




18/01/2013
"พี่ครับ ผมอยากแต่งงานครับพี่ แฟนผมเป็นคนญี่ปุ่น จำเป็นต้องจ้างทนายไหมครับ ผมไม่มีความรู้และไม่มีข้อมูลเลย และก็ผมไม่ค่อยมีตังค์ครับ ทำไงดีครับ" ดิฉันเจอคำถามแบบนี้เป็นประจำในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการให้คำปรึกษาและรับเรื่องต่างๆ ที่ฝ่ายกงสุล แก่พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น
คำตอบ ไม่จำเป็นเลยค่ะ ดิฉันคิดว่า เรื่องเกี่ยวกับตัวเรา หากไม่มีปัญหาหนักอะไรแล้ว อยากให้ลองลงมือทำด้วยตนเองดูสักครั้งหนึ่งค่ะ ไม่ต้องกลัวค่ะ คุณทำได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งทนายเลยค่ะ เพราะค่าจ้างทนายหรือขอรับคำปรึกษาต่างๆ จากทนายในญี่ปุ่น แพงมาก หากคุณลองดำเนินการเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง จะเสียค่าใช้จ่ายไม่มากสักเท่าไหร่ หรือแทบไม่ได้จ่ายอะไรเลย จ่ายเฉพาะค่ารับรองเอกสารที่ต้องยื่นผ่านหน่วยงานราชการ เช่น อำเภอ/ กระทรวงการต่างประเทศ/ สถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุลใหญ่ โอซากา และหากทุกท่านลองท่องคาถา อัตตา หิ อัตตโน นาโถ "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน" แล้วคุณจะเกิดแรงบันดาลใจ ให้กล้าที่จะลองดำเนินเรื่องด้วยตนเอง และจะมีความภูมิใจในตนเองอย่างแน่นอนค่ะ ที่สามารถดำเนินเรื่องได้ด้วยตนเอง ดิฉันเองมีความเชื่อมั่นค่ะว่าหากทุกคนมีความตั้งใจจริงที่จะทำแล้ว น่าจะทำได้ค่ะ ทั้งนี้ ถ้าทุกท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการขอรับคำปรึกษาต่างๆ เพิ่มเติม จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ /สถานกงสุลใหญ่ฯ ทุกคนยินดีให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ค่ะ ขอให้ท่านมีความพยายามและขอให้มีความตั้งมั่นว่าจะยื่นเรื่องด้วยตนเองให้จงได้ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความยินดีให้การสนับสนุนค่ะ
นอกจากคนไทยเดินทางมาปรึกษาเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ แล้ว ยังมีคนไทยอีกหลายคนที่ไม่กล้ามาติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตฯ /สถานกงสุลใหญ่ฯ เนื่องจากอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเกินกำหนดการอนุญาตให้พำนักอาศัยในประเทศ(Overstay) หรือไม่มีวีซ่า เพราะกลัวว่าจะถูกจับและจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทย จึงขอประกาศประชาสัมพันธ์ให้ทุกท่านทราบว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ มีหน้าที่ช่วยเหลือคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในประเทศญี่ปุ่นค่ะไม่ได้มีหน้าที่จับกุมตัวคนไทยเลยค่ะ แต่ในระหว่างการเดินทางเพื่อมาดำเนินเรื่องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ตำรวจญี่ปุ่นอาจขอตรวจค้นและขอสอบถามข้อมูลของท่านได้ ดังนั้น หากท่านไม่สะดวกมาติดต่อเรื่องด้วยตนเองก็สามารถโทรศัพท์มาสอบถามและขอรับคำปรึกษาได้ค่ะหรือไปยื่นเรื่องกับสถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ในช่วงมีบริการกงสุลสัญจรนอกสถานที่ในแต่ละจังหวัดต่างๆ รายละเอียดของกำหนดการไปให้บริการกงสุลสัญจร สามารถดูได้จากเว็บไซต์ http://www.thaiembassy.jp ในส่วนของงานบริการฝ่ายกงสุลได้ค่ะ
อันดับแรกให้คุณเริ่มต้น โดยการกำหนดหรือตัดสินใจค่ะว่าคุณอยากจะจดทะเบียนสมรสแบบไหน ตามกฎหมายของไทยหรือของญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่แล้ว บุคคลสัญชาติไทย ที่สมรสกับบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นนั้น จะสมรสกันภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ค่ะ เพื่อง่ายและสะดวกในการแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นให้รับทราบเรื่องการสมรส แต่หากสมรสตามกฎหมายไทย ก็สามารถรายงานต่อนายทะเบียนท้องถิ่นญี่ปุ่นได้เช่นกัน โดยนำทะเบียนการสมรสไทยไปแปลเป็นอังกฤษและญี่ปุ่นและขอรับตราประทับรับรองนิติกรณ์หรือขอรับตราประทับในเอกสารแปลต่างๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยหรือสถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ก่อน แล้วค่อยแจ้งเรื่องการสมรสต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อให้รับทราบสถานภาพการสมรส หลังจากนั้น ก็สามารถแจ้งรายงานต่อสำนักงานกองคนตรวจคนเข้าเมือง (นิวคัง) เพื่อยื่นขอเปลี่ยนสถานภาพของสถานะการพำนักอาศัยในญี่ปุ่นของตนเอง โดยเปลี่ยนเป็นสถานะพำนักอาศัยในญี่ปุ่นฐานะติดตามคู่สมรส ( ถือวีซ่าคู่สมรส )
ขั้นต่อไป หากตัดสินใจจะสมรสภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น ให้ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองคุณสมบัติเพื่อการสมรส ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ โดยต้องแสดงหนังสือรับรองความเป็นโสด (ที่ผ่านการรับรองนิติกรณ์หรือได้รับการประทับตรารับรองในเอกสารโดยกระทรวงการต่างประเทศแล้ว) และออกโดยอำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านไทย หากไม่สะดวกที่จะไปขอหนังสือรับรองความเป็นโสด ที่อำเภอไทยด้วยตนเอง ก็สามารถติดต่อขอหนังสือมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูตฯ /สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อให้ญาติหรือคนรู้จักไปดำเนินการขอหนังสือรับรองความเป็นโสดแทน และเนื่องจากต้องนำเอกสารประจำตัวต่างๆ ไปยื่นประกอบหลักฐานแสดงต่ออำเภอญี่ปุ่น ( เช่น หนังสือรับรองความเป็นโสด บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านไทย เป็นต้น ) จึงควรแปลเอกสารต่างๆ เหล่านั้น เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น แล้วนำไปขอประทับตรารับรองนิติกรณ์ที่กระทรวงการต่างประเทศไทยก่อน แล้วค่อยนำมายื่นประกอบการขอหนังสือรับรองคุณสมบัติเพื่อการสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ
สำหรับการประทับตรารับรองเอกสารในเอกสารแปลนั้น กระทรวงการต่างประเทศ /สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ จะประทับตรารับรองในเอกสารเฉพาะต้นฉบับคำแปลของภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่บางท่านอาจมีความจำเป็นต้องแปลเอกสารต่างๆ ให้เป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย ก็ให้แนบคำแปลภาษาญี่ปุ่นกำกับไว้ด้านหลังสุดของเอกสาร เพื่อนำไปเป็นหลักฐานแสดงต่ออำเภอญี่ปุ่นหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ส่วนการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่จำเป็นต้องแปลเอกสารค่ะ แต่ต้องนำหนังสือรับรองความเป็นโสดไปประทับตรารับรองนิติกรณ์ที่กระทรวงการต่างประเทศก่อนนำมายื่นเรื่อง ตัวอย่างการแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของงานบริการรับรองเอกสาร กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ที่ http://www.consular.go.th/main/th/services/
หลังจากนั้น ก็นำหนังสือรับรองคุณสมบัติที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ออกให้ ไปยื่นประกอบการสมรสกับอำเภอญี่ปุ่นที่จะดำเนินเรื่องสมรส
และขั้นตอนสุดท้าย คือ หลังจากสมรสตามกฎหมายญี่ปุ่นได้แล้ว ต้องทำเรื่องแจ้งบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวที่อำเภอไทยของตนเอง (แจ้งบันทึก คร. 22 ) หากไปแจ้งด้วยตนเองไม่ได้ ก็สามารถมายื่นคำร้องขอหนังสือมอบอำนาจผ่านสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ค่ะ (หากจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ก็ไม่ต้องทำเรื่องแจ้งบันทึก คร. 22 ที่อำเภอไทยค่ะ)
คำตอบคือ ไม่จำเป็นค่ะ เพราะถือว่าจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายญี่ปุ่นแล้วก็ถือว่าสิ้นสุดและสมบูรณ์มีผลต่อกฎหมายไทยแล้ว อ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 บรรพ 5 ครอบครัว มาตรา 1459 บัญญัติไว้ว่า
"การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทยจะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้ ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทยให้พนักงานทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน " และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรค 1 บัญญัติว่า "การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้นย่อมเป็นอันสมบูรณ์"
และ หากไม่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น ก็สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายไทยได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ หรือไม่ก็เดินทางกลับมาจดทะเบียนสมรสได้ที่อำเภอท้องถิ่นของตนเองที่ประเทศไทยได้ค่ะซึ่งถือว่าสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายของญีปุ่นได้ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องไปยื่นขอจดทะเบียนตามกฎหมายญี่ปุ่นอีก
จะเห็นได้ว่า คนไทยสามารถเลือกจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ ถือว่าการสมรสนั้น มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทยด้วย หากจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศอื่นแล้ว ไม่จำเป็นต้องขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยให้ซ้ำซ้อนอีก เพียงแต่เจ้าตัวมีหน้าที่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนอำเภอไทยของตนเองรับทราบ โดยแจ้งขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (คร.22) สถานเอกอัรราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอมอบกำลังใจให้แก่ทุกท่านค่ะ อย่าเพิ่งท้อแท้ก่อนนะคะ ลองพยายามทำและศึกษาดูก่อน อาจง่ายกว่าที่คิดเอาไว้ก็ได้ นะคะ ขั้นตอนการดำเนินและรายละเอียดโปรด ดูตามเอกสารแนบ 1 และ 2 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ http://www.thaiembassy.jp
ความหวังของมาตุภูมิ
นอกจาก คุณพ่อ คุณแม่ ญาติพี่น้องทั้งหลาย จะรอการกลับมาแหล่งมาตุภูมิที่เป็นดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของท่านแล้ว ท่านที่มาอาศัยอยู่ญี่ปุ่นนานเก็บเงินเก็บทองส่วนหนึ่งได้แล้ว พอที่จะนำกลับไปตั้งตัวที่บ้านเรา สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกท่านกลับไปพัฒนามาตุภูมิของตนเอง กลับไปทำธุรกิจของตนเอง หรืออะไรก็ได้ที่ตนเองชอบและอยากจะทำ และขอบอกทุกท่านให้ทราบเลยคะว่า ไม่มีที่ไหนที่ดีเท่าประเทศไทย เพราะว่ามีอะไรๆ หลายอย่างที่เราสามารถภาคภูมิใจที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นดินแดนที่มีทั้งความรัก ความอบอุ่น คนไทยใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจบุญและที่สำคัญก็คือ มีอาหารอร่อย ผลไม้มีหลากหลาย มีธรรมชาติที่สวยงามทุกคนมีอิสระเสรี อากาศดี สบายๆ แม้จะร้อนหน่อยแต่ก็ไม่หนาวเหน็บเหมือนญี่ปุ่น และไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องภัยภิบัติ แผ่นดินไหว สารพัดภัยธรรมชาติต่างๆ เรามาตักตวงเอาความรู้และประสบการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็อย่าลืมเอากลับนำไปช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองเราให้เจริญรุ่งเรืองให้เทียบเท่ากับสากลโลกให้ได้นะคะ เพราะท่านเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นความหวังของมาตุภูมิค่ะ อย่างไรก็ตามสถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอเรียนให้ท่านได้ทราบว่าแม้ท่านจะมีวีซ่าหรือไม่มีวีซ่า ขอให้เป็นบุคคลสัญชาติไทย สถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่ฯ มีความยินดีให้บริการและให้คำปรึกษาเสมอค่ะและท่านก็สามารถยื่นเรื่องต่างๆ กับเราได้ค่ะ
สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากทุกท่าน คืออย่าลืมติดต่อญาติที่ประเทศไทย หรือส่งข่าวคราวให้ทางบ้านทราบเป็นประจำ เพราะหากท่านต้องการเอกสารต่างๆ ที่ออกโดยอำเภอไทย เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาเอกสารแสดงตัวบุคคล สำเนาทะเบียนสมรส –หย่า สูติบัตร เป็นต้น ญาติจะเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่สามารถช่วยท่านได้ หากท่านไม่มีเอกสารแสดงตัวใดๆ ก็จะทำให้ดำเนินเรื่องต่างๆ ยากและติดขัดไปหมด แต่เท่าที่ผ่านมาต้องขอชมคนไทยหลายท่านที่เก็บเอกสารประจำตัวของตนเองไว้ดีมาก แม้จะหมดอายุการใช้งานแล้วก็ตาม ยังเก็บรักษาเอกสารของตนเองเอาไว้เป็นอย่างดี
หากใครมี ข้อคิดเห็นหรือต้องการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ หรือท่านที่ดำเนินเรื่องได้ด้วยตนเอง ก็อย่าลืมเขียนมาบอกกันด้วยนะคะ จะได้นำมาเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นได้ลองทำกันดูบ้าง
กรุณาติดต่อให้ข้อมูลได้ที่
Royal Thai Embassy, Tokyo No. 2-1, 2-Chome, Kudan-Minami, Chiyoda-ku, Tokyo, Japan 102-0074
ตั้งแต่ เมษายน 2556 ที่อยู่ : Royal Thai Embassy, Tokyo No. 14-6, Kami-Osaki, 3-Chome, Shinagawa-ku, Tokyo, Japan 141-0021
การขอหนังสือรับรองคุณสมบัติในการสมรส เพื่อนำไปสมรสภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น
การขอหนังสือรับรองคุณสมบัติในการสมรส (คงอินโยเก็งกุบิโชเมโช) ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อนำไปยื่นที่อำเภอญี่ปุ่นสำหรับผู้ที่จะทำการสมรสภายใต้กฎหมายญี่ปุ่นนั้น ผู้ที่จะทำการสมรสทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นจะต้องไปยื่นคำร้องด้วยตนเองที่สถานทูตฯ โดยจะต้องจัดเตรียมเอกสารของผู้ร้องทั้งสองฝ่ายตามที่ระบุดังต่อไปนี้มาให้ครบถ้วน
เอกสารของบุคคลสัญชาติไทย
ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ โดยนำเอกสารข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด มายื่นเรื่องที่ฝ่ายนิติกรณ์
เอกสารของชาวต่างชาติ
หมายเหตุ