งานนิติกรณ์/ทะเบียนราษฎร


การจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น (เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565)

กรณีจดทะเบียนหย่ากับชาวญี่ปุ่น

ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น
1. ขอจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น
2. ขอทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) 1 ชุด ที่ระบุว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้วจากอำเภอญี่ปุ่น
3. แปลทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) เป็นภาษาอังกฤษ และนำไปประทับตรารับรองลายมือชื่อผู้แปลที่โนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) จากนั้น นำไปประทับตรารับรองที่สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) ที่โนตารีพับลิคนั้นๆ สังกัดอยู่ แล้วจึงนำไปประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) ตามลำดับ

***ปัจจุบันโนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) ในกรุงโตเกียว คานากาวะ ชิซึโอกะ ไอจิ โอซากา ฮอกไกโด มิยากิ และฟูกูโอกะ มีบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop Service) หมายถึง หากยื่นคำร้องที่โนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) ในจังหวัดดังกล่าว สามารถขอรับตราประทับของโนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) และกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) ได้ในคราวเดียว โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) และกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) อีก

4. แปลทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) และเอกสารแนบทุกหน้าที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว เป็นภาษาไทย

ขั้นตอนการดำเนินการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
5. นำทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) และเอกสารแนบทุกหน้าที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว พร้อมคำแปลภาษาไทย มาขอประทับตรารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
*** หากเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง ไม่ต้องยื่นคำร้องตามข้อ 6. - ข้อ 7. ***
6. ขอทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (เพื่อขอบันทึกเรื่องการหย่าที่อำเภอไทย)
7. ขอทำหนังสือรับรองการใช้คำนำหน้านามหญิงที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (เฉพาะฝ่ายหญิงที่ถือสัญชาติไทย)

ขั้นตอนการขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า ที่ประเทศไทย
8. นำทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) และเอกสารแนบทุกหน้า พร้อมคำแปลภาษาไทยที่ประทับตรารับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ แล้ว ไปประทับตรารับรองนิติกรณ์ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย
9. นำทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ผ่านขั้นตอนในข้อ 8. แล้ว ไปขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า (คร.22) ที่อำเภอไทย
10. ที่ว่าการอำเภอไทยออกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า และแก้ไขคำนำหน้านาม เปลี่ยนเป็นชื่อสกุลเดิมของตนเอง ภายหลังการหย่าในสำเนาทะเบียนบ้านไทย
11. ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนไทยใหม่ที่อำเภอไทย และขอทำหนังสือเดินทางใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทย (กรณีที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย สามารถยื่นคำร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ และหนังสือเดินทางใหม่ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้)

กรณีจดทะเบียนหย่ากับคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น
 
ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น
1. ขอจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น
2. ขอหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) 1 ชุด จากอำเภอญี่ปุ่น
3. แปลหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) เป็นภาษาอังกฤษ และนำไปประทับตรารับรองลายมือชื่อผู้แปลที่โนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) จากนั้น นำไปประทับตรารับรองที่สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) ที่โนตารีพับลิคนั้นๆ สังกัดอยู่ แล้วจึงนำไปประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) ตามลำดับ
4. แปลหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) และเอกสารแนบทุกหน้าที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว เป็นภาษาไทย

ขั้นตอนการดำเนินการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
5. นำหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) และเอกสารแนบทุกหน้าที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว พร้อมคำแปลภาษาไทย มาขอประทับตรารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
*** หากเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง ไม่ต้องยื่นคำร้องตามข้อ 6. - ข้อ 7. ***
6. ขอทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (เพื่อขอบันทึกเรื่องการหย่าที่อำเภอไทย)
7. ขอทำหนังสือรับรองการใช้คำนำหน้านามหญิงที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (เฉพาะฝ่ายหญิงที่ถือสัญชาติไทย)

ขั้นตอนการขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า ที่ประเทศไทย
8. นำหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) และเอกสารแนบทุกหน้า พร้อมคำแปลภาษาไทยที่ประทับตรารับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ แล้ว ไปประทับตรารับรองนิติกรณ์ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย
9. นำหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ผ่านขั้นตอนในข้อ 8. แล้ว ไปขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า (คร.22) ที่อำเภอไทย
10. ที่ว่าการอำเภอไทยออกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า และแก้ไขคำนำหน้าชื่อ เปลี่ยนเป็นนามสกุลเดิมของตนเอง ภายหลังการหย่าในสำเนาทะเบียนบ้านไทย
11. ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนไทยใหม่ที่อำเภอไทย และขอทำหนังสือเดินทางใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทย (กรณีที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย สามารถยื่นคำร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ และหนังสือเดินทางใหม่ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้)

การขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวหย่า

หลังจากจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว และประสงค์จะขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวหย่าที่อำเภอไทย สามารถกลับไปยื่นคำร้องได้ด้วยตนเองที่ประเทศไทย หากไม่สะดวกไปยื่นด้วยตนเอง สามารถขอทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ โดยเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  1. คำร้องนิติกรณ์มอบอำนาจ 1 ชุด สามารถดาวน์โหลดได้จากทางเว็บไซต์ หรือขอรับได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
  2. หนังสือเดินทาง
  3. บัตรประจำตัวประชาชน
  4. สำเนาทะเบียนบ้านไทย
  5. หากเคยเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล กรุณาเตรียมสำเนาใบเปลี่ยนชื่อ หรือใบเปลี่ยนนามสกุลมาด้วย
  6. ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวสมรสไทย
  7. บัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือบัตรไซริวการ์ด
  8. ทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) หากหย่ากับคนญี่ปุ่น
  9. หนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) หากหย่ากับคนไทยหรือคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น
  10. สูติบัตรบุตร หากมีบุตรด้วยกัน และบุตรมีสัญชาติไทย
  11. สำเนาบัตรประชาชนไทยและทะเบียนบ้านไทยของผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ชุด



Back to the list