ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่มิติใหม่ ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบรางในไทย รวมทั้งในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทยที่เน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน รวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนไทยและญี่ปุ่นมีการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นอย่างมากและเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปัจจุบัน มีชาวญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวไทยประมาณปีละ ๑.๔ ล้านคน และชาวไทยไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นประมาณปีละ ๙ แสน
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาที่โดดเด่นอีกด้วย และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ในคราวที่สองประเทศประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๔ ประชาชนทั้งสองประเทศต่างมอบความช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สะท้อนภาพของการเป็นมิตรแท้ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ได้อย่างดียิ่งเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความแน่นแฟ้นในทุกด้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเปรียบได้กับตราสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ ๑๓๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องหมายอนันต์ ซึ่งหมายความถึงความสัมพันธ์ที่จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Back to the list