ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับญี่ปุ่น
ด้วยพระวิสัยทัศน์และวิเทโศบายแห่งการต่างประเทศ : จุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทย - ญี่ปุ่น
ด้วยพระวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สยามและญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศ
จึงได้มีการลงนามใน “ปฏิญญาณว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในรหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น”
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๓๐นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ยาวนานถึง ๑๓๐ ปี จวบจนปัจจุบัน
ท่ามกลางสภาวะผกผันและความวุ่นวายของการเมืองโลก สยามภายใต้การปกครองด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เติบโตเป็นรัฐที่ทันสมัยที่พร้อมเดินหน้าเพื่อก้าวทันนานาอารยประเทศ และมุ่งมั่นที่จะรักษาอธิปไตยไว้ให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมในห้วงขณะนั้น ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีสภาวะทางการเมืองและการต่างประเทศไม่ต่างจากสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลว่า สยามพึงแสวงหามิตรภาพจากญี่ปุ่นในฐานะรัฐแห่งเอเชียเช่นเดียวกัน และเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาบนรากฐานแห่งความเกื้อกูล จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสยามกับญี่ปุ่น นับแต่ได้มีการลงนามใน “ปฏิญญาณว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในรหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น” ในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๓๐ และนับเป็นปีที่ ๓๓ หลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคม พระราชภารกิจสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ คือ การดำเนินวิเทโศบาย เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ในขณะที่ทรงต้องเร่งพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าเพื่อให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ซึ่งทำให้ไทยและญี่ปุ่นเป็นประเทศในเอเชียที่รักษาเอกราชไว้ได้ ปฏิญญาณฉบับนี้จึงเป็นปฏิญญาณฉบับแรกที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศในเอเชีย และอาจกล่าวได้ว่าสยามและญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชียที่มีความเป็นรัฐอย่างสมบูรณ์ สามารถธำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน
ยุคทองแห่งความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น
เริ่มต้นจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
พระบรมฉายาลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในปี ๒๕๐๖
เป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นและเป็นรากฐานแห่งความสัมพันธ์สองประเทศที่มั่นคงแน่นแฟ้น
สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและสืบต่อไปยังอนาคต
ในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือนคือประเทศญี่ปุ่นในปี ๒๕๐๖ จากภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่บันทึกภาพการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนั้นทำให้ชาวไทยได้เห็นถึงไมตรีจิตอันงดงามยิ่งของพระราชวงศ์ทั้งสองประเทศ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุน ทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อย่างอบอุ่น ในครั้งนั้น พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือน กรุงโตเกียว เมืองนาโงยา และจังหวัดเกียวโต และฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปและวิทยุ เพื่อเยี่ยมชมเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และเมื่อมกุฎราชกุมาร อากิฮิโตะเสด็จเยือนประเทศไทยในปีถัดมา (พ.ศ. ๒๕๐๗) พระองค์ได้ทรงนำมกุฎราชกุมาร อากิฮิโตะเสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ปลาและบ่อเลี้ยงปลา เพราะทรงทราบดีว่ามกุฎราชกุมารอากิฮิโตะโปรดการเลี้ยงปลาเป็นอย่างยิ่งและจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยหลายครั้งของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และพระบรมวงศานุวงศ์ของญี่ปุ่นรวมถึงเป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่มั่นคง และยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นตลอดรัชสมัยของพระองค์
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ
เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะพร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ๒๕๐๗ ในครั้งนั้น มีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรีและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงนำมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะและเจ้าหญิงมิชิโกะเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นมีบางส่วนเป็นพื้นที่กันดาร พระองค์ทรงมีพระราชกระแสถึงปัญหาภาวะทุพโภชนาการของประชาชนแก่มกุฎราชกุมาร อากิฮิโตะ ในปีถัดมา (พ.ศ. ๒๕๐๘) มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ทรงนำลูกปลาสายพันธุ์แอฟริกา ต้นกำเนิดจากแม่น้ำไนล์ จำนวน ๕๐ ตัว ถวายแด่พระองค์ เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เหมาะแก่สภาพแวดล้อมของไทย และมีโปรตีนสูง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงนำมาเพาะพันธุ์และทรงแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อให้เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก และพระราชทานชื่อว่า “ปลานิล” ปลานิลจึงเปรียบเสมือนหลักฐานทางพระราชไมตรีและความปรารถนาดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
“วัดนิสเซนจิ” หรือวัดญี่ปุ่น-สยาม และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดนิทไทยจิ” หรือวัดญี่ปุ่น - ไทยตั้งอยู่ที่เมืองนาโงยา จังหวัดไอจิ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๐ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ญี่ปุ่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนวัดแห่งนี้เพื่อเปิดแพรคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
สำหรับวัดโคโตะคุอิน หรือที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยในชื่อวัดหลวงพ่อโตแห่งเมืองคะมะคุระ จังหวัดคะนะกะวะ และปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๓ พระองค์ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อปี ๒๔๔๕) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อปี ๒๔๗๔) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (เมื่อปี ๒๕๓๐) ทรงปลูกต้นสนจำนวนรวม ๓ ต้น อยู่ภายในบริเวณวัดแห่งนี้ด้วย
สายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

Back to the list