




09/10/2009
ขณะที่หลากหลายประเทศอาจเป็นดินแดนใฝ่ฝัน เป็นจุดหมายของการเดินทางไปถึงซึ่งนอกเหนือ จากการพักผ่อนท่องเที่ยวแล้วยัง มีจุดหมายของการทำงาน แสวงหาโอกาสรายได้ที่คาดคิดว่ามี ความคุ้มค่า
จากที่ผ่านมาหากกล่าวถึงตลาดแรงงาน ประเทศในแถบตะวันออกกลาง อิสราเอล เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นแต่ละปีมีแรงงานคนไทยจำนวนไม่น้อยเดินทางไปทำงาน ซึ่งการเดินทางไปต้องห่างไกลจากครอบครัว ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเดิม ทำให้ต้อง ปรับตัวในหลายด้านพร้อมกัน
การเดินทางที่ปราศจากการศึกษาข้อมูลหรือเตรียมความพร้อมจึงมีความเสี่ยงสูง อาจถูกเอารัดเอาเปรียบ ประสบปัญหาสารพัดทั้งการปรับตัว การสื่อสาร ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ฯลฯ ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้า มนุษย์ดังมีความเคลื่อนไหวปรากฏเป็นข่าวให้ติดตามอยู่บ่อยครั้ง
ญี่ปุ่น ประเทศที่มีคนไทยประมาณ 60,000 คน พำนักอาศัยอยู่และในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่ม แม่บ้าน นักศึกษาและแรงงานไทย จากปัญหาหลากด้านทั้งการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ปัญหาการใช้ภาษา ปัญหาครอบครัว การผิดสัญญาจ้าง งาน ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดความ เครียดความทุกข์ใจ ไม่นานมานี้ กรมการกงสุล กระทรวงการ ต่างประเทศ และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้นำ โครงการการดูแลสุขภาพจิต และการเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนไทยในญี่ปุ่น นำคณะจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชให้ความรู้อบรมการดูแลสุขภาพจิตตนเองและผู้อื่นโดยเผยแพร่ให้แก่ อาสาสมัครคนไทย ในญี่ปุ่น อีกทั้งขยายกลุ่มไปยัง นักศึกษา แรงงานไทยและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ในสถานทูตให้ได้รู้ถึงหลักจัดการกับความเครียด ดูแลกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ไทยในต่างประเทศ
การอบรมดูแลสุขภาพจิตโครงการนี้นอกเหนือจากจะช่วยให้กลุ่มอาสาสมัครมีความเข้มแข็งมีทักษะในการให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษากับคนอื่นได้แล้ว เมื่อเจอะเจออุปสรรคปัญหากับตนเองก็สามารถที่จะจัดการความเครียดของตนเองได้ ธีรกุล นิยม อธิบดีกรมการกงสุล ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินโครงการบอกเล่าพร้อมให้ความรู้กล่าวถึงภาพการเดินทางไปต่างประเทศที่เปลี่ยน ไปว่า คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเปลี่ยน เป็นผู้ที่ไม่มีโอกาสแทนที่คนมีโอกาส ซึ่งเดิมทีคนมีฐานะมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเป็นผู้ที่ต้องการมาเสี่ยงแสวงหาโอกาสทำงานในต่างประเทศ ส่วนกลุ่มคนมีฐานะมีการศึกษาเดินทางไปต่างประเทศหรือมาทำธุรกิจ ในกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งแต่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไปแสวงหาโอกาสในการทำงาน
แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดข้อมูลความรู้ อีกทั้งมีปัญหาเรื่องภาษา ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ หลายต่อหลายรายถูกหลอกตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ กรมการกงสุลซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ในการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีทั้งการดำเนิน การป้องกัน ปกป้องคุ้มครองและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปราบปราม
"การสร้างโอกาสความเจริญให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาแรงงาน ไม่ต้องจากบ้านไปตายดาบหน้าทำงานในต่างประเทศ แต่เมื่อมีความจำเป็นจะต้องออกไปหาโอกาสในต่างแดน ไปทำงานในต่างประเทศ เราจึงมีความคิดว่าการไปอยู่ของคนไทยในต่างแดนควรที่จะได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุขตามอัตภาพ ได้รับการตอบแทนที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็จะ มีการบอกเตือนให้ข้อมูลความรู้ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วรัฐก็ ต้องให้การคุ้มครองซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง"
ขณะที่คนไทยหลากหลายกลุ่มพำนักอยู่ในประเทศ ญี่ปุ่น บางคนมีความเครียดในเรื่องครอบครัว การปรับตัวเข้ากับสภาพสังคม วัฒนธรรม ขณะที่บาง รายอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายโดย ไม่ได้รับการบริการทางสังคม อีกทั้งความไม่เข้าใจในภาษา ฯลฯ เหล่านี้ล้วนก่อเกิดความเครียดจนเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่มีกลุ่มคนไทยคอยช่วยเหลือโดยการรวมกลุ่มกันเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษา ดูแลกันและกัน อย่าง ที่กล่าวมาทางสถานทูต สถานกงสุลซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองดูแลคนไทย แต่ด้วยขอบข่ายของงาน บุคลากร รวมถึงคนไทยในต่าง ประเทศ แต่ละที่มีอยู่มาก การช่วยเหลือ ความเข้าใจอาจมีไม่เท่ากับที่อาสาสมัครคนไทยเสียสละช่วยเหลือกัน การสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง สนับสนุน การทำงานของอาสาสมัครเหล่านี้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะก่อเกิดการช่วยเหลือกันที่ตรงจุดหมาย
"การรวมกลุ่มกันของคนไทยที่นี่มีการช่วยเหลือกันทั้งเรื่องงานบุญ การทำศพ การให้คำปรึกษากันในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล การดำเนินชีวิตที่ขาดความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรม นอกจากการรวมกลุ่มกันในพื้นที่แล้วยังประสานความร่วมมือไปยังเพื่อนคนไทยในกลุ่มต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่ เมื่อพบเจอกัน ก็จะนำประสบการณ์ การให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนกัน
เช่นเดียวกับการ ร่วมอบรมครั้งนี้ที่ไม่เพียงได้รวมกลุ่มร่วมกิจกรรมยังได้เพิ่มพูนทักษะเรียนรู้ การจัดการความเครียดก่อเกิดประโยชน์กับตัวเองและยังสามารถนำวิธีการความรู้เหล่านี้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้ด้วย" หนึ่งในเสียงบอกเล่า ของอาสาสมัครที่อยู่ในอิบารากิ จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการรวมกลุ่มของคนไทย
นอกจากกลุ่มอาสาสมัครการดูแลสุขภาพจิตสร้าง เครือข่ายชุมชนไทยในญี่ปุ่นครั้งนี้ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ยังได้ขยายการอบรมไปยัง กลุ่มนักศึกษา แรงงานไทยและข้า ราชการ เจ้าหน้าที่ในสถานเอก อัครราชทูตฯ กรุงโตเกียว โดยหัวข้อการให้ความรู้มีทั้งเรื่อง การเข้าใจอารมณ์ การจัดการความเครียด เรียนรู้การสร้างทัศนคติเชิงบวก การสร้างความเข้มแข็งทางใจ การสื่อสาร การจัดการกับความก้าวร้าว ฯลฯ
นพ.วีรพล อุณหรัศมี หนึ่งในทีมสุขภาพจิตจากสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ กล่าวว่า "การ อบรมเสริมทักษะให้คำปรึกษาโดยทีมสุขภาพจิตแก่อาสาสมัครไทยในญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการทบทวนต่อ ยอดหลักการและวิธีการช่วย เหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากหรือ ต้องการคำปรึกษาได้มีความรู้ความ เข้าใจ"
นอกจากนี้การอบรมยังครอบคลุมถึงการดูแลและพัฒนาตนเอง การให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร แลกเปลี่ยนประสบการณ์การช่วยเหลือกันและขณะที่การใช้ชีวิตในต่างแดน การเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ มีความสำคัญ นอกจากนี้จะต้องมีความยืดหยุ่น รู้จักปรับเปลี่ยนตนเองในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีความอดทน เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้วต้องรู้จักการเปิดใจยอมรับ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้หลีกไกลจากความเครียดได้
แต่หากต้องเผชิญกับความเครียดก็ควรรู้หลักวิธีการผ่อนคลายด้วยตนเอง อย่างการออกกำลังกาย ศึกษาธรรมะ ตั้งเป้าหมายชีวิตที่เป็นบวก ตั้งเส้นทางชีวิตที่ชัดเจน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ช่วยทำให้สุขภาพใจแข็งแรง ลดคลายความเครียดลงได้" จิตแพทย์ กล่าวจากการดูแลสุขภาพจิตเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนคนไทยในต่างแดนในโครงการที่มีความหมายนี้ ไม่เพียงก่อเกิดการช่วยเหลือดูแล กันและกัน เครือข่ายที่เข้มแข็งของคนไทยยังเสริมสร้างความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น อบอุ่น ไม่เดียวดายแม้จะอยู่ไกลบ้าน
ก่อนการเดินทางไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือพักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ การทราบถึงข้อมูลรายละเอียดเบื้องต้นนั้นมีความหมายความสำคัญ www.consular.go.th
ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป จะต้องลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือเมืองที่พำนัก อีกทั้งก่อนเดินทางไปทำงานควรตรวจสอบข้อมูลกับกรมการกงสุลหรือกรมการ จัดหางานก่อน ซึ่งญี่ปุ่นยังไม่เปิดให้แรงงานกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือเข้าประเทศ ปัจจุบันอนุญาตให้คน ต่างชาติทำงานใน 14 ประเภท รวมถึงแรงงานฝีมือไม่กี่สาขา อาทิ วิศวกร สถาปนิก นักบิน ช่างเจียระไน นักแสดง ช่างฝีมือในโรงงาน ฯลฯ และด้วยที่ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงจึงควรตรวจสอบสภาพอากาศ แต่งกายให้เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสูบบุหรี่ ควรสูบในที่ที่จัดไว้ การทิ้งขยะจะมีการแยกทิ้ง เช่น ขยะเผาได้ เผาไม่ได้ เป็นต้น เว็บไซต์ที่กรมการกงสุลจัดทำขึ้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการให้ความรู้ สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นมีเรื่องน่ารู้ก่อนการเดินทาง อย่างเช่น ควรตรวจสอบวีซ่าที่ถูกต้องและต้องไม่หมดอายุ เนื่องจากญี่ปุ่นมีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
คัดลอกจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส ์ http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162415&NewsType=1&Template=1