ประกาศและประชาสัมพันธ์


ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕

19/08/2021

เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายโมเทกิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย โดยฝ่ายไทย ได้แก่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และฝ่ายญี่ปุ่น ได้แก่ นายคุมาดะ ฮิโรมิจิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร นายนากาซากะ ยาซูมาสะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม นายวาตานาเบะ ทาเคยูกิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว และผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการกล่าวเปิดการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการประชุม HLJC ซึ่งเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสร้าง new paradigm of growth เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งความสำคัญของเวทีนี้ก็ได้รับการยืนยันจากข้อความพิเศษของนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะผู้ก่อตั้งร่วมและประธานร่วม HLJC คนก่อนของฝ่ายญี่ปุ่นที่แจ้งมาในโอกาสการประชุมครั้งนี้

ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันใน ๓ ประเด็นหลัก ดังนี้ (๑) การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ให้คืบหน้าและมีผลเป็นรูปธรรมต่อไป (๒) ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจในระดับพหุภาคี รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ CPTTP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) รวมถึงความร่วมมือในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ภายใต้โครงการ Smart JAMP ที่จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) และ (๓) ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข ซึ่งทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการสานต่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางคมนาคมในเส้นทางเชื่อมโยงในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor หรือ EWEC) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor หรือ SEC) สำหรับในเรื่องความร่วมมือด้านสาธารณสุข ฝ่ายไทยได้แสดงความขอบคุณในไมตรีจิตของฝ่ายญี่ปุ่นที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) รวมถึงการมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน ๑,๐๕๓,๐๙๐ โดส และอื่น ๆ และได้เสนอการดำเนินความร่วมมือด้านวัคซีนที่เกี่ยวข้องรวมถึงการผลิตวัคซีน ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อร่วมกันก้าวข้ามวิกฤติการณ์ครั้งนี้ด้วยกัน

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน ฝ่ายไทยได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ระยะ ๕ ปี ต่อไป

ในช่วงการประชุม ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลง ๔ ฉบับซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ด้วย ได้แก่

(๑) บันทึกความร่วมมือด้านไปรษณีย์ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลยกระดับคุณภาพระบบการให้บริการด้านไปรษณีย์ระหว่างสองประเทศ

(๒) บันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับสำนักงานนโยบายสาธารณสุข สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ในสาขาการดูแลสุขภาพ

ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข วัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการแพทย์

(๓) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ซึ่งจะเป็นกรอบในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสอดประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth ของญี่ปุ่น

(๔) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อผลิตภาพ (Lean IoT Plant management and Execution หรือ LIPE) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย กับกรมนโยบายการค้า และกรมความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือในการเสริมสร้างความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตในด้านอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตภายใต้โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัยผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้เทคโนโลยี IoT และการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ

อนึ่ง ภายหลังการประชุม HLJC ครั้งที่ ๕ ทั้งสองฝ่ายได้ออกแถลงข่าวร่วมผลลัพธ์ของการประชุมฯ (Joint Press Statement) ตามที่ปรากฏตาม https://www.mfa.go.th/th/content/%E0%B9%88jointpressthaijapan?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d



Tags:   HLJC

Back to the list